วันที่ 23 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ว่า การกู้เงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากผิดรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รวมถึงพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่ทราบ เพราะต้องรอผู้ขี้ขาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลคดีอาญา
โดยตนมีข้อเสนอแนะ ถึง เศรษฐา ว่า ถ้าต้องการหาเงิน 5 แสนล้านบาท มาทำโครงการนี้ ยังมีเงินอยู่ 2 ก้อน คือ 1.ให้ นายเศรษฐาตรวจสอบ หรือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ซ.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงคณะกรรมการธุรกรรมของปปง. ว่า มีคคีทุจริต และการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบใดบ้าง ที่ศาลได้ตัดสินคดี ถือเป็นที่สิ้นลุดแล้วในรอบ 20 ปี ว่า มีทั้งหมดกี่คดี ซึ่งความผิดดังกล่าวเข้ามูลฐานความผิดตามพ.ร.บ.ปปง. ปี 2542 มาตรา 3 (5) ที่ระบุว่า ความผิดมูลฐานคือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
ชาญชัย กล่าวต่อว่า ตนเคยศึกษา และทำคดีตัวอย่างให้รัฐบาลอายัดยึดทรัพย์ในคดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่มีมูลค่า 9,058 ล้านบาทว่า เข้าข่ายความผิดฐานทุจริตในสมัยรัฐบาลพล. อ.ประยุทธ์ จันทร์โอซา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมีพล.อไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น คุมหน่วยงาน ปปง. อยู่ และมีคณะอนุกรรมาธิการการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธาน ได้ศึกษาคดีที่ศาลฎีกาตัดสินแล้วว่า มีความผิดก่อให้เกิดความเสียหาย แต่กลับไม่มีการบังคับคดีตามกฎหมายให้เกิดการอายัดยึดทรัพย์ตามมูลฐานความผิด ม.3(5) ของพ.ร.บ.ปปง. จึงนำคดีนี้เข้าสู่กฎหมายปปง. ตามมูลฐานความผิดการฟอกเงิน โดยคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ส่งเรื่องฟ้องศาล ซึ่งต่อมาศาลฎีกา (แพ่ง) ได้มีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ผู้ทำความผิด แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้ชำระเงิน 9,058 ล้านบาทให้ก็ตาม
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลฎีกา (แพ่ง) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 หน้าที่ 12 ระบุชัดว่า 'แสดงว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวซ้องกับเอกชนที่เกี่ยวกับคดีนี้ว่า ได้กระทำความผิดมูลฐานที่จะรับเงินได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน' ศาลฎีกา (แพ่ง) จึงมีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ในคดีดังกล่าว และถือเป็นบรรทัดฐานที่จะใช้การยึดอายัดทรัพย์ตามมูลฐานความผิด ม.3 (5) ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต หรือการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ
ชาญชัย กล่าวอีกว่า ถ้านำคดีการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ ในรอบ 20 ปี นับแต่ปี 2540 ตั้งแต่มีกฎหมาย ป.ป.ช.บังคับใช้ มีเงินทุจริตจากมูลฐานความผิดสามารถอายัดยึดทรัพย์เข้ารัฐได้ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หากรวมทุกคดี
ชาญชัย กล่าวย้ำว่า ถ้า นายกฯ อยากได้เงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่ได้หาเสียงเป็นสัญญาประชาคม โดยไม่ต้องกู้เงิน ก็ให้นายกฯ บังคับใช้กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน สั่งอายัดยึดทรัพย์โดยเฉพาะคดีทุจริตที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หรือที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว รวมทั้งมูลฐานความผิดอื่นตามกฎหมาย ปปง. ซึ่งตนจะรวบรวมตัวเลขการทุจริตของคดีต่างๆ ส่งให้นายกฯ ไปดำเนินการสั่งอายัด และยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีแผ่นดิน ให้กลับคืนมาใช้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้
"ผมเคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่า มีการทุจริตที่เคยตรวจสอบในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ว่า คดีทุจริตต่างๆสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ มีมูลค่าเสียหายมากกว่า 4.5 แสนล้านบาท จึงอยากให้นายกฯ ไปเอาเงินที่โจรปล้นเงินแผ่นดินมาตลอด 20 ปี ตามเอาเงินส่วนนี้ ท่านจะไม่ถูกครหาว่า เข้ามาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ เพื่ออะไร อีกทั้งการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน ต้นเหตุมาจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองทุกระดับเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น" ชาญชัย กล่าว