ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตที่ถูกกำหนดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลและส.ส.ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีอำนาจอื่นพยายามเข้ามามีบทบาทแทรกแซง และพยายามเข้าควบคุมสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ความไม่แน่นอนว่าใครจะเป็นผู้นำรัฐบาล แม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านมาเดือนกว่าแล้วก็ตาม หากเป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยทั่วไป เรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น พรรคการเมืองที่ชนะอันดับหนึ่ง หรือสามารถรวบเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง มีความชอบธรรมโดยสมบูรณ์สำหรับการขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล
ทว่าการเลือกตั้งภายใต้ระบอบที่ใหญ่กว่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากเย็น นั่นเพราะในรัฐธรรมนูญ 2560 หรือที่ถูกเรียกว่ารัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ คสช. ได้กำหนดให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง มีสิทธิโหวตให้การรับรองผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งด้วย
นั่นหมายความว่า จากเดิมที่ควรจะใช้เสียงสนับสนุนนายกฯ เพียง 251 เสียง กลายเป็นว่า จะต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 376 และที่สำคัญ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกลยังขาดเสียงสนับสนุนอยู่อีก 64 เสียง แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการตั้งทีมเจรจาเพื่อหาเสียงสนับสนุน แต่ก็ยังไม่ปรากฏแน่นชัดว่าเวลานี้ได้เสียงมามากน้อยเพียงใด
ความชัดเจนสำหรับการเมืองไทยในเวลานี้มีเพียงสิ่งเดียว คือ ‘ความไม่แน่นอน’
13 ก.ค.2566 จะเป็นวันโหวตเลือกนายกฯ หากผ่านฉลุยจัดตั้งรัฐบาลได้ตามมติประชาชน ย่อมเป็นทางที่ดีที่สุด แต่หากการโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน จะมีการโหวตครั้งที่ 2 หรือ 3 ต่อไปหรือไม่ สมการจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อเอาชนะ 250 เสียงจากการแต่งตั้งโดย คสช.
วอยซ์รวบรวมความเป็นไปได้ที่มีการวิเคราะห์กันในช่วงที่ผ่านมา แบ่งเป็น 6 รูปแบบหลัก ซึ่งแต่ละแบบก็มีราคาที่ต้องจ่ายแตกต่างกันออกไป
ความเป็นไปได้แรกคือ การเดินตามครรลองระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาปกติ โดยการที่พรรคซึ่งชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ว. แต่งตั้งยอมรับหลักการประชาธิปไตยดังกล่าว ใช้อำนาจในการโหวตรับรองนายกรัฐมนตรีตามฉันทมติของประชาชนจากการเลือกตั้ง การเมืองไทยก็จะสามารถขยับและเดินหน้าต่อไปได้
ในกรณีเดียวกันเสียงของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมีอยู่ 312 เสียง ยังขาดเสียงสนับสนุนในการโหวตรับรองนายกฯ อยู่ 64 เสียง หากเสียงจาก ส.ว. ไม่เพียงพอ ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นซึ่งเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็สามารถช่วยยกมือสนับสนุนพิธาเป็น นายกฯ โดยไม่ร่วมรัฐบาล เพื่อรักษาระบอบการเมืองให้ก้าวต่อไปได้
เส้นทางนี้ถือเป็นการเดินฝ่าทางตันของเกมการเมืองร่วมกันของรัฐสภา และจะทำให้ผลการเลือกตั้งกับการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน
ในอีกกรณีหนึ่งคือ การที่พรรคก้าวไกลอาจประกาศถอย พรรคไม่เสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสมัยนี้ เพื่อลดเงื่อนไขของ ส.ว. และ ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นในการสนับสนุน ‘พิธา’ เป็นนายก แต่แนวทางนี้อาจจะทำให้ฐานเสียงของพรรคจำนวนหนึ่งไม่พอใจ รวมทั้งเกิดความขัดแย้งภายในพรรคเองด้วย
แนวทางนี้มีการพูดถึงโดยสื่อมวลชนมากพอสมวควร เพราะ กกต. เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคุณสมบัติพิธาจากกรณีการถือหุ้น ITV หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เบื้องต้นก็อาจถูกตีความทำให้ไม่อาจเสนอชื่อพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ และพรรคก้าวไกลก็มีแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว
รวมไปถึงกรณีที่มีจำนวนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 376 เสียงในการโหวตรอบแรก หรือแม้แต่รอบสองที่ยังคงมีจำนวนเสียงไม่เพียงพอ
หากสถานการณ์เดินถึงจุดนี้ ถึงที่สุดแล้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีการกลับมาคุยร่วมกันอีกครั้งว่าจะไปอย่างไรต่อ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเสนอชื่อแคนดิเดทนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยแทน โดยยังเกาะกันเหนียวแน่นใน 8 พรรคเพราะมีการประเมินว่า แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย อาจจะสามารถดึงเสียงสนับสนุนได้เพิ่มขึ้น ทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส. จากขั้วรัฐบาลเดิม แต่แนวทางนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เนื่องจาก ส.ว. จำนวนหนึ่งยังคงยืนยันว่าจะไม่โหวตให้รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย ไม่ว่านายกฯ จะเป็นชื่อใครจากพรรคใดก็ตาม
อย่างไรก็ตามหากเกมการเมืองเดินไปทางนี้ และประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล แม้การนำจัดตั้งรัฐบาลจะไม่สามารถเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยอุปสรรคต่างๆ แต่ยังถือได้ว่า มีรัฐบาลจากขั้วประชาธิปไตย โดยยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการ
อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่มีการพูดถึงกันอยู่มากคือ หากถึงที่สุดแล้วไม่มี ส.ว. คนไหนที่เสียงแตกแถว หรือมีเสียงจาก ส.ว. อยู่บ้างแต่รวมแล้วไม่ถึง 376 เสียง แนวทางหนึ่งที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินต่อไปได้คือการ เปิดรับพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มเติ่ม ซึ่งพรรคการเมืองที่มีจำนวนเสียงเกิน 64 เสียงมีเหลืออยู่เพียงพรรคเดียวคือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งในการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง พรรคภูมิใจไทยมีมติพรรคให้ 'ฟรีโหวต' เรียกว่าไม่โหวตให้ขั้วเดียวกันอย่าง วิทยา แก้วภารดัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
แต่จากการให้สัมภาษณ์หลายครั้งของ อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจ ล้วนมีหัวใจสำคัญคือ ไม่โหวตและไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่จะเสนอแก้ไขมาตรา 112 ฉะนั้นหากต้องงการปิดสวิตซ์ ส.ว. โดยใช้เสียงจากพรรคภูมิใจไทย การถอยในประเด็นเสนอกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลก็อาจเป็นวิธีเดียว และหันมาให้น้ำหนักกับการสร้างรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนทั้งฉบับแทน
แน่นอนว่าแนวทางนี้ย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจของฐานเสียงพรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่ง และในการทำงานร่วมกันของพรรครัฐบาลอาจจะเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดวางตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องแบ่งกระทรวงให้พรรคภูมิใจไทยซึ่งมีเสียงไม่น้อยและย่อมต่อรองกระทรวงสำคัญ แม้พรรคก้าวไกลจะไม่มีปัญหากับพรรคภูมิใจ มากเท่ากับพรรคสืบทอดอำนาจของ 2 ลุง แต่ก็มีเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมให้กระทรวงสาธารณสุขกับคมนาคมให้กับภูมิใจไทยเด็ดขาด
สถานการณ์นี้ถูกพูดถึงโดยสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อย เปิดประเด็นกันมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนหลังเลือกตั้งทำ MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันแล้วก็ยังมีการวิเคราะห์ประเด็นนี้อยู่ โดยมีการเสนอโมเดลจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ เป็นรัฐบาล โดยที่พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน
จนกระทั่งถึงเวลานี้ก็ยังมีการนำเสนอโมเดลนี้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งสมมติฐานว่า พรรคเพื่อไทยกำลังรอคอยจังหวะเวลาเพื่อพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะทำให้ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างน้อยในสาย พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ จนสามารถผ่านด่านโหวตรับรองนายกรัฐมนตรีได้ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาแกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธแนวทางนี้หลายต่อหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามโมเดลนี้ แม้จะยังเป็นไปตามกลไกของระบบรัฐสภาประชาธิปไตย แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การหมดศรัทธาของฐานเสียงเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง และส่งผลกระทบต่อพรรคในระยะยาว อาจเกิดการต่อต้านจากมวลชน และถึงที่สุดมีการวิเคราะห์ว่า โมเดลนี้คือการปูทางส่งให้พรรคก้าวไกลแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็เป็นการวิเคราะห์ที่มีอยู่ตลอดเช่นกัน จนเมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย ต่างออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า 'ไม่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย'
หาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมัดรวมกันแน่น ฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะมีเสียงเพียง 188 เสียงภายในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. จนสามารถชิงตำแหน่งนายกฯ ได้ แต่ก็จะไม่สามารถบริหารราชการได้ โหวตกฎหมายใดๆ ก็ยากจะผ่าน กลายเป็นรัฐบาลอายุสั้น เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 หากได้รับเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง นายกฯ จะต้องประกาศยุบสภาหรือไม่ก็ลาออกจากตำแหน่ง
แต่โมเดลนี้ก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากรัฐบาลเสียงข้างน้อยสามารถเปลี่ยนให้ตัวเองกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ทั้งจากแนวทางเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ และดึงตัว ส.ส. ของพรรคที่ถูกยุบมาร่วมพรรคขั้วรัฐบาล หรือการ 'แจกกล้วย' รายครั้งให้กับ ส.ส. ในช่วงที่มีการโหวตกฎหมายสำคัญ ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล รวมทั้งการดึงบรรดา ส.ส. ก๊วนเดิมที่ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยกลับมา สอดคล้องกับข่าว(ลือ)ใหญ่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเรื่องซื้อ ส.ส. 'งูเห่า' หัวละ 100 ล้าน ด้วยงบกว่า 6,000 ล้านบาท
แน่นอนว่าเส้นทางนี้ขัดเจตนารมณ์ประชาชนอย่างชัดเจน และจะก่อให้เกิดแรงต้านมหาศาลจากมวลชน สุ่มเสี่ยงต่อความโกลาหลและความรุนแรงทางการเมือง
อีกหนึ่งสมการที่ถือว่ามีความเป็นได้น้อย คือ การจัดตั้ง 'รัฐบาลทางสายกลาง' โดยตัดขั้ว 'เอ็กซ์ตรีม' ออก คือเป็นการร่วมกันระหว่างพรรคเพื่อไทย 141 เสียง ภูมิใจไทย 71 เสียง และประชาธิปัตย์ 25 เสียง รวมทั้งเปิดรับพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มอีกอย่างน้อย 14 เสียง เพื่อให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก แล้วให้พรรคก้าวไกล พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ออกไปเป็นฝ่ายค้าน โดยมีความเชื่อว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. จนครบ 376 เสียง
แม้แนวทางนี้จะไม่มีพรรคสืบทอดอำนาจของ 2 ลุงรวมอยู่ด้วย แต่ก็จะส่งผลให้เกิดแรงต้านจากประชาชนอยู่ดี เพราะไม่มีพรรคก้าวไกลที่ได้อับดับที่ 1 ในการเลือกตั้ง รวมอยู่ในสภาการด้วย