ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' เรียกร้อง กสทช. หยุดปัดรับผิดชอบปล่อยให้เกิดการควบรวมค่ายมือถือ 2 ยักษ์ใหญ่ ข้องใจประธานบอร์ด กสทช. รีบสั่งลบข้อความพร้อมภาพ '5 Facts กรณีการควบรวมทรู-ดีแแทค'

วันที่ 29 ส.ค. 2565 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หยุดปัดความรับผิดชอบสั่งหยุดการควบรวมค่ายมือถือ ซึ่งการกระทำที่ผ่านมาของ กสทช. ทั้งการพยายาม “ยื่นตีความกฎหมายว่าตัวเองมีอำนาจหรือไม่” ทั้งที่ศาลปกครองเคยมีคำสั่งแล้วว่าอำนาจการระงับควบรวมอยู่ในอำนาจ กสทช. และการที่ประธานบอร์ด กสทช. สั่งลบ Infographic “5 Facts กรณีการควบรวมทรู-ดีแแทค” ภายหลังค่ายมือถือใหญ่ออกจดหมายคัดค้าน ทำให้เราสงสัยว่ากสทช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาไม่เอื้อนายทุนหรือไม่

โดยระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการกระทำที่น่าเคลือบแคลงอย่างยิ่งของ กสทช. คือบอร์ด กสทช. เพิ่งมีมติ 3 ต่อ 2 ยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความอำนาจตัวเองเป็นรอบที่ 2 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองได้มีคำสั่งออกมาแล้วว่า กสทช. มีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินพิจารณากรณีการควบรวมค่ายมือถือ ทรู-ดีแทค

ไม่ชอบมาพากลในกรณีนี้ว่าการที่ กสทช. มีเจตนาส่งเรื่องให้องค์กรตีความกฎหมายหลายองค์กรวินิจฉัยอำนาจของตัว กสทช. เองนั้น เพื่อให้ปัดความรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ของตนในการระงับการควบรวมค่ายมือถือซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสัญญาณค่ายมือถือในประเทศไทยถูกผูกขาดโดยรายใหญ่เพียง 2 เจ้า

นี่ไม่ใช่การยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งแรก เนื่องจากบอร์ด กสทช. ก็เคยตีความไปแล้วว่าไม่รับคำร้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่กสทช. ยังดึงดันส่งเรื่องให้พิจารณาอีกรอบ พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงรักษาการนายกฯ ให้ออกคำสั่งให้กฤษฎีกาตีความอำนาจหน้าที่ของ กสทช.

ศิริกัญญา ระบุว่า ที่ต้องตีความกันใหม่เพราะบอร์ดอยากจะเห็นต่างจากศาลปกครองหรือไม่ เพราะศาลเห็นว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯ ปี 2561 ประกอบประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 นั้น ได้ให้อำนาจกสทช.ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือไม่อนุมัติการขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว

สรุปคือ ศาลปกครองเห็นว่าบอร์ดกสทช.มีอำนาจอนุมัติ ไม่ใช่แค่รับทราบ ซึ่งตรงกับความเห็นตามที่รายงานอนุกรรมการของ กสทช. อยากให้เป็น

กสทช. ยังตั้งอนุกรรมการพิเศษด้านกฎหมายขึ้นมาอีก 1 ชุด ประกอบไปด้วย “เนติบริกร” ชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สมคิด เลิศไพฑูรย์, สุรพล นิติไกรพจน์, จรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งข้อเสนอแนะให้ กสทช. ยื่นตีความอำนาจตัวเองต่อกฤษฎีกาในครั้งนี้

ความไม่ชอบมาพากลของบอร์ด กสทช. อีกกรณีก็คือการ “สั่งลบ” Infographic “5 Facts กรณีการควบรวมทรู-ดีแแทค” ที่เผยแพร่โดย กสทช. เอง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเป็นการรายงานผลการศึกษากรณีศึกษาต่างประเทศ และผลการศึกษาของคณะกรรมการต่างๆ ของ กสทช.เอง

ภายหลังจากที่บริษัท ทรูและดีแทค ออกมาให้ข่าวว่าภาพ Infographic นี้ไม่มีความเป็นกลาง ประธานบอร์ด กสทช. กลับรีบสั่งลบข้อความพร้อมภาพ และออกบันทึกข้อความชี้แจงอย่างรวดเร็วว่าการเผยแพร่ Infographic ชั้นนี้ “บอร์ด กสทช. ไม่เคยมีมติ และไม่เคยเห็นชอบให้มีการเผยแพร่ข้อมูล”

“หลักฐานและข้อเท็จจริงทำให้ กสทช. ไม่สามารถตัดสินให้การควบรวมเกิดขึ้นได้ ทางเดียวที่จะทำให้เกิดการควบรวมค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าขึ้นในประเทศไทยคือการหาคนมาตีความวินิจฉัยว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณายับยั้งการควบรวม ดิฉันไม่อยากให้ประชาชนตั้งคำถามกับเจตนาของ กสทช. ในการดันทุรังส่งเรื่องให้เกิดการตีความทางกฎหมายหลายครั้งว่าการกระทำเหล่านี้ เป็นไปเพื่อเอื้อกลุ่มทุน” ศิริกัญญา ทิ้งท้าย