การประท้วงต่อต้านรัฐบาลตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศหรือเขตปกครองพิเศษ แต่สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้สรุปรวมเหตุผลสำคัญที่ผู้ชุมนุมในที่ต่างๆ ระบุว่าเป็น 'แรงขับเคลื่อน' ให้พวกเขาออกมารวมตัวกันบนท้องถนน ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเด็น
เหตุผลข้อที่ 1 คือ 'ปัญหาความเหลื่อมล้ำ' เห็นได้จากกรณีของประเทศชิลี เอกวาดอร์ และเลบานอน มีชนวนเหตุจากการขึ้นราคาค่าโดยสารและนโยบายเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งประชาชนในประเทศเหล่านี้มองว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่รัฐกลับหารายได้เพิ่มด้วยการขึ้นราคาสาธารณูปโภคและภาษีต่างๆ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ยากจนและผู้มีรายได้ปานกลางที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจอยู่แล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ยังถูกกล่าวหาว่าประกาศนโยบายสนับสนุนกลุ่มทุนหรือผู้ที่มีรายได้สูงอยู่ฝ่ายเดียว เพราะคนกลุ่มนี้มักจะได้รับการยกเว้นภาษีต่างๆ โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องการสนับสนุนการลงทุนในประเทศ แต่ผู้ประท้วงมองว่านี่เป็นนโยบายซึ่งทำให้ช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนยิ่งขยายกว้างกว่าเดิม เพราะไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ที่แท้จริง คนที่รวยอยู่แล้วไม่ได้รับผลกระทบ แต่คนจนจำนวนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
เหตุผลข้อที่ 2 คือ 'ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน' โดยประเทศที่มีการประท้วงด้วยเหตุผลนี้ ได้แก่ อียิปต์ อิรัก โบลิเวีย และเลบานอน เนื่องจากมีการรายงานข่าวว่า บรรดาผู้นำรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ ใช้อำนาจในทางมิชอบ เอื้อผลประโยชน์ให้เครือข่ายคนใกล้ชิด
กรณีของเลบานอน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น หน่วยงานกำจัดขยะและคนขับรถโดยสาร นัดหยุดงานประท้วงเพื่อต่อต้านการทุจริต ซึ่งพวกเขามองว่าเชื่อมโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้รัฐบาลเลบานอนต้องประกาศว่าจะพิจารณานโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับลดเงินเดือนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย และจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ทราบว่านโยบายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่
ส่วนเหตุผลที่ 3 คือ 'การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ' เห็นได้ชัดจากกรณีของฮ่องกง ซึ่งเป็นการชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก มีชนวนจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ประชาชนในฮ่องกง ซึ่งมีธรรมนูญและอำนาจอธิปไตยในการบริหารจัดการด้านการเมืองด้วยตัวเองไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่ารัฐบาลฮ่องกงกำลังถูกจีนแผ่นดินใหญ่แทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย และอาจจะลุกลามไปยังประเด็นอื่นๆ เช่น การกดดันให้ชาวฮ่องกงยอมรับแนวคิดชาตินิยมและเชิดชูพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ แทนที่จะเคารพสิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยที่ชาวฮ่องกงเคยได้รับช่วงปลายยุคที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีกรณีประชาชนในเมืองบาร์เซโลนา เมืองเอกของแคว้นกาตาลูญญาในสเปน ซึ่งพยายามเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดน หลังจากที่เคยมีการลงประชามติสนับสนุนให้บาร์เซโลนาแยกตัวจากสเปนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน แต่รัฐบาลกลางของสเปนไม่ยอมรับ และถือว่ากลุ่มผู้รณรงค์เรื่องการแยกตัวเป็นกลุ่มกบฎ แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นนี้ยังไม่ยุติลงง่ายๆ เพราะชาวบาร์เซโลนาจำนวนมากมองว่า พวกเขาควรมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการทรัพยากร การเมือง และเศรษฐกิจของตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมา รายได้และทรัพยากรต่างๆ ต้องส่งให้กับรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งเขามองว่า ไม่ยุติธรรม
เหตุผลข้อที่ 4 คือ 'ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน' ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในหลายประเทศ ทั้งที่ประเทศสวีเดน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สเปน ออสเตรีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศแถบเอเชีย เห็นได้จากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นกระแสแรงตลอดทั้งปี โดยผู้ที่เป็นสัญลักษณ์การประท้วงในด้านนี้ คงจะหนีไม่พ้น 'เกรียตา ธืนแบร์ก' หรือ เกรตา ธันเบิร์ก นักกิจกรรมวัย 16 ปี ที่นิตยสารไทม์สของสหรัฐฯ ยกให้เป็น 'บุคคลแห่งปี' ประจำปี 2019
ในปี 2020 สื่อและผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า การประท้วงในหลายประเทศก็คงจะยังไม่ยุติลงง่ายๆ เพราะยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนจากฝั่งรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่า การประท้วงในที่ต่างๆ ทั่วโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ปัจจัยหนึ่งหนึ่งที่คิดว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ อาจนำมาใช้เพื่อสกัดการรวมตัวของผู้ชุมนุม ได้แก่ 'การปิดกั้นอินเทอร์เน็ต'
อัลจาซีรายกตัวอย่างกรณีแคว้นจัมมูร์และแคชเมียร์ รวมถึงอุตรประเทศของอินเดีย มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง ทำให้รัฐดำเนินนโยบายปิดกั้นอินเทอร์เน็ต โดยมีการสั่งระงับสัญญาณเป็นระยะ เพื่อไม่ให้มีการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ตโฟนหรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เป็นสิ่งเชื่อมโยงให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกัน
ที่มา: Aljazeera/ BBC/ Foreign Policy
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: