วันที่ 20 ธ.ค. 2565 ที่อาคารราชนาวิกสภา อรุณอัมรินทร์ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) แถลงข่าวความคืบหน้าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง เมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค. 2565 ว่า กองทัพเรือสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้ทรงประทานยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้กับกำลังพลประจำเรือผู้ประสบภัยทุกนาย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อกองทัพเรืออย่างหาที่สุดมิได้
ทั้งนี้ตนขอแสดงความเสียใจกับญาติของกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ที่วันนี้ (20 ธ.ค.) จากการลาดตระเวนได้พบผู้ประสบภัย เพิ่ม 6 ราย เป็นผู้ประสบภัยที่มีชีวิต 1 รายและเสียชีวิต 5 ราย
พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวอีกว่า เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งได้รับการซ่อมทำขนาดใหญ่เป็นระยะเวลา 2 ปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการในการที่จะไปปฎิบัติการในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี แต่แผนดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการสร้างหรือการขุดลอกท่าเรือในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันไม่เป็นไปตามแผน ในวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเรือหลวงสุโขทัยได้รับภารกิจให้ออกลาดตระเวนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล จากสภาพอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้รับทราบว่าในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่มีมรสุมกำลังแรง เข้ามาในบริเวณประเทศไทยและอ่าวไทยก่อให้เกิดสภาพคลื่นลมที่มีความรุนแรง ทะเลมีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 3-4 เมตร ตลอดช่วงอ่าวไทยตั้งแต่อ่าวไทยตอนกลางถึงอ่าวไทยตอนล่าง
ผบ.ทร. ระบุว่า เท่าที่ตนทราบมีน้ำเข้าเรือจำนวนมาก โดยน้ำเข้าบริเวณหัวเรือจนทำให้เกิดความเสียหายกับระบบเครื่องไฟฟ้าและเครื่องจักรของเรือ ซึ่งทางเรือพยายามสูบน้ำออกตามขั้นตอน โดยมีเครื่องสูบน้ำที่อยู่ในเรือ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทันตามปริมาณน้ำที่เข้ามาเป็นผลทำให้น้ำเข้ามาในตัวเรือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปกติเรือรบจะมีความทนทางทะเลมากกว่าเรือทั่วไป เพราะเป็นเรือที่สร้างขึ้นมาเพื่อปฎิบัติการรบ หากบริเวณไหนที่ได้รับความเสียหายจากการทำการรบก็จะมีการผลึกน้ำ เพื่อให้ลอยอยู่ในเรือในการสู้รบได้ ซึ่งหลังจากที่น้ำเข้ามาในตัวเหลือเครื่องยนต์ขวาเพียงตัวเดียว เพราะเครื่องยนต์ซ้ายโดนน้ำและเครื่องยนต์ใบจักรสูญเสียการควบคุม ทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้
ถามว่า ในวันเกิดเหตุมีรายว่าเรือเอียง กำลังพลไม่มีเสื้อชูชีพ พล.ร.อ.เชิงชาย ชี้แจงว่า เรือหลวงสุโขทัยนอกจากลาดตระเวน ต้องนำกำลังพลหน่วยละ 15 นาย ไปที่หาดทรายรี จ.ชุมพร เพื่อเทิดพระเกียรติเสด็จเตี่ย ในการเพิ่มกำลังพลมีเดินทางกับเรือ โดยปกติจะต้องมีการนำเสื้อชูชีพไปกับกำลังพลเพิ่มเติม ในเรือรบปกติจะมีเสื้อชูชีพประจำกำลังพลประจำตัว และมีเสื้อชูชีพสำรองบนเรือในกรณีต้องส่งเสื้อชูชีพให้ผู้ประสบภัย นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์แพชูชีพ ห่วงยาง ลูกยางกันกระแทกติดกับเรือเล็ก โดยเรือหลวงสุโขทัยทราบปัญหานี้ว่ามีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกำลังที่มาเพิ่มเติม 30 คนก็ได้พยายามที่จะนำอุปกรณ์สิ่งที่ช่วยชีวิตได้กับกำลังพลที่มีเสื้อชูชีพ
"ผมไปถามกำลังพลบางคนเอาลูกยางที่ผูกติดกับเรือเล็กมาผูกติดกับเอวไว้ในกรณีจมน้ำไปหรือมีอะไรพยุง แล้วสามารถนำอุปกรณ์ต่างๆมาประยุกต์ช่วยชีวิต บนเรือมีแพชูชีพที่กดแบบอัตโนมัติถ้าเรือจม โดยแพชูชีพจะกางขึ้นมาบรรจุได้ 15 คน เขาวางแผนไว้แล้วถ้าเรือใกล้จมจะกดแพชูชีพ เพื่อให้คนไม่มีเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอขึ้นบนเรือดังกล่าว"
พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า "มี 30 คนไม่มีเสื้อชูชีพแต่ผู้สูญหาย 30 คน ใน 30 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพปรากฎว่าช่วยชีวิตได้ใน 75 คนแรก ช่วยได้ 18 คนยังมีผู้สูญหาย 18 คน การมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรอดชีวิตหรือได้รับการช่วยขึ้นมาบนเรือ เพราะยังมีมาตรการในการช่วยเหลือ มีการกำหนดว่าใครเป็นบัดดี้ใครกรณีไม่มีเสื้อชูชีพ และกำหนดว่าคนไม่มีเสื้อชูชีพต้องขึ้นแพชูชีพก่อนเป็นมาตรการทางเรือในการที่จะสละเรือใหญ่"
ดังนั้น อย่ามองว่าคนไม่มีเสื้อชูชีพทั้ง 30 คนจะสูญเสียทั้งหมด เพราะตัวเลขแสดงให้เห็นแล้วว่า 18 คนที่มีเสื้อชูชีพขึ้นมากับ 15 คนแรกยังเหลือในทะเลอีก 12 คน และ 18 คนที่มีเสื้อชูชีพยังอยู่ในทะเลอยู่ ผมอธิบายตัวเลขนี้ให้เข้าใจ ที่บอกข่าวว่าไม่มีเสื้อชูชีพทั้งหมดจะสูญเสีย ไม่ใช่ มาตรการที่ทางเรือกำหนดมีการเตรียมพร้อมก่อนสละเรือใหญ่แล้วว่าเขาจะทำยังไงกัน มีการเกาะเป็นหมู่กัน เขาเตรียมกันเกาะเป็นหมู่ ในสภาพอย่างนั้นทุกคนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ทุกคนรอดชีวิต มันเป็นสภาพฉุกเฉินไม่ได้เตรียมการ แล้วเรือจมไปรวดเร็ว ทำให้กำลังพลก็ชุลมุน มีการกดแพชูชีพ ให้คนไม่มีเสื้อชูชีพลงไปในแพดังกล่าวจนกระทั่งแพชูชีพลอยไปแล้วเรือสินค้าเก็บขึ้นมาได้ ในส่วนนี้ยังช่วยขึ้นมาได้ 20 กว่าคน"
ผบทร. ย้ำว่า กองทัพเรือจะต้องมีการรายงานเหตุการณ์ตามระเบียบเป็นการรายงานด่วนถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกองทัพเรือมีระเบียบว่าด้วยการป้องกันอุบัติเหตุและความเสียหาย ที่ต้องให้หน่วยที่เป็นผู้บัญชาการของเรือก็คือทัพเรือภาค 1 รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รายงานความสูญเสียทั้งในเรื่องของกำลังพล ยุทโธปกรณ์
จากนั้นจะมีการรายงานเรื่องของระเบียบความรับผิดทางละเมิด ที่จะต้องรายงานข้อเท็จจริงไปถึงกระทรวงการคลัง และนายกฯได้รับทราบตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นในรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของเรือจม หรือสาเหตุที่มีการกล่าวว่าเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับกำลังพลในส่วนที่มาสมทบ เพื่อไปทำภารกิจที่หาดทรายรี จะต้องถูกสอบสวนและรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดมาที่กองทัพเรือ ฉะนั้นขอให้ประชาชนรับทราบว่าเรามีกฎหมายและมีแนวทางปฎิบัติที่จะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงในทุกเรื่องเพื่อรายงานให้ผู้บังคับบัญชาในทุกระดับชั้นรับทราบ
พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวด้วยว่า แต่ในบางเรื่องถ้าเป็นเรื่องของความลับทางราชการ ก็ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทั้งหมดกองทัพเรือไม่มีการปกปิดข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้นเราจะสอบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ทุกคนได้ทราบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยที่อาจจะสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้มีการตรวจสอบย้อนหลังและงบประมาณในแต่ละปีในการซ่อมบำรุงไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์แตกต่างกันยังคงเดิม แต่กองทัพเรือคำนึงถึงเรื่องการใช้งบการซ่อมยุทโธปกรณ์อย่างคุ้มค่า อีกทั้งพิจารณามีการปลดประจำการเรือที่หมดอายุการใช้งานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งปีนี้ปลดเรือตาปี และเรือตรวจการปืน และปีหน้ามีแผนปลดเรือหลวงคีรีรัฐ และเตรียมแผนงานต่อเรือฟิเกตลำใหม่
พล.ร.อ.เชิงชาย ยังระบุถึงการเตรียมแผนกู้เรือหลวงสุโขทัย ว่า กองทัพเรือได้เตรียมการและได้มีการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการพิจารณาการกู้เรือหลวงสุโขทัยโดยแต่งตั้งให้ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานคณะกรรมการในการพิจารณาในการกู้เรือ
ทั้งนี้ ผบ.ทร. กล่าวว่า การกู้เรือต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ คือ กองเรือทุ่นระเบิด ที่มีอุปกรณ์สำรวจใต้น้ำ เพื่อดูว่าเรือหลวงสุโขทัยจมมีสภาพเป็นอย่างไร มีลักษณะคว่ำ เอียง หรือ หงาย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาในการประชุมเจ้าหน้าที่เทคนิคและผู้เชี่ยวชาญในการกู้เรือ ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรคณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้ง
“คณะกรรมการชุดนี้จะดำเนินการคู่ขนานไป ทราบว่าบริเวณที่เรือจมลึก 40 เมตร กำหนดจุดไว้แล้วตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ การทำงานต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาว่าจะกู้ด้วยวิธีไหน” ผบ.ทร. กล่าว
ด้าน พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ กล่าวด้วยว่า ขณะที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ได้มีการส่งเรือไปช่วยเหลือ และเร่งดำเนินการค้นหากำลังพลทั้ง 30 คนแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าในคืนวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา และเช้าวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา คลื่นลมแรง การช่วยเหลือต่างๆที่ส่งไปเข้าไปถึงยากต่อการช่วยเหลือ
เวลา 15.00 น. ตรวจพบผู้รอดชีวิตลอยห่างจากจุดที่เรือจมประมาณ 60 กิโลเมตร ย้ำว่ากองทัพเรือยังคงดำเนินการค้นหาลูกเรือที่เหลืออยู่ ทั้งนี้สรุปแล้วตอนนี้เราค้นหาพบแล้ว 81 ราย ยังเหลือที่ยังไม่พบอยู่ในน้ำ อีก 24 ราย และผู้ที่พบแล้วมีผู้เสียชีวิต 4 ราย อยู่ระหว่างการนำส่งและพิสูจน์ทราบ ทั้งนี้หลังจากนี้กองทัพเรือร่วมกับกองทัพอากาศจะดำเนินการค้นหากำลังพลตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน จนกว่าจะพบกำลังพลที่เหลืออีก 24 ราย