ไม่พบผลการค้นหา
'เพชร กรุณพล' รุดดูพื้นที่ถนนลูกคลื่น ชี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาหน่วยราชการยังโบ้ยความรับผิดชอบกันไปมา ย้ำหน้าที่ ส.ส. ไม่ใช่แค่ทำงานเฉพาะหน้า แต่ต้องผลักดันแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

จากกรณีที่ประชาชนจำนวนมากร้องเรียนปัญหาถนนกำแพงเพชร 6 ช่วงดอนเมือง-หลักสี่ ทรุดตัวเป็นลูกคลื่น ทำให้ประชาชนที่สัญจรบนถนนเส้นดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

วันที่ 14 ม.ค. 64 'เพชร กรุณพล' ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 9 (หลักสี่-จตุจักร) พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ไปดูปัญหาในพื้นที่จริงและได้พูดคุยรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ถึงปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว

กรุณพล กล่าวว่า ในเบื้องต้น จากที่ได้รับข้อมูลของประชาชนที่ร้องเรียนไปยัง กทม. พบว่าถนนกำแพงเพชร 6 เป็นถนนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่สร้างขึ้นใต้แนวรถไฟฟ้าสายสีแดงจากสถานีตลิ่งชัน เข้าสถานีกลางบางซื่อ แล้ววิ่งต่อไปยังสถานีรังสิต โดยแนวถนนที่ได้รับการร้องเรียนมามากถึงลักษณะเป็นลูกคลื่น ไม่ปลอดภัย คือ แนวถนนช่วงดอนเมือง-หลักสี่

"ถ้าเราลองย้อนดูการออกข่าว และปัญหาที่ประชาชนโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีการพูดถึงปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2563 แต่ผ่านมาแล้วเป็นปี ปัญหาเดิมๆ ยังคงอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไข" 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ถนนเกิดการยุบตัวนั้น เกิดจากการออกแบบการก่อสร้างอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ในทางวิศวกรรม ควรคาดเดาได้อยู่แล้วว่าการสร้างถนนบนพื้นดินอ่อนใกล้กับตอม่อรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างแข็ง จะทำให้การยุบตัวของถนนเกิดไม่เท่ากัน โดยบริเวณที่เป็นต่อม่อรถไฟฟ้าจะมีการยุบตัวน้อยกว่าส่วนอื่น เมื่อปล่อยใช้นานไป จึงมีลักษณะถนนเป็นลูกคลื่น บางพื้นที่สูง บางพื้นที่ต่ำ เป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรเดินท่าง

"ปัญหาการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบแบบนี้ ดูเหมือนจะทำกันเป็นปกติของหน่วยงานราชการไทย โดยใช้แบบถนนที่เหมือนจะราคาถูก แทนที่จะมีการวางเสาเข็มอีกชั้น ซึ่งอาจมีราคาแพงกว่า แต่เมื่อคิดถึงค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงขั้นสุดท้ายและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนแล้ว การเลือกแบบก่อสร้างที่แพงแต่ทนทานกับสภาพพื้นที่ตั้งแต่แรกจะมีความคุ้มค่ากว่ามาก ถนนไม่ต้องซ่อมบ่อย" กรุณพลกล่าว

ปัญหาถนนกำแพงเพชร 6 ที่ได้รับร้องเรียนนี้ มีผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เอกราช อุดมอำนวย ได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานของ กทม. ผ่าน Line @อัศวิน คลายทุกข์ ซึ่งรอเวลาผ่านไปกว่า 1 เดือนถึงจะได้รับคำตอบจากสำนักโยธาธิการฯ กทม. ว่าไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ซึ่งถ้ารอ กว่า รฟท. จะมีงบมาซ่อมถนน ก็ต้องรอไปถึงอย่างน้อยในการตั้งงบประมาณปี 2566 แปลว่าประชาชนต้องทนใช้ถนนลูกคลื่นไปอีก 1 ปีเป็นอย่างต่ำ

"ผมคิดว่าเราต้องการข้าราชการที่มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ แทนที่จะโบ้ยความรับผิดชอบกันไป-มา เราอยากเห็นหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะ กทม. ออกมาต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ตัวเอง ถึงจะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่ กทม. ควรมีหน้าที่ไปคุยกับ รฟท. ให้เร่งแก้ปัญหา แทนที่จะโยนความรับผิดชอบ"

กรุณพล กล่าวว่า ถนนลูกคลื่นนี้ มีปัญหามาแล้ว 2 ปี พร้อมอายุสภาภายหลังมีการเลือกตั้ง แต่ยังไม่เห็นมี ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส. คนใดออกมาต่อสู้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพวกเราชาวกรุงเทพฯ เลย

"สิ่งที่ผมจะทำต่อจากนี้ คือประสานเอาปัญหาเรื่องนี้เข้าไปสะท้อนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านทาง ส.ส. พรรคก้าวไกล และถ้ามีช่องทางที่มากขึ้น ผมจะต่อสู้ผลักดันให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่ากระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ กทม. ให้กลับมามีความรับผิดชอบต่อประชาชน แก้ปัญหาถนนเส้นนี้ให้ประชาชนเดินทางปลอดภัยเสียที" กรุณพล กล่าวทิ้งท้าย