ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้ปัญหาที่ดินติดบ่วงระบบราชการรวมศูนย์ กฎหมายซ้ำซ้อน มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ เสนอให้ยกเลิกการดำเนินคดีประชาชน จากผลพวงนโยบายทวงคืนผืนป่า

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางไปร่วมงาน "11 ปี ชุมชนบ่อแก้ว กับเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินและความเป็นธรรมทางสังคม" ณ ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา โดย นายปิยบุตร บรรยายถึงปัญหาที่ดินว่า ในประเทศไทยมีอยู่หลายพื้นที่ แต่จากการสังเกตปัญหาที่ดินในประเทศไทยพบว่ามีจุดร่วมกันเดียวกันอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำ 2.ระบบราชการรวมศูนย์ 3.ความไม่แน่นอนของการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เพราะที่ดินคือปัจจัยพื้นฐานในการผลิต เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หากไม่มีที่ดิน ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะผลิตหรือหารายได้มาเลี้ยงชีวิต ที่ดินคือชีวิตของเกษตรกร และที่ดินยังเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เพราะต้องใช้สำหรับอยู่อาศัย

เมื่อที่ดินเป็นทั้งปัจจัยการผลิตและปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ดังนั้นที่ดินจึงไม่ควรถูกออกแบบให้กลายเป็นสินค้าหรือวัตถุที่เอาไว้สำหรับเก็งกำไรเพื่อให้คนมั่งมีเก็บเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาล ที่ดินไม่เหมือนกับนาฬิกา เพชร แก้ว แหวน ที่เก็บไว้ก็ไม่ได้เดือดร้อนใคร แต่ที่ดินถ้าเก็บไว้มากๆ กระทบต่อการทำมาหากินของคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน 

ดังนั้นไม่ควรมี กองทัพ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ จำนวนมากถือที่ดินจำนวนมหาศาลเก็บเอาไว้ไม่ได้ทำอะไร ประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ แต่เก็บไว้อย่างนั้น และยังมีเศรษฐีจำนวนมากที่มีที่ดินมากสุดลูกหูลูกตา ขณะที่พี่น้องประชาชนที่มีที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต กว่าจะได้ที่ดินมาทำกินแต่ละตารางกิโลเมตรยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน แต่กับคนบางกลุ่มมีเงินก็ไปกว้านซื้อได้ 

กฎหมายที่ไม่แน่นอน ชาวบ้านต้องเผชิญกับความซับซ้อน

สถานะและเอกสารสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยถูกกำหนดให้มีหลายประเภท เราจะได้ยินชื่อกันมากมาย เช่น นส.3 สปก. ที่ราชพัสดุ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพราะขึ้นกับกฎหมายหลายฉบับ ส่งผลให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วย และหน่วยงานเหล่านี้อยู่ที่ส่วนกลางทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่น นี่คือสภาพปัญหาว่าพี่น้องที่ต้องใช้ที่ดินทำกิน จะต้องเผชิญกับความซับซ้อนของหน่วยงานและกฎหมายหลากหลายฉบับ

รวมทั้งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ว่า "มือขวาต้องทำมาหากิน มือซ้ายต้องเตรียมไว้ต่อสู้ว่าจะเอาที่ดินไปเมื่อไหร่"

พี่น้องที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนความไม่ชัดเจนของสถานะที่ดินที่ตนเองต้องการถือครองหรือต้องการใช้ประโยชน์อยู่เสมอ หลายเรื่องแก้ปัญหาเจรจากันไปแล้ว ตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดไป พอ 3-5 ปีผ่าน เปลี่ยนผู้ว่าฯ หรืออยู่ๆ นโยบายเปลี่ยน มีนโยบายทวงคืนผืนป่าออกมา ก็ต้องมาต่อสู้ใหม่ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาระยะยาว จึงเกิดความไม่มั่นคงแน่นอนในสถานะถือครองที่ดิน 

S__24248338.jpg

ไม่นับว่าที่ดินของพี่น้องที่ใช้ประโยชน์ แต่เราไม่มีโฉนด ไม่ได้เป็นเจ้าของ พี่น้องก็ไม่สามารถเอาไปเป็นทุนต่อได้ ไม่สามารถเอาสิทธิในการใช้ที่ดินเป็นทุนหรือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอะไรได้ ไม่นับที่ดินที่เป็นป่าสงวน อุทยาน ซึ่งพี่น้องอาศัยอยู่มาตั้งนานแล้ว เมื่อต้องการสาธารณูปโภค ต่างๆ หรืออยากได้ถนนซักเส้นก็ไม่ได้ เพราะกรมป่าไม้จะบอกว่าที่นี่เป็นเขตป่าสงวนไม่สามารถสร้างถนนได้ พี่น้องหลายแห่งจึงไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่ยอมทำถนนให้ เพราะบอกว่าเป็นที่ป่าสงวน 

รื้อระบบกันทหารออกจากปัญหาที่ดิน

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหามีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขั้นแรกต้องยุติการดำเนินคดีกับพี่น้องประชาชนเป็นการชั่วคราวก่อน โดยเฉพาะจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะเราไม่สามารถมีเวทีพูดคุยกันได้อย่างจริงจัง ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ยังจับพี่น้องประชาชนจับเข้าคุก ดำเนินคดีขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่

ข้อที่สอง คือบรรดาประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คสช.ที่ออกมาทวงคืนผืนป่าต้องยกเลิกทิ้ง เพราะประกาศคำสั่ง คสช.เหล่านี้ มีเกราะคุ้มกันไว้ว่าเขียนยังไงก็ถูกเสมอ ตรวจสอบไม่ได้ อำนาจต่อรองของพี่น้องก็ไม่มี เพราะเขาทำอะไรก็ถูก 

ข้อที่สาม คือต้องเอาเจ้าหน้าที่ทหาร-กองทัพ ออกไปจากปัญหาที่ดินให้หมด กองทัพมีหน้าที่ป้องกันประเทศรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร แต่ทำไมกองทัพประเทศไทยต้องมายุ่งกับเรื่องที่ดินป่าไม้ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า เวลาเปิดโต๊ะเจรจาจะมีตัวแทนจาก กอรมน.มานั่งด้วยทุกครั้ง เพราะเขามองเรื่องที่ดินเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ จึงให้ทหารมาตีเส้นแบ่งเรื่องที่ดินได้ แต่ในปัจจุบันปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของรัฐ แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องประชาชนต่างหาก ต้องให้รัฐบาลพลเรือนจัดการไม่ใช่ทหาร

ระยะกลางต้องมีการเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า เพื่อจะส่งผลให้คนที่ถือครองที่ดินมากๆ กักตุนที่ดินไว้ ต้องกระจายที่ดินออก รวมทั้งต้องออกแบบการถือครองที่ดินเชิงโครงสร้าง ขณะนี้การแก้ไขปัญหาที่ดิน ส่วนมากเป็นการแก้ไขเป็นกรณีๆ ไป เช่น ชมุชนบ่อแก้ว ต่อสู้มา 11 ปี เมื่อทำสำเร็จก็ถือเป็นต้นแบบให้ที่อื่นๆ แต่สุดท้ายไม่เคยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างภาพใหญ่เลย พอต่อสู้ตรงนี้จบ ก็ต้องไปสู้ที่ใหม่ หรือพอสู้ๆ ไป มีปัญหาใหม่อีกก็ต้องสู้ใหม่อีก สรุปคือ มือขวาต้องทำมาหากิน มือซ้ายต้องเตรียมไว้ต่อสู้ว่าจะถูกเอาที่ดินไปเมื่อไหร่

ระยะยาวต้องแก้ไขเรื่องความซับซ้อนของการถือครองที่ดิน ต้องแบ่งให้มีน้อยประเภท ประเทศไทยมีการแบ่งที่ดินหลายประเภทมาก เพราะรัฐมีแนวคิดว่ารัฐเป็นเจ้าของที่ดินหมด เอกชนเป็นเจ้าของได้ แต่ที่เหลือถือว่ารัฐเป็นเจ้าของหมด พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้ที่ดิน จึงต้องมาถูกจัดแบ่งเป็นประเภทๆ เราต้องมาทบทวนว่าแทนที่จะแบ่งแค่ว่าที่ดินเป็นของเอกชนกับรัฐ ต้องมาดูวิธีการจัดการที่ดินแบบใหม่ๆ อย่าง การจัดการแบบสมบัติร่วม คือให้ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ต้องเป็นของใคร หลายประเทศเริ่มวิธีคิดแบบนี้แล้วเราต้องเอามาเริ่มบ้าง

อ่านเพิ่มเติม