นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข้อมูลไม้ผลรวม 14 จังหวัดภาคใต้ ปี 2563 (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ซึ่ง สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ มีมติเห็นชอบผลพยากรณ์ข้อมูลไม้ผล ปี 2563 ครั้งที่ 2 (ข้อมูล ณ 26 พ.ค.2563) พบว่า ผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณร้อยละ 5.93 ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนส.ค. 2563
สำหรับสถานการณ์ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด พบว่า เนื้อที่ให้ผล ทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 887,852 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 844,042 ไร่ (เพิ่มขึ้น 43,810 ไร่ หรือร้อยละ 5.19) โดยทุเรียนและมังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.80 , 1.57 ตามลำดับ เนื่องจากทุเรียนและมังคุดที่ปลูกทดแทนเงาะ ลองกอง และยางพาราเริ่มให้ผล ส่วนเงาะและลองกอง ลดลงร้อยละ 5.27 , 5.65 ตามลำดับ เนื่องจากส่วนมากมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียน ด้านผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 844,003 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 796,751 ตัน (เพิ่มขึ้น 47,252 ตัน) คาดว่า ทุเรียน มีจำนวน 588,337 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.03 ส่วนไม้ผลชนิดอื่น ๆ มีผลผลิตลดลง โดยเงาะ มีจำนวน 50,280 ตัน ลดลงร้อยละ 29.52 ลองกอง มีจำนวน 52,178 ตัน ลดลงร้อยละ 27.99 และมังคุด มีจำนวน 153,208 ตัน ลดลงร้อยละ 10.30
ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ของทุเรียนคาดว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา มีการเตรียมแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในการดูแลต้นทุเรียน และมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อผลิตทุเรียน GAP เพิ่มขึ้น ส่วนมังคุด เงาะ และลองกอง ผลผลิตต่อไร่ คาดว่าลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้การติดดอกออกผลน้อยลง
ด้านนางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เริ่มติดผลและทยอย ออกสู่ตลาดแล้ว โดยทุเรียนมีผลผลิตออกประมาณร้อยละ 10 ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในช่วงแรกเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและทุเรียนที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอก โดยจะออกมากช่วงเดือนส.ค. ร้อยละ 33 มังคุด เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.และเกือบร้อยละ 50 จะออกมากช่วงเดือนส.ค.2563 เงาะ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพ.ค. และจะออกมากช่วงเดือนส.ค.2563 ถึงร้อยละ 40 และลองกอง ผลผลิตส่วนมากอยู่ในระยะติดผลอ่อน ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนก.ย.2563
สำหรับแนวทางบริหารจัดการไม้ผลภาคใต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของผลผลิตช่วงออกสู่ตลาด พบว่า ส่วนใหญ่จังหวัดสามารถบริหารจัดการปริมาณการผลผลิตและความต้องการของตลาดได้อย่างสมดุล โดยมีตลาดรองรับ ได้แก่ ล้งในประเทศ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ไปรษณีย์ไทย ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ในจังหวัด และขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งหลังจากนี้ สศท.8 จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ และมีการกำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2563 ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 - 18 ก.ค.2563 ณ โรงแรมมรกตทวิน จังหวัดชุมพร เพื่อจัดทำข้อมูลสถานการณ์การผลิต ไม้ผลเอกภาพเชิงลึกในระดับอำเภอต่อไป สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลไม้ผลภาคใต้เพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 Email: [email protected]