นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง ประกอบด้วย 1.รพ.ลำปาง 2.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 4.รพ.สระบุรี 5.รพ.ราชบุรี 6.รพ.ระยอง 7.รพ.ขอนแก่น 8.รพ.อุดรธานี 9.รพ.บุรีรัมย์ 10.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 11.รพ.สุราษฎร์ธานี และ 12.รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเริ่มในวันที่ 19 ส.ค.นี้ โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ยังไม่มีการรายงานเข้ามาว่าเป็นอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะมีการรายงานเบื้องต้นกลับมาในวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งในวันนั้นจะมีการประชุมวอร์รูมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ด้วย
โดยนพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า คาดว่าสารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตรทีเอชซีสูงจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะส่งมาถึง รพ.ขอนแก่นในช่วงบ่ายวันที่ 19 ส.ค. เนื่องจากล็อตของ รพ.ขอนแก่น เป็นรถคันที่ 3 ที่ออกมาหลังสุด และหลังส่งสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ให้ รพ.ขอนแก่นแล้ว ก็จะเลยไปยัง รพ.อุดรธานีต่อไป ดังนั้น ในวันนี้จึงยังไม่มีการให้บริการจ่ายยากัญชาทางการแพทย์แต่อย่างใด คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ ซึ่งคลินิกกัญชา รพ.ขอนแก่น จะเปิดทุกวันอังคารช่วงเวลาบ่ายโมง
ส่วนวันนี้จะเป็นการบริการให้คำปรึกษาและคัดกรองโรคว่าควรรับกัญชาทางการแพทย์หรือไม่ นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการ รพ.สระบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.สระบุรี ไดรับสารสกัดกัญชาจาก อภ.แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายยาในวันนี้ เพราะต้องเตรียมความพร้อมของระบบต่างๆ และทำความเข้าใจหารือถึงวิธีในการใช้ก่อน ซึ่งตามที่มีการเวิร์กชอปร่วมกัน กรมการแพทย์จะเป็นผู้จัดทำแพ็กเกจการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย เพื่อสื่อสารเข้าใจอย่างตรงกัน ต้องใช้ตามข้อบ่งชี้ คือ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัด และมีการเซ็นใบยินยอม อย่างไรก็ตาม คาดว่า รพ.สระบุรี จะเริ่มเปิดให้บริการได้ในสัปดาห์สุดท้ายขอเดือน ส.ค.นี้ ทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ระบบติดตามการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์นั้น ในระยะแรก อย.ได้ดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การติดตามปริมาณการสั่งใช้สารสกัดกัญชา ซึ่งตามระบบจะต้องรายงานมายัง อย.เป็นรายเดือน แต่ในช่วงเริ่มต้นจะให้มีการรายงานเร็วขึ้น โดยให้รายงานทุก 2 สัปดาห์ และ 2.รายงานในส่วนของผู้ป่วยทั้งในผู้ที่รับบริการเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ที่เริ่มใช้สารสกัดกัญชาในการรักษา โดยให้รายงานเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อติดตามดูสถานการณ์ว่ามีปัญหาหรือผลกระทบอะไรหรือไม่ในการให้บริการระยะแรก
ด้านพญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผอ.ด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สถาบันประสาทฯ ได้เริ่มให้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคลมชักในเด็กประมาณ 4-5 คน โดยใช้น้ำมันกัญชาสูตรซีบีดี 100 เปอร์เซ็นต์ จากผู้บริจาคผ่านทาง อย. ซึ่งจะสามารถใช้ได้ 2-3 เดือน ส่วนน้ำมันกัญชาทางการแพทย์จาก อภ.ยังไม่แน่ใจเพราะส่วนใหญ่เป็นสูตรทีเอชซีสูง ซึ่งยังไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่สถาบันประสาทกำหนด
อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอทางสถาบันก็ได้มีการเปิดรับสมัครผู้ป่วยเข้าสู่โครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ แบ่งเป็นผู้ป่วยโรคลมชัก โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า โดยสามารถลงทะเบียนได้ทาง www.nci.go.th หรือจะเข้ามาสมัครด้วยตัวเองที่สถานพยาบาลก็ได้ ตอนนี้เปิดรับเรื่อยๆ ก่อนจะมีการตรวจคัดกรอง ดูประวัติโรค และการรักษา ก่อนจะพิจารณาคัดเลือกเข้าโครงการอีกครั้ง