ไม่พบผลการค้นหา
หนึ่งในปัญหาของเกษตรกรที่ถูกมองข้ามคือ ‘วิกฤตโคนม’ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการซึ่งแบกรับต้นทุนอันสูงลิ่ว ต่อเนื่องมาสู่ภาวะน้ำนมขาดตลาด ขณะที่บริษัทผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์เจ้าใหญ่ อย่าง CP-Meji Thailand ระบุว่า โคนมกำลังเข้าสู่ช่วง ‘พักรีด’

จากข้อมูลปัจจุบัน ‘น้ำนมดิบ’  มีราคาอยู่ที่ 19 บาท/กิโลกรัม ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบอนุมัติปรับเพิ่มเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 

ขณะที่ราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมอยู่ที่ 20.50 บาท/กิโลกรัม พร้อมทั้งมีโครงการชดเชยราคารับซื้อน้ำนมดิบให้เกษตรกรโคนมทั่วประเทศ กิโลกรัมละ 0.75 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน 

สุบิน ป้อมโอชา อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่าน ไทยพีบีเอสว่า ภาครัฐต้องเร่งปรับราคาน้ำนมดิบให้เกษตรสามารถอยู่ได้ จากภาพรวมผลิตได้ 3,000 ตัน เหลือเพียง 2,500 ตัน ลดลง 25% ของน้ำนมดิบทั้งหมด จึงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการมีปัญหา จึงเร่งให้รัฐบาลชุดใหม่ ปรับราคาน้ำนมดิบจากแต่เดิม 20.50 บาท/กิโลกรัม เป็์น 22.75 บาท/กิโลกรัม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการ 

‘วอยซ์’ พูดคุยกับ ‘เดชา’ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในเกษตรกรผู้ประกอบกิจการโคนม เจ้าของ Lean Farming ฟาร์มโคนม ในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ถึงปัญหาของรายได้ที่ไม่สัมพันธ์กับราคาต้นทุน โดยเฉพาะ ‘ราคาอาหาร’ ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงดูโคนมเพื่อผลิตน้ำนมดิบ 

“ฤดูกาลพักรีดนม” ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของเกษตรโคนม  

“บริษัทผลิตนมอาจใช้คำว่า พักรีดนม เพื่อทำให้ดูดีในสายตาของผู้บริโภค แต่สำหรับเกษตรกรมันไม่ใช่…” 

เดชา  อธิบายว่า ในกระบวนการบีบนมวัว เกษตรกรจะต้อง ‘พักรีดนมวัว’ ช่วงก่อนที่แม่วัวจะคลอดลูก 60 วัน เพื่อให้แม่โตเตรียมตัวสำหรับการคลอดและการให้นมในครั้งต่อไป  ซึ่งโดยปกติแล้ว โคนมจะใช้เวลาตั้งท้อง 9 เดือนเหมือนมนุษย์ เมื่อถึงการตั้งท้องเดือนที่ 7 โคนมจะเข้าสู่สภาวะ พักรีดนม หรือเรียกว่า Dry Cow เพื่อให้โคนมเตรียมตัวคลอด จากนั้น 2 เดือนหลังคลอดจะเรียกว่า วัวรีด  และใช้เวลาพักมดลูก 3-4 เดือนจึงจะเข้าสู่การผสมเทียมอีกครั้งเพื่อให้ได้กระบวนการผลิตน้ำนมตามเดิม 

นั่นหมายความว่า กระบวนการพักรีดนมวัวจะไม่ใช่ ‘ฤดูกาล’ เหตุเพราะโคนมแต่ละตัวผสมเทียมและตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ดังนั้นคำชี้แจง CP-Meji Thailand กรณีภาวะสินค้าขาดแคลนในกลุ่มนมพาสเจอร์ไรส์ ว่าเป็นเพราะ ‘โคนมเข้าสู่ช่วงพักรีด’ จึงไม่สอดคล้องกับสถานกาณ์จริง 

เดชา กล่าวว่า การผสมเทียมในโคนมก็เหมือนกับการผสมพันธุ์ของคน บางครั้งก็ติด บางครั้งก็ไม่ติด ไม่สามารถกำหนดให้โคนมรวมตัวกันเพื่อพักท้อง แต่เห็นสถานการณ์ที่บริษัทรายใหญ่ใช้คำแบบนั้นแล้วถึงกับ “ขำไม่ออก” 

ถ้าเช่นนั้น ภาวะขาดแคลนนมพาสเจอร์ไรส์ในตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมีสถานการณ์เป็นเช่นไร และมีสาเหตุจากปัจจัยใดบ้าง

สถิติรอบ 6 ปี พบ ‘ราคาอาหารเลี้ยงโคนม’ พุ่งสูงเกินรายได้ 14-47% 

เดชา ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำนมวัวดิบขาดแคลน เกิดขึ้นมาเป็นปี ส่วนหนึ่งเกิดจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีโรคลัมปีสกิน (Lumpy Skin Disease) ระบาด อีกทั้งเกษตรกรยังมีราคาต้นทุนในการผลิตที่ต้อแบกรับ ประกอบไปด้วย ราคาอาหารสัตว์ ค่าแรง ค่าขนส่ง และ Fixed Cost (ต้นทุนคงที่ที่เกษตรกรต้องจ่าย) ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้ กว่า 60-70% หมดไปกับค่าอาหารสัตว์ไปแล้วนั่นเอง

ตามกฎหมายแล้ว ‘น้ำนมวัวดิบ’ ถูกจัดให้เป็น ‘สินค้าควบคุม’ มีการตรึงราคาจากสหกรณ์โคนม เช่น หากเทียบในปี 2017 ข้อมูลจาก Lean Farming พบว่า ราคาน้ำนมวัวดิบอยู่ที่ 18.50 บาท/กิโลกรัม จนกระทั่ง 6 ปีผ่านมาราคาน้ำนมวัวดิบอยู่ที่ 20.3 บาท/กิโลกรัม เท่ากับว่าราคาน้ำนมวัวดิบที่เกษตรกรได้นั้นเพิ่มขึ้นมาเพียง 10% เท่านั้น ยังไม่รวมอีกว่า ในราคาดังกล่าวอาจโดนตัดให้ต่ำ หรือสูงกว่านี้ เมื่อวัดกับค่ามาตรฐานของสหกรณ์กลางที่รับซื้อ

Screen Shot 2566-07-26 at 12.40.33.png

อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำนมดิบจากปี 2560-2566 เฉพาะ Lean Farming (ที่มา : Lean Farming)

ทว่าราคา  ‘น้ำนมวัวดิบ’ ที่เกษตรกรขายได้ กลับสวนทางกับ ‘ราคาอาหารสัตว์’ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยราคาอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงโคนม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ 

  1. อาหารข้น (อาหารที่มีความเข้มข้นสูง) ได้แก่ กากถั่วเหลืองอบไขมันเต็ม 50 กิโลกรัม, ข้าวโพดบด เกรด A 50 กิโลกรัม, อาหารผสมโคนม 14% 50 กิโลกรัม, อาหารผสมโคนม 16% 50 กิโลกรัม
  2. อาหารหยาบ เช่น ฟาง และข้าวโพดตัดหมัก 
image1.jpg

ราคาอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงโคนม เฉพาะ Lean Farming  (ที่มา : Lean Farming)

เดชา เผยว่า เนื่องจากการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย จำเป็นต้องใช้อาหารข้นและอาหารหยาบ เนื่องจากโภชนาการของอาหารสัตว์ที่ขายในประเทศไทยนั้นมีไม่มากเพียงพอ ไม่เหมือนกับการเลี้ยงโคนมในต่างประเทศที่โภชนาการของอาหารสัตว์นั้นเพียงพอต่อความต้องการของโคนม จึงสามารถเลือกใช้อาหารได้เพียงประเภทเดียวก็ได้ 

image2.jpg

อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสัตว์จากปี 2560-2566 เฉพาะ Lean Farming (ที่มา : Lean Farming)

จากแหล่งข้อมูลเดียวกัน ระบุชัดว่า ราคาอาหารทั้งหมดที่ใช้สำหรับการเลี้ยงโคนมทั้งฟาร์ม หากนับตั้งแต่ปี 2560 จะพบอัตราการเพิ่มขึ้นของอาหารที่มากที่สุด 3 ลำดับคือ 

  1. ข้าวโพดตัดหมัก พุ่งสูงจาก 49 บาทต่อหน่วย มาสู่ 73 บาทต่อหน่วย ในปี 2566 คิดเป็น 47% จากราคาแรกเริ่ม 
  2. กากถั่วเหลืองอบไขมันเต็ม 50 กิโลกรัม จากราคา 1,220 บาทต่อหน่วย สู่ 1,570 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 29% 
  3. อาหารผสมโคนม 14% 50 กิโลกรัม จากราคา 380 บาทต่อหน่วย สู่ 478 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 26% 

เดชา ระบุอีกว่า จากราคาของอาหารสัตว์ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในปีล่าสุดที่มีราคาพุ่งสูงขึ้น อาจเป็นเพราะในปัจจุบันสถานการณ์โลกเข้าสู่ภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบ จึงทำให้วัตถุดิบในการผลิตอาหารเพิ่มมากขึ้น ส่วนอาหารหยาบ เช่น ฟาง เมื่อเกิดภาวะฝนตกหนักน้ำท่วมจะทำให้ไม่มีหญ้าแห้งสำหรับการอัดฟาง 

‘ขายวัว-ค้าโค’ หวังเงินหมุนเวียนเฉพาะหน้า แต่ไร้ ‘มูลค่า’ ในอนาคต 

เดชา กล่าวว่า การทำฟาร์มโคนมนั้นไม่ได้มีกำไรมากมาย แต่ต้องทำทุกวันอย่างไม่มีวันหยุด เมื่อขาดทุนหมุนเวียน สิ่งที่เกษตรกรหลายคนทำได้คือการตัดสินใจ ‘ขายโคนม’ เพื่อหาเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายในฟาร์มในสภาะวิกฤต

ราคาสำหรับการขายโคนมในภาวะปกติ จะอยู่ที่ 30,000 - 45,000 บาทต่อตัว แต่ในภาวะที่ต้นทุนสูง และฟาร์มหลายแห่งไม่อยากเพิ่มโคนมเข้าฟาร์ม จึงเหลืออยู่ที่ตัวละประมาณ 24,000 - 25,000 บาท 

ส่วนการแบ่งขนาดฟาร์มโคนม  เดชา ระบุว่า จะใช้เกณฑ์ของปริมาณน้ำนมที่บีบได้ในแต่ละวันเป็นตัวแบ่ง คือ ฟาร์มขนาดเล็ก ได้ปริมาณน้ำนมต่ำกว่า 500 กิโลกรัม ฟาร์มขนาดกลาง 600 กิโลกรัม - 1 ตัน และฟาร์มขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำนม 1 ตันขึ้นไป 

สำหรับฟาร์มของเดชา จะถือว่าอยู่ในขนาดกลาง แม้เขาจะมีจำนวนโคนมประมาณ 100 ตัว แต่เมื่อเข้าสู่สภาวะวิกฤตเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องยอมขายโคนมไปเกือบ 10 ตัว เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายในฟาร์ม โดยการขายโคนมก็จำเป็นต้องขายโคนมที่มีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำนม เช่น โคนมที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ หรือการขาย โคนมในอนาคต เช่น ลูกโคนม หรือโคนมที่ยังมีอายุไม่ถึง 18-20 ปี ซึ่งนั่นจะทำให้ขาดโคนมสำหรับการผลิตน้ำนม หากโคนมที่ใช้สำหรับรีดน้ำนมปลดระวางไป 

ขณะที่ในตลาดโคนม ‘การซื้อขายได้ราคาที่ถูกเกินไป’ ก็ไม่เพียงต่อการดำรงชีพ และไม่เพียงพอต่อการนำเงินมาหมุนเวียนในฟาร์ม เกษตรกรหลายรายจึงจำใจต้องขายโคนมในตลาดโคเนื้อ แม้ในบางช่วงเวลาที่ตลาดโคเนื้อมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ราคาที่ได้ต่ำลงก็ตาม 

ด้าน เกษตรกรโคนม (สงวนชื่อ) อีกราย ก็ได้ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันว่า ปัญหาที่หลายฟาร์มต้องเจอเหมือนกันคือ ต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้นเกือบ 2-3 เท่าตัว ยังไม่รวมค่าแรงงาน ค่าไฟ และปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แปรผันตามอายุโคนม เกษตรกรบางรายหักลบต้นทุน และหนี้สินแล้วเหลือเงินใช้เพียง 300 บาทในรอบบิล 10 วัน อย่างเช่น ในจังหวัดราชบุรี ที่มีฟาร์มโคนมหลายแห่งต้องขายโคนมยกคอกเพื่อความอยู่รอด

‘ภาษีเกษตรโคนม - หนี้เน่า NPL’ เข้าขั้นวิกฤต ทำหนี้พอก สหกรณ์ฯ ขาดทุน 

เดชา กล่าวว่า การขายน้ำนมดิบจะต้องผ่านสหกรณ์โคนม เพราะสหกรณ์โคนมจะเป็นตัวกำหนดราคารับซื้อ อยู่ที่ประมาณ 19.8 บาทต่อกิโลกรัม โดย Lean Farming ขายได้ราคาประมาณ 20.8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสามารถบวกลบได้อีกตามคุณภาพของน้ำนมดิบที่สหกรณ์โคนมตั้งไว้

ข้อมูลจาก นครินทร์ สีวงกต ประธานสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จ.สระบุรี ระบุว่า ในอดีตมีสมาชิกในสหกรณ์โคนมกว่า 500 ราย แต่ปัจจุบันเหลือสมาชิกเพียง 300 ราย หายไปจากระบบกว่า 40% และมีแนวโน้มจะปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สถานการณ์ของสหกรณ์โคนมในช่วงนี้อยู่ในช่วงที่ต้องแย่งการรับซื้อน้ำนมดิบ จึงทำให้มีรายได้จากราคาน้ำนมดิบที่ถูกลง 

เมื่อเกษตรกรโคนมต่างล้มหายตายจากไปในวงการ เกษตรกรโคนมที่เหลือจึงต้องกัดฟันสู้ ซึ่งนอกจากใช้วิธีการขายโคนมแล้ว ก็ยังสามารถใช้วิธีกู้เงินทุนจากสหกรณ์เพื่อนำมาเป็นรายได้หมุนเวียนให้กับฟาร์ม เนื่องจากเกษตรโคนมก็เป็นหุ้นส่วนกับสหกรณ์ 

ในส่วนของการเก็บภาษีเกษตรกร ที่แม้ว่ากิจการโคนมจะดูมีรายได้สูง แต่รายจ่ายก็สูงไม้แพ้กัน มิหนำซ้ำยังต้องมาเสียภาษีรายได้เกษตรกรตอนสิ้นปีอีกทอดหนึ่ง เช่นในปี 2561 กรมสรรพากรได้ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ จากรายได้ 100% หักจ่ายรายได้ 60% และส่วนที่ต้องนำมาเป็นฐานเสียภาษีคือ 40% ของรายได้ทั้งหมด จากแต่เดิมคือ หักจ่ายรายได้ 85% และอีก 15% เป็นฐานการคำนวณภาษีรายได้ประจำปี รวมถึงภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีทางอ้อม ฯลฯ

เดชา ระบุอีกว่า แม้สหกรณ์โคนมจะสามารถช่วยเหลือการจ่ายภาษีรายได้ของเกษตรกรได้ แต่ข้อกำหนดอีกประการคือ เกษตรกรโคนมจะต้องมีการแสดงรายได้ที่ชัดเจนให้กับสหกรณ์ แต่เกษตรกรบางรายทำบัญชีรายรับที่ไม่ชัดเจน เนื่องจาก การซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ หรือซื้อขายโคนมด้วยกันเอง เป็นการขายแบบชาวบ้าน เช่น นาย A ขายให้ นาย B มากที่สุดอาจจะมีแค่ใบเสร็จรับเงิน แต่ไม่ได้มีใบกำกับภาษีที่ชัดเจน

หากเรามาดูรายรับต่อเดือนในฟาร์มของ เดชา จะพบว่า อยู่ที่ประมาณ 440,000 บาท ส่วนภาษีรายได้ที่ต้องจ่ายรายปีทั้งหมดจะอยู่ที่ 40,000 - 60,000 บาท แต่สหกรณ์ช่วยออกครึ่งหนึ่งเหลือ 20,000 - 30,000 บาท ยังไม่รวมถึงค่าต้นทุนอาหาร ค่ายา ค่าแรงงาน ค่า Fixed Cost ต่างๆ รวมถึงค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น และค่าไฟฟ้าที่ปกติจ่ายอยู่ที่เดือนละ 4,000 - 5,000 บาท แต่ตอนนี้ราคา 6,000 บาท จึงทำให้เหลือกำไรเบ็ดเสร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 กว่าบาทเท่านั้น 

ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรโคนมได้รับผลกระทบเรื่องรายได้อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง จึงจำใจยอมกู้เงินจากสหกรณ์โคนมที่ได้เป็นสมาชิกเพื่อนำมาหมุนเวียน อีกทั้งมาตรการที่สหกรณ์ช่วยเหลือภาษีจึงทำให้ขณะนี้สหกรณ์โคนมก็ประสบภาวะขาดทุนเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้เสียของ ธ.ก.ส. มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรได้รับผลกระทบต่อการผลิต ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยข้อมูลหนี้เสียทั้งหมดอยู่ที่ 13% และหากรวมหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วันจะอยู่ที่ 16% 

ชี้สเปค ‘ฟาร์มโคนม’ 4 ประเภท เลี้ยงโคนมแบบใด ถึงจะรอดวิกฤต 

สำหรับฟาร์มโคนมที่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตนี้ได้ เดชา ได้แบ่งออกเป็นฟาร์ม 4 ประเภท ดังนี้ 

  1. ฟาร์มที่มีประสิทธิภาพสูง และมีเงินทุนสูงมาก ซึ่งทุกอย่างในฟาร์มทั้งเรื่องวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรอุปกรณ์ ต้องผ่านการลงทุนปรับปรุงมาแล้ว
  2. ฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่จะได้ Economy of Scale หรือฟาร์มที่มีขนาดประหยัดต่อการผลิต ในมุมเศรษฐศาสตร์หมายถึง ความสามารถที่จะสั่งผลิตน้ำนมเป็นจำนวนมากในหนึ่งครั้ง แต่นั่นก็จะไปสัมพันธ์กับข้อแรก
  3. ฟาร์มที่ไม่ต้องมีการลงทุน หรือจ่ายค่า Fixed Cost เพิ่มแล้ว 
  4. ฟาร์มของ ‘เศรษฐี’ หรือเปิดฟาร์มโคนมเพื่อทำ CSR สร้างการกุศล หรือภาพลักษณ์ 

นอกจากนี้ เดชา ยังได้ให้ความเห็นอีกว่า ถ้าสถานการณ์วิกฤตโคนมยังดำเนินต่อไปแบบนี้ ท่ามกลางกระแสของการเมืองที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย เกษตรกรโคนมจะไม่สามารถอยู่ได้ หากจะให้เกษตรไปทำอย่างอื่นก็ไม่อยากจะไปเริ่มต้นลงทุนใหม่ 

เดชา เน้นย้ำว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรโคนมรอมาตรการจากมติของ ครม. ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานแล้ว จนกระทั่งยุบสภาฯ เมื่อเดือนเมษายน และจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม แต่ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 6-7 และกำลังเข้าสู่เดือนที่ 8 ก็ยังไม่เห็นวี่แววการตั้งรัฐบาลใหม่ ดังนั้นหากมีการประวิงเวลาไปอีก 10 เดือนจริง เกษตรกรก็ต้องรอมาตราการของรัฐบาลใหม่ในการช่วยปรับราคาน้ำนมวัวดิบให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น

“เกษตรกรพูดว่าขาดทุน ไม่ได้ขาดทุนหลักพัน แต่มันคือหลักหมื่น หลักแสน ตอนนี้รายได้ติดลบ 28,000 บาท คาดว่าน่าจะต้องขายโคนมอีก” เดชา กล่าวทิ้งท้าย 

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog