ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมสภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญาเกี่ยวกับการทำแท้งถูกกฎหมายในวาระที่หนึ่ง โดยยึดร่างของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณาที่เปิดให้มีการทำแท้งในอายุครรภ์ได้ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หลังศาล รธน. วินิจฉัยให้แก้ไข ม.301 ให้สอดคล้องกับ รธน.ปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ และ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2563 วินิจฉัยว่าบทบัญญัติความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก ตามมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากการทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์เป็นปัญหาทั้งทางสังคมทางการแพทย์ และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน รวมทั้งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางอาญาและกำหนดโทษแก่หญิงเพียงฝ่ายเดียวที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก 

ทั้งนี้ ความผิดฐานทำให้แท้งลูกมีเจตนารมณ์และคุณธรมทางกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ โดยเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่กำลังจะเกิดมา แต่เนื่องจากรากฐานของสังคมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเป็นรากฐานของสังคมประกอบด้วยเช่นเดียวกับการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์ หากมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียว โดยมีได้พิจารณการคุ้มครองสิทธิของหญิงผู้ตั้งครรภ์อันมีมาก่อนสิทธิของทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่อาจส่งผลกระทบให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกลิดรอนหรือจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ 

วิษณุ ระบุว่าการปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยปราศจากการกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เหมาะสมดังเช่นมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินความจำเป็น ประกอบกับรัฐมีหน้าที่กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมให้บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพโดยจัดให้มีมาตรการในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่กระทบต่อการใช้สิทธิของหญิง และในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าไปดูแลและคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์มิให้ถูกกระทบสิทธิในการมีชีวิตด้วยเช่นกัน บทบัญญัติมาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน และเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ให้ข้อเสนอแนะด้วยว่าประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำแท้งสมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน 

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายให้ข้อคิดเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ในประเด็นต่างๆ อาทิ ระยะเวลาที่จะสามารถอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายว่าควรใช้ระยะเวลา 12 หรือ 24 สัปดาห์ ตัวเลขใด จะทำให้เพศหญิงเกิดความปลอดภัยมากที่สุด ทั้งนี้ กฎหมายทำแท้งควรก่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ ลดอัตราการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย โดยเปิดโอกาสให้เพศหญิงมีทางเลือกในการทำแท้ง ซึ่งต้องให้ความช่วยเหลือคนท้องโดยไม่พร้อม ได้มีโอกาสในสังคม ไม่ถูกสังคมตีตรา หรือประณามจนไม่มีที่ยืนในสังคม และเพื่อลดอัตราการทำแท้งลง ถือเป็นการหาทางออกให้กับผู้หญิง เพื่อการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย ชี้แจงว่า กรมอนามัยมีบทบาทสำคัญตามนโนบายกระทรวงสาธารณสุข ในการกำหนดขอบเขตประเภทการให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้พัฒนาระบบการบริการซึ่งจะสอดคล้องกับนัยยะที่ได้เสนอมาปรับแก้ไขในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ด้วยขณะนี้กรมอนามัยได้กำหนดมาตรฐานการบริการในส่วนอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ด้วยหลักการว่าต้องประกอบด้วยขั้นตอน 12 ขั้นตอนที่สำคัญ อาทิ การให้คำปรึกษา การให้บริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้ว และได้ผ่านความเห็นชอบจากหลายฝ่ายแล้วเช่นกัน

พญ. วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก สูตินรีแพทย์ ชี้แจงถึงประเด็นการใช้หลักทางวิทยาศาสตร์และหลักทางการแพทย์เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติ ส่วนการตัดสินใจขึ้นกับผู้ที่เป็นผู้ปกครองของผู้ตั้งครรภ์หากยังไม่บรรลุนิติภาวะที่มีอำนาจในการตัดสินใจ หากอายุครรภ์มากแต่มีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์นั้น จะยึดหลักกฎหมายและความปลอดภัยเป็นหลัก

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ ได้มีมติเห็นชอบรับหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 284 ต่อ 5 เสียง และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา จำนวน 39 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน 

และที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้ใช้ร่าง พ.ร.บ.ที่ ครม.เสนอเป็นหลัก ด้วยคะแนน 214 ต่อ 60 เสียง ทั้งนี้ ฉบับของ ครม. เปิดทางให้ทำแท้งได้โดยอายุครรภ์ต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ขณะที่ร่างของพรรคก้าวไกลกำหนดเวลาอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์

โดยนัดประชุม กมธ. ครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 24 ธ.ค. 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 304 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง