ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเตือน.. ไม่ชัวร์อย่าแชร์!! หลังพบการแชร์ภาพเก่าคลิปอุบัติเหตุสงกรานต์ ของหลายปีที่ผ่านมา เสี่ยงเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ และสร้างความกังวลให้นักท่องเที่ยว คุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ มีความปลอดภัย ภายใต้มาตรการควบคุมจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด ซึ่งหลังเทศกาลสงกรานต์ มักมีการแชร์คลิปอุบัติเหตุหรือภาพความรุนแรงขณะเล่นน้ำผ่านโซเชียล โดยไม่ได้ตรวจสอบแหล่งที่มาหรือช่วงเวลาที่แท้จริง 

จึงขอความร่วมมือจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียให้ระมัดระวังในการแชร์ข้อมูล แม้จะมีเจตนาที่ดีต้องการเตือนภัย แต่การเผยแพร่ข้อมูลโดยไม่ตรวจสอบ อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ปรากฏในคลิป รวมถึงภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยและภาคการท่องเที่ยวของประเทศ เสี่ยงเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) ระบุว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ถือเป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ แม้ไม่ได้เป็นผู้สร้างคลิปต้นทาง แต่การนำมาโพสต์ซ้ำ แชร์ต่อ หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิด ก็อาจถือว่ามีความผิดในฐานะ “เผยแพร่” ข้อมูลอันเป็นเท็จเช่นกัน หรือการนำคลิปเหตุการณ์จากต่างประเทศมาเผยแพร่ พร้อมอ้างว่าเกิดขึ้นในไทย รวมถึงการใช้ภาพเหตุการณ์เก่าโดยไม่ระบุบริบทให้ชัดเจน ล้วนมีความเสี่ยงต่อการทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก และเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย

สำหรับวิธีตรวจสอบภาพ - คลิปเบื้องต้นก่อนแชร์ เพื่อไม่ตกเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข่าวปลอม มี 3 วิธี ได้แก่ 

1. ตรวจสอบวันที่ของคลิป/ภาพ ดูเวลาปัจจุบันที่บันทึกไว้บนคลิป (timestamp) เช็กวันที่โพสต์ต้นทางในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือใช้ Google Lens เพื่อตรวจสอบว่าภาพเคยปรากฏที่ไหนมาก่อนหรือไม่

2. ดูบริบทของเหตุการณ์ สังเกตฉากหลัง เช่น ทะเบียนรถ สถานที่ ป้ายภาษา ฟังสำเนียง เสียงพูด หรือเสียงบรรยายภายในคลิป เปรียบเทียบกับข่าวที่เป็นทางการว่าตรงกันหรือไม่

3. ค้นหาข่าวที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ

เว็บไซต์ข่าวกระแสหลัก ใช้เครื่องมือหรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ 

'รัฐบาลขอย้ำว่า การใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีวิจารณญาณ ไม่เพียงช่วยลดการกระจายข้อมูลเท็จ แต่ยังเป็นการเคารพสิทธิของผู้อื่น และป้องกันตนเองจากการกระทำที่อาจละเมิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว หลักการง่าย ๆ ที่ประชาชนควรทราบคือ หากยังไม่มั่นใจว่า ภาพหรือคลิปที่เห็นเป็นของจริงหรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบันหรือไม่ 'ให้งดแชร์' ไว้ก่อน ซึ่งการไม่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข้อมูลผิด คือการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่รับผิดชอบ และเท่าทันข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องด้วย' นายอนุกูล ระบุ