ไม่พบผลการค้นหา
กำลังเป็นกระแสร้อนแรงอีกระลอกสำหรับเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย หลังก่อนหน้านี้ชะลอออกไปก่อนเพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19สำหรับคำถามพื้นฐานของเรือดำน้ำไทย คือ การมีเรือดำน้ำเป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้เพื่อนบ้านเกรงใจใช่หรือไม่ ไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีเรือดำน้ำ และทำไมกองทัพเรือถึงติดขัดเรื่องซื้อเรือดำน้ำมาโดยตลอด

ในธรรมชาติของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ มีภาวะที่เรียกว่า “Security Dilemma" ซึ่งหมายถึงภาวะหวาดระแวงหรือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคง โดยรัฐหนึ่งสร้างความมั่นคงของตนด้วยการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์และขยายแสนยานุภาพทางการทหารซึ่งกลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อรัฐเพื่อนบ้านหรือรัฐคู่พิพาทอื่น ความหวาดระแวงพะวักพะวงและกลัวที่จะเสียเปรียบในแง่ดุลกำลังรบ ส่งผลให้รัฐที่ถูกคุกคามแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับด้วยการขยายอำนาจทางทหารเพื่อถ่วงดุลตอบโต้รัฐที่ขยายแสนยานุภาพก่อน 

ในระบบความมั่นคงโลก ภาวะ Security Dilemma ถือเป็นเรื่องปกติ เช่น การแข่งขันสะสมอาวุธยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น การแข่งขันเพิ่มยุทโธปกรณ์ระหว่างอิรักกับอิหร่านตรงอ่าวเปอร์เซีย หรือ การเพิ่มกำลังรบของรัฐอาเซียนอย่างการมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและเมียนมา ซึ่งย่อมกระทบชิ่งหรือกระตุ้นให้กองทัพเรือไทยต้องจัดซื้อเรือดำน้ำตามเพื่อเพิ่มอำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบและใช้เป็นยุทธศาสตร์ป้องปรามเพื่อนบ้านหากเกิดความขัดแย้งทางทะเลขึ้นในอนาคต ประเด็นนี้เห็นได้ชัดจากการตั้งโต๊ะแถลงข่าวของกองทัพเรือที่ให้เหตุผลว่า 5 ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมีเรือดำน้ำกันหมดแล้ว แต่ประเทศไทยไม่มีเรือดำน้ำมานานถึง 69 ปี ซึ่งหากมีการล่วงล้ำอธิปไตยหรือเกิดการปะทะทางทหาร ไทยจะไม่มีกำลังที่เข้มแข็งพอในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล 

วิธีคิดแบบนี้ทำให้กองทัพในภูมิภาคอาเซียนหรือในหลายภูมิภาคทั่วโลกต่างตกอยู่ในวังวนแห่งภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกด้านความมั่นคง เพราะหากรัฐใดรัฐหนึ่งเริ่มเข้มแข็งทางการทหาร รัฐนั้นอาจทำการรุกรานรัฐคู่พิพาทได้เพราะรัฐนั้นคิดว่าฝ่ายตนต้องรบชนะเนื่องจากมีแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า ฉะนั้น รัฐที่ถูกบีบคั้นทางยุทธศาสตร์จากรัฐที่สะสมอาวุธขึ้นก่อน จึงต้องเร่งสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ตามเพื่อไม่ให้เสียเปรียบรัฐตรงข้ามมากนัก

จากวิธีคิดดังกล่าว เรือดำน้ำซึ่งเป็นเรือรบที่มีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาเรือรบด้วยกัน เป็นอาวุธที่มองไม่เห็น ตรวจจับยาก มีวิถีปฏิบัติการระยะไกลและมีอำนาจทำลายล้างสูง จึงสามารถสร้างความยำเกรงให้กับฝ่ายตรงข้ามได้และถูกใช้เป็นตัวชี้วัดแสนยานุภาพของกำลังรบทางทะเล เพียงแต่ว่าเมื่อเรือดำน้ำถูกผนวกเข้าไปอยู่ในวิธีคิดแบบ Security Dilemma ก็ย่อมมีการวิเคราะห์แนวโน้มฉากทัศน์ (Scenario) ที่ตามมาหลายรูปแบบ เช่น อาจไม่มีสงครามเกิดขึ้นเพราะไม่มีรัฐคู่พิพาทใดที่กล้าชิงโจมตีก่อนเนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะรบชนะอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีอำนาจการทหารพอๆกัน (เช่น มีเรือดำน้ำที่มีจำนวนและสมรรถนะการรบที่ใกล้เคียงกัน) กรณีนี้จึงถือว่ารัฐคู่พิพาทได้ใช้ยุทธศาสตร์ป้องปรามเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามได้เป็นผลสำเร็จเพราะสามารถทำให้คู่พิพาทเกรงใจหรือหวาดระแวงไม่กล้าชิงโจมตีก่อน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภาวะ Security Dilemma ย่อมนำมาสู่วัฏจักรแห่งความขัดแย้งไม่รู้จบและไม่เป็นผลดีนักต่อการบูรณาการรวมกลุ่มในภูมิภาค เพราะต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกันพร้อมมุ่งแต่สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์จนกระทบต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจหรือการกระชับความร่วมมือกันในมิติอื่น

หากพินิจตามกรอบ Security Dilemma การซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ตามธรรมชาติของระบบยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลต่อจิตวิทยาประชาชน คือ การรับรู้ประเด็นจัดซื้อเรือดำน้ำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและสถานการณ์โรคระบาดโควิด จึงทำให้น้ำหนักเรื่องความจำเป็นในการจัดซื้อถูกลดค่าลงโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของตัวแทนกองทัพเรือที่เน้นเรื่องความมั่นคงในเขตทะเลจีนใต้ที่ไทยไม่ใช่รัฐพิพาทหลักก็ทำให้สื่อมวลชนและประชาชนบางส่วนมองไม่เห็นความชัดเจนในการมีเรือดำน้ำเท่าไหร่นัก อันที่จริง การโน้มน้าวจิตวิทยาประชาชนอยู่ที่ศิลปะการสื่อสารเจรจาของตัวแทนกองทัพเรือด้วย เหตุผลหลักๆ คือ มีเรือดำน้ำไว้รบกับใคร หรือถ้าไม่รบแล้วจะมีไว้เพื่อป้องปรามใครหรือทำให้เพื่อนบ้านที่ไหนต้องมาเกรงใจ ในส่วนนี้ วิธีคิดแบบ Security Dilemma มีคำตอบชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้วซึ่งทัพเรือก็ได้แถลงเหตุผลตามกรอบวิธีคิดแบบนี้ไปก่อนหน้าแล้ว แต่การนำเรื่องสมรรถนะของเรือดำน้ำเพื่อเข้าไปป้องกันผลประโยชน์ชาติทางทะเลที่มีนัยสำคัญในแง่เศรษฐกิจและอำนาจอธิปไตยควรจะถูกขับเน้นให้ชัดกว่านี้เพราะเป็นประเด็นที่ถูกเถียงกันในช่วงที่ไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจพอดี และถ้าพูดกันตรงๆ ต้องยอมรับว่า ไทยมีความขัดแย้งทางทะเลกับกัมพูชาและเวียดนามในน่านทะเลอ่าวไทยและยังมีข้อพิพาทเขตแดน เช่น เกาะหลาม เกาะคันและเกาะขี้นกตรงทะเลอันดามันกับเมียนมา ซึ่งทั้งเวียดนามและเมียนมาล้วนมีเรือดำน้ำไว้ครอบครองกันหมดแล้ว ฉะนั้น การถูกปิดล้อมกดดันโดยรัฐที่มีอานุภาพเรือดำน้ำที่สูงกว่าทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ ก็ถือเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอตัวอยู่แล้วในการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่กระนั้นก็ตาม ประเด็นนี้กลับไม่โดดเด่นนักในความรับรู้ของประชาชนเพราะถูกประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้บดบัดตีกลบไป 

นอกจากนั้น เรื่องซื้อเรือดำน้ำยังไปสัมพันธ์กับกระบวนการจัดซื้อจากประเทศจีน ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาในแง่ที่ว่า จีนเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมแค่ไหนในแง่ตลาดจัดซื้อเรือดำน้ำเพราะจีนยังไม่ใช่รัฐที่ชำนาญเรื่องการทำสงครามเรือดำน้ำ (Submarine Warfare) เหมือนสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมัน ฯลฯ แถมยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีเรือดำน้ำจีนเข้าประจำการในไทยซึ่งแตกต่างจากเมียนมาที่นำเรือดำน้ำจากอินเดียเข้าประจำการไปเรียบร้อยแล้วจึงส่งผลให้เมียนมามีดุลกำลังรบทางทะเลที่พุ่งสูงขึ้นแบบรวดเร็ว ขณะที่ไทยยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเติมดุลเรื่องเรือดำน้ำให้ทัดเทียมเมียนมา ดังนั้น ความล่าช้าในการรับเรือดำน้ำเข้าประจำการและเรื่องคุณภาพเรือดำน้ำจีน จึงยังเป็นที่กังขากันอยู่ ซึ่งไม่เพียงแต่ในกลุ่มประชาชนหรือกลุ่มการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว แม้แต่ในหมู่นักการทหารและนักยุทธศาสตร์ทางทะเลด้วยกันแล้ว ก็มีความกังขาในเรื่องนี้

การซื้อเรือดำน้ำไทยที่ดูยากเย็นยาวนานแสนเข็ญ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัจจัยตัวแปรมากมายที่เข้ามาเกี่ยวโยงพัวพัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าชั้นเชิงการสื่อสารสาธารณะเพื่อโน้มน้าวประชาชนบนหลักเหตุผลที่หนักแน่นหรือการระมัดระวังไม่ให้ข้อเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักเข้าไปเบี่ยงประเด็นหรือข่มขวัญแทนที่ข้อเหตุผลที่มีน้ำหนักกว่า ถือเป็นกลยุทธ์ที่ตัวแทนกองทัพเรือต้องรีบปรับปรุงแบบเร่งด่วน 

แม้กองทัพเรือจะยังได้เปรียบในวิธีคิดแบบ Security Dilemma หรือจะแจ้งว่าการซื้อเรือดำน้ำเป็นงบประมาณในส่วนกองทัพเรือเอง แต่ถ้าหาก ทร. สื่อสารต่อสาธารณชนไม่ตรงจุดและการสื่อสารนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่จิตวิทยาประชาชนโฟกัสไปที่เรื่องปากท้องหรือเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความไม่ราบรื่นสะดุดติดขัดในกระบวนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งที่ผ่านมา กองทัพเรือไทยเผชิญกับวังวนของทางแพร่ง หรือ Dilemma เช่นนี้มาโดยตลอด

 

 

 

 

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบ เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเมืองและกองทัพเมียนมา
0Article
0Video
3Blog