กิจกรรมเสวนา “เลือกตั้งครั้งนี้...รัฐสวัสดิการต้องมา” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้เชิญพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ต่อเรื่องรัฐสวัสดิการ นำโดย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ , นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ , นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกียน , นายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา , นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนอนาคตใหม่ และ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนพรรคสามัญชน
โดยตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาชน ในการผลักดันเรื่องบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับทุกคน พร้อมกับผลักดันกฎหมายขึ้นมารองรับเพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้และสร้างความเสมอภาคให้กับประชาชน รวมไปถึงการแสดงความเห็นด้วยกับการจัดระบบรัฐสวัสดิการ เพื่อดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน รวมไปถึงได้เสนอให้มีการพิจารณาสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการด้านต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนและลดการใช้งบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น
โดย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจะจัดการเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในระยะยาว ดังนั้นจึงควรมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมารองรับเพื่อให้เกิดความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องบำนาญถ้วนหน้าซึ่งเป็นเรื่องการดูแลประชาชน เพื่อไม่ให้ใครมายกเลิกง่ายๆ โดยพรรคเพื่อไทย ได้จัดทำนโยบายด้านสังคม ความมั่นคงของมนุษย์และแรงงาน ซึ่งได้เตรียมยกร่าง พรบ.บำนาญประชาชนใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะพิจารณาร่วมกับร่างกฎหมายฉบับของประชาชนและองค์กรต่างๆ เพื่อปรับแก้ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชน
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เห็นว่า ควรมีการปฏิรูปการจัดเก็บงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยจะต้องมีสถาบันอิสระที่เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณแทนการจัดสรรงบประมาณโดยส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียวเหมือนในอดีต
ด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกียน ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากและควรจัดสรรให้กับเรื่องที่มีความจำเป็นก่อน อาทิ ขณะนี้ประชาชนกำลังตกอยู่ในภาวะยากจนก็ควรแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ก่อน อย่างเช่นเรื่องงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม ในวันที่ประชาชนลำบากยากจนอยู่ หากกระทรวงกลาโหมจะจัดซื้ออาวุธก็ควรมาจากรายได้ของตัวเอง เช่น การปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของกระทรวงกลาโหม เพื่อใช้สร้างรายได้ แล้วนำรายได้ในส่วนนี้ไปซื้ออาวุธ ไม่ควรใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน