ไม่พบผลการค้นหา
เทนเซ็นต์-อาลีบาบา-ตีตี และบริษัทเทคโนโลยีทั่วจีน ร่วมมือใช้นวัตกรรมลดการสัมผัสตัวของผู้คน และใช้เอไอวิเคราะห์การค้นคว้าวิจัยยา

ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนทุ่มงบมูลค่ามหาศาลในการพัฒนาวงการเทคโนโลยีของประเทศ ปัจจุบันท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 'สี จิ้นผิง' ประธานาธิบดีจีน ก็ออกมาเรียกร้องความร่วมมือจากวงการเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน

สี จิ้นผิง กล่าวว่า "การต่อสู้กับโรคระบาดไม่สามารถประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" เช่นเดียวกับฝั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนที่ออกมาเรียกร้องให้ภาคเทคโนโลยีนำทั้งหุ่นยนต์และเครื่องตรวจจับอุณหภูมิ รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถช่วยลดการสัมผัสตัวกันของมนุษย์ออกมาใช้

'เทนเซ็นต์' ออกมาสนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประมวณผลความเร็วสูงในการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคให้กับหลายสถาบัน อาทิ สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตแห่งกรุงปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยชินหวา

ขณะที่ก่อนหน้านี้ 'อาลีบาบา' ก็ออกระบบคิวอาร์โค้ดระบุสถานะทางสุขภาพของประชาชน ผ่านแอปพลิเคชันอาลีเพย์ ที่นำไปปรับใช้แล้วกว่า 200 เมืองทั่วประเทศจีน นอกจากนี้อาลีบาบายังเร่งพัฒนาระบบประมวลผลจากรูปภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยระบบสามารถคัดแยกความแตกต่างของภาพระหว่างผู้ที่มีภาวะเสี่ยงสูง ปานกลาง และไม่เสี่ยงในการเป็นพาหะเชื้อไวรัสโคโรนา ภายในระยะเวลา 20 วินาที และมีความถูกต้องถึงร้อยละ 96 ล่าสุด อาลีบาบา ออกมากล่าวว่า อัลกอริทึมดังกล่าวได้นำไปปรับใช้แล้วกับ 26 โรงพยาบาล ในทั้งหมด 16 จังหวัด

ฝั่ง 'ตีตี ชูสิง' บริษัทเรียกรถที่ใหญ่ที่สุดในจีนก็ออกมาจับมือกับองค์กรทางการแพทย์เพื่อให้บุคลากรสามารถเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ที่เกี่ยวข้องกับขนส่งมวลชนของบริษัทได้ฟรี พร้อมกับเพิ่มหุ่นยนต์ในการลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ลดเพื่อลดอัตราเสี่ยงในการติดเชื้อ

'อีเลียม หวง' นักวิจัยจากคอร์ไซต์ กล่าวว่า หลายคนอาจจะมองว่าหุ่นยนต์เหล่านั้นเป็นแค่สิ่งของเอาไว้โชว์ แต่บริษัทเทคโนโลยีของจีนสามารถตอบสนองได้อย่างหลากหลายและรวดเร็ว

ขณะที่ฝั่ง 'เหม่ยถวนเตี่ยนผิง' ยักษ์ใหญ่ด้านบริการส่งอาหารออนไลน์ ที่เริ่มนำหุ่นยนต์ออกมาขนส่งอาหารระหว่างห้องครัวและพนักงานขนส่งและกับผู้บริโภคที่รอซื้ออาหารกลับบ้านในทำนองเดียวกัน 'เจดีด็อทคอม' ก็หันมาใช้หุ่นยนต์ส่งอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองอู่ฮั่นเช่นเดียวกัน

ตามข้อมูลจาก 'ไมโครมัลติคอปเตอร์' สตาร์ทอัพโดรนในเซิ่นเจิ้น ชี้ว่า ในสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดก็มีการใช้โดรนบินเพื่อตรวจหาประชาชนที่ต้องรับการดูแลรักษาจากทางการแพทย์ท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมาก และได้ปล่อยโดรนขึ้นท้องฟ้าไปแล้วกว่า 100 ลำทั่วประเทศ และยั่งส่งทีมงานบังคับโดรนไปแล้วกว่า 200 คน เพื่อคอยติดตามสถานการณ์

โฆษกของบริษัทชี้ว่า "บริษัทได้ทำงานเกินเวลาปกติ และนี่นับเป็นการทดสอบระบบโดรนที่ดีที่สุด และยังเป็นตัวอย่างให้ทั่วโลกด้วย"

ส่วนยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอย่าง 'หัวเว่ย' ก็เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการวิจัยค้นคว้ายาที่ใช้เพื่อการรักษาโรค ผ่านระบบเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมชี้ว่า "เทคโนโลยสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญเพิ่มขึ้นตลอดมาสำหรับการขับเคลื่อนวงการสาธารณสุขให้ไปข้างหน้า หัวเว่ยได้อุทิศตัวเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการใช้การค้นคว้าผ่านเอไอและแอปพลิเคชันจากนวัตกรรมที่เรามี"

ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีที่รวมตัวกันในพื้นที่ 'ซิลิคอนแวลลีย์ของจีน' ทั้ง 168 โซน ทำรายได้มากกว่า 33 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 150 ล้านล้านบาท ในปี 2561 ตามข้อมูลจากทางการจีน อีกทั้งวงการเทคโนโลยีก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ "Made in China 2025" (สร้างในประเทศจีน 2025) ที่สีจิ้นผิง หวังเปลี่ยนโฉมจากอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไปเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงแทน ซึ่งล่าสุดอัตราการติดเชื้อของประชากรในประเทศจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง; CNN, CNBC, BBC