เริ่มจากวันจันทร์ที่ 4 ม.ค. 2564 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ระบุว่า กทม.จะออกข้อกำหนดห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้านตั้งแต่เวลา 1 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า หากประชาชนต้องการซื้ออาหาร ก็ให้มีการซื้อนำกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือ take away
ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. บอกว่า สำหรับมาตรการ take away ที่ กทม.เตรียมประกาศนั้น ได้ให้ยกเลิกไปก่อน
พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า ได้พูดคุยกับสมาคมภัตตาคาร จึงทราบว่ามีผลกระทบค่อนข้างมาก จึงได้เปลี่ยนใหม่ กำหนดให้เลื่อนเวลาห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านจาก 19.00 น. เป็น 21.00 น.
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งให้อำนาจ ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม.ตัดสินใจใช้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อควบคุมโรค ทว่าพอเอาเข้าจริง อำนาจรวมศูนย์ก็ยังอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ดี
อีกเรื่อง คือวันเดียวกัน สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ศบค.เห็นชอบการล็อกดาวน์ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ตราด และ จันทบุรี สร้างความตื่นตระหนักให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะการล็อคดาวน์ หมายถึงการปิดหลากหลายสถานที่ อันจะก่อให้เกิดการตกงาน และว่างงานของคนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม วันต่อมาเช้าวันที่ 5 ม.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันด้วยตัวเองว่า ไม่มีการล็อกดาวน์ เป็นแต่เพียงการเพิ่มมาตรการใน 5 จังหวัดดังกล่าวเท่านั้น โดยมีการกำหนดให้ 5 จังหวัดเป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด" เพิ่มการคัดกรองการเข้าออกพื้นที่
พล.อ.ประยุทธ์ ยังพูดในเชิงตำหนิ ซึ่งไม่แน่ใจว่าตำหนิ รมช.สาธารณาสุข หรือ ตำหนิสื่อมวลชน ที่นำเสนอข่าวล็อกดาวน์ โดยโยนให้ไปดูข้อมูลว่าล็อกดาวน์กับไม่ล็อกดาวน์นั้น แตกต่างกันอย่างไร
อีกเรื่องล่าสุด สดๆร้อนๆ วานนี้ (7 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวผ่านการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ บอกว่า หากใครติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปพลิเคชันหมอชนะ จะถือว่าละเมิดข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศฉบับที่ 17 ซึ่งมีโทษ โดยผู้ฝ่าฝืน อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปื หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปรากฏว่า นพ.ทวีศิลป์ เจอโซเชียลมีเดียถล่มยับเยิน จึงทำให้รัฐบาล ต้องเปลี่ยนท่าที โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ออกมาเผยว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงความไม่สะดวกของประชาชนแล้ว ดังนั้น จึงให้ใช้เอกสารแทน ไม่มีแอปหมอชนะ ไม่ผิด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ พูดผ่านรายการ podcast โดยตำหนิสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าว ว่าใครไม่มีแอปหมอชนะผิดกฎหมาย ทั้งที่ นพ.ทวีศิลป์ เป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง