ไม่พบผลการค้นหา
คืบหน้า 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เดินหน้าเซ็นสัญญาไปแล้ว 3 โครงการ รอเจรจาอีก 1 โครงการ ส่วนอีกโครงการความหวังเลือนลาง คาดโครงการแรกได้เห็นเร็วสุดปี 2567

เมกะโปรเจกต์ที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวม 5 โครงการ เงินลงทุนกว่า 6.52 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา หลายโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เห็นไทม์ไลน์ชัดเจนมากขึ้น หลังลงนามในสัญญาร่วมทุนกับเอกชน


มาบตาพุดเฟส 3 ได้รับในอนุญาตปลูกสร้างแล้ว

โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3  เงินลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท นับเป็นโครงการแรกที่ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เป็นการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

หวั่นคสช.ใช้ ม.44 เปิดทางถมทะเลมาบตาพุด

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เปิดเผยว่า โครงการได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยองแล้ว ซึ่ง กนอ.จะเร่งเดินหน้าการก่อสร้างโดยให้บริษัทเอกชนร่วมทุนดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานเป็นลำดับแรก ทั้งในส่วนของการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

รถไฟความเร็วสูง_ญี่ปุ่น.jpg

ร.ฟ.ท. ยันส่งมอบพื้นที่ 3 สนามบินทันตามแผน

หลังจากที่เซ็นสัญญาไปเมื่อเดือน ต.ค. 2562 กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ CPH สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการกว่า 2.24 แสนล้านบาท ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชน

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยืนยันว่าการส่งมอบพื้นที่จะดำเนินการได้ตามแผน โดย ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. จะสามารถเร่งส่งมอบพื้นที่ 1 ปี 3 เดือน หรือขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปี หลังลงนาม และช่วงสถานีดอนเมือง-พญาไท 22 กม. จะเร่งส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปี ส่วนสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ หรือช่วง Airport Rail Link ระยะทาง 28 กม. CPH เปิดเผยว่าจะชำระค่าเดินรถพร้อมโอนโครงการ 1 หมื่นล้านบาท ในเดือน ต.ค. 2564

สำหรับกำหนดเปิดบริการช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา คาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 2565 ส่วนช่วงดอนเมือง-พญาไท อาจล่าช้ากว่า หรือเปิดให้บริการได้ในช่วงประมาณปี 2567-2568

อู่ตะเภา.jpg

อู่ตะเภา ยังติดรันเวย์ 2

โครงการการล่าสุดที่ได้เซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 คือโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เงินลงทุนรวมกว่า 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการพัฒนาสนามบินและกิจกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ โดยมีกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบไปด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ

แต่ปัญหายังอยู่ที่โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ที่มีความยาว 3,500 เมตร ที่ยังไม่ผ่านผ่านขั้นตอนการออกแบบและจัดทำรายงาน EHIA เนื่องจากการออกหนังสือเริ่มต้นโครงการ หรือ NTP จะทำได้ กระบวนการของรันเวย์ที่ 2 จะต้องผ่าน EHIA ก่อน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกองทัพเรือ อย่างไรก็ตาม คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แสดงความมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา

ท่าเรือแหลมฉบัง

แหลมฉบังเฟส 3 รอเจรจาผลตอบแทน

ภายหลังที่ศาลปกครองสุดสุดกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 หรือ ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอฯ เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ดังนั้น ทุนใหญ่กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย กัลฟ์, พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จึงได้สิทธิดำเนินการ

ความคืบหน้าล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับกลุ่ม จีพีซี ในส่วนของผลตอบแทนแก่รัฐ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยอนุมัติราคากลาง อยู่ที่ 32,225 ล้านบาท แต่เอกชนเสนอมาต่ำกว่า ดังนั้นต้องกลับไปเจรจากับที่ปรึกษาทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ บอร์ด กพอ. แม้จะเปิดเจรจาผ่านมาแล้วหลายเดือนแล้วแต่จนถึงขณะนี้ยังไร้ข้อสรุป

การบินไทย สุวรรณภูมิ

ความหวังศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาเลือนลางสุด

ก่อนหน้านี้โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO เงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอร์บัสแสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุนกับการบินไทย แต่ก็ต้องพับแผนดังกล่าวออกไป ขณะที่การบินไทยก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย ซึ่งเป็นผลจากปัญหาโควิด-19 รวมถึงสถานะทางการเงินของบริษัทเองด้วย เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าโครงการนี้จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้

ซึ่งเลขาฯอีอีซี ยอมรับ ต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อนว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างไร แต่จะเน้นการเจรจากับเอกชนที่สนใจควบคู่ไปด้วย เพราะมั่นใจว่ายังมีหลายบริษัทแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายโครงการจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่แทบทุกโครงการก็ยังล่าช้ากว่าแผน ติดปัญหาผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว เพราะทั้งหมดเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาล

หากไม่นับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่ดูเหมือนว่าจะคืบหน้าไปมากที่สุด โครงการที่เหลือยังไม่ได้หมายความว่าจะสมบูรณ์เต็มร้อย เพราะยังไม่ได้มีการออกหนังสือเริ่มต้นโครงการ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าการเดินหน้าโครงการ โดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่จะเดินหน้าไปได้ทันกำหนด เพราะหากติดปัญหา หรือเกิดความล่าช้า อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อรัฐได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ 'ค่าโง่' ให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องปวดหัวอีก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :


ขวัญ โม้ชา
ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Voice Online
0Article
0Video
0Blog