ผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่สามารถกินได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ในประเทศไทยก็เคยมีรายงานข่าวการจับกุมผู้ผลิตและจำหน่าย 'บราวนี่กัญชา' มาแล้วหลายครั้ง แต่กรณี 'เยลลี่กัญชา' เพิ่งเป็นข่าวดังหลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์เตือนภัย พาดพิงถึงรุ่นพี่และนักแสดงชายชื่อดังคนหนึ่งว่าเป็นผู้ล่อหลอกให้นักศึกษาฝึกงานหญิงจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกิน 'ขนม' จนเกิดอาการมึนเมา เข้าข่าย 'มอมยา' ช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
จากนั้น สื่อไทยหลายสำนักได้เผยแพร่ภาพขนมดังกล่าวโดยระบุว่าเป็น 'เยลลี่กัญชา' ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องย้ำว่า การนำเข้ามาในประเทศไทยและการครอบครองผลิตภัณฑ์ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้ว่าไทยจะอนุญาตให้ผลิตและสกัดสารในกัญชามาทำเป็นผลิตภัณฑ์บางประเภทได้แล้ว แต่ก็ยังต้องถูกควบคุมโดยหน่วยงานรัฐ เพราะเป้าหมายหลักคือการสกัดสาร CBD ในกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่ 'เยลลี่กัญชา' มีส่วนผสมของ THC ซึ่งเป็นสารอีกตัวหนึ่งในกัญชา มีฤทธิ์ให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม กดประสาท
อย่างไรก็ตาม การซื้อหาผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่รับประทานได้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหลายประเทศทั่วโลกอนุญาตให้ผลิตและซื้อขายได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ด้านสันทนาการ ทำให้การซื้อหามีอยู่หลายช่องทาง เช่น กรณีที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังประเทศที่เปิดเสรีกัญชา และซื้อเพื่อนำเข้ามายังไทยโดยไม่ได้สำแดงแก่เจ้าหน้าที่ขณะกลับประเทศ ก็มี 'ช่องโหว่' ให้กระทำได้ ทั้งยังสามารถสั่งซื้อจากเว็บไซต์ต่างประเทศให้ส่งมายังไทยก็ได้เช่นกัน
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะถูกพัฒนาให้มีสีสันและลักษณะน่ารับประทาน ตลอดจนปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภค แต่ก็ถือเป็น 'ภัยเงียบ' ที่อันตรายต่อสุขภาพหากบริโภคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แคนาดาและรัฐโคโลราโดในสหรัฐอเมริกา เป็นกรณีตัวอย่างของพื้นที่ที่เปิดเสรีกัญชาไปแล้ว แต่ก็ยังต้องคอยศึกษาผลกระทบที่ตามมาอย่างใกล้ชิด เพราะสื่อต่างประเทศรายงานว่า สถิติผู้ถูกส่งตัวไปยังห้องฉุกเฉินด้วยอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับกัญชามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เว็บไซต์ Science News รายงานว่า หลังจากรัฐโคโลโดของสหรัฐฯ เปิดเสรีกัญชาเมื่อปี 2012 สถิติของผู้ป่วยที่เสพกัญชาและมีอาการป่วยจนต้องส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล คิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของเหตุฉุกเฉินทั้งหมด 2,567 เคส ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2013-2016 และการบริโภคผลิตภัณฑ์จากกัญชา เป็นสาเหตุของอาการป่วย 15 เปอร์เซ็นต์ของเคสที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องในแต่ละปี
ส่วน The Globe and Mail สื่อของแคนาดา รายงานว่าผลิตภัณฑ์ผสมสารจากกัญชาแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของประชาชน และอาจเป็นอันตรายต่อเยาวชนได้ โดยล่าสุด ขนมผสมกัญชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกอม เยลลี่ หรือคุกกี้ ได้ถูกนำไปให้เด็กและเยาวชนที่เดินเคาะประตูบ้านขอขนมช่วงเทศกาลฮาโลวีนเมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้สื่อเผยแพร่ข้อมูลเตือนประชาชนว่า การรับประทานขนมผสมกัญชานั้นอันตรายกว่าที่คิด
The Globe and Mail รายงานว่า ผู้ใช้กัญชาด้านสันทนาการจำนวนมาก 'ลงเอยที่โรงพยาบาล' เพราะบริโภคขนมผสมสาร THC จากกัญชามากเกินไป เพราะการกินทำให้สารจากกัญชาออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบหรือสูดไอควันระเหย โดยอาจต้องใช้เวลานานประมาณ 30-90 นาทีหลังจากที่รับประทานเข้าไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ด้วย เช่น การบริโภคกัญชาขณะท้องว่าง มีผลให้การดูดซึมสู่ร่างกายแตกต่างจากการบริโภคกัญชาหลังอาหาร
การที่สาร THC จากกัญชาไม่ออกฤทธิ์ต่อผู้บริโภคทันที ทำให้หลายคนรับประทานขนมผสมกัญชาเพิ่ม ประกอบกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้มีรสชาติอร่อย กินง่าย และมีสีสันสดใส นำไปสู่การบริโภคเป็นจำนวนมาก เมื่อสาร THC ออกฤทธิ์จึงทำให้ผู้บริโภคย่ำแย่และล้มป่วย
ทั้งนี้ การบริโภคกัญชามากเกินขนาดอาจส่งผลกดประสาทขั้นรุนแรง กระทบต่อสมรรถภาพหัวใจ ทำให้วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ตื่นตระหนก หวาดระแวง มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน กระสับกระส่าย และวิตกกังวล
กัญชาที่รับประทานเข้าไปมีฤทธิ์ตกค้างในร่างกายของผู้บริโภคนานประมาณ 12-24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่านานกว่าการเสพในรูปแบบอื่นๆ และอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพราะผู้ที่บริโภคกัญชานอกเวลางาน เช่น ตอนกลางคืนหรือหลังเลิกงาน อาจยังไม่กลับคืนสู่สภาพปกติในช่วงที่ต้องทำงานในระยะเวลาต่อมา
พนักงานในบริษัทที่ต้องตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำมักไม่ทราบว่า การตรวจปัสสาวะจะเป็นผลบวกถ้ารับประทานผลิตภัณฑ์กัญชาอยู่เป็นประจำ และการรับประทานกัญชาก่อนเข้าทำงานที่ต้องอาศัยความปลอดภัยขั้นสูงอาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะผู้ปฏิบัติงานไม่อยู่ในสภาพที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะและควบคุมเครื่องจักร
สื่อแคนาดาเตือนว่า ผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์กัญชาควรตระหนักถึงภัยร้ายแรงต่อสุขภาพที่จะเกิดจากการบริโภคกัญชาเกินขนาด และต้องศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์จากกัญชาก่อนรับประทาน โดยจะต้องดูว่าปริมาณสาร THC ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และต้องปฏิบัติตามคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด
ปัจจุบัน มี 4 ประเทศที่ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดผิดกฎหมาย และมีนโยบายเปิดเสรีกัญชา อนุญาตให้มีการผลิต ซื้อขาย ครอบครอง และใช้งานกัญชาเพื่อสันทนาการและประโยชน์ทางการแพทย์แล้วทั่วทั้งรัฐ ได้แก่ อุรุกวัย จอร์เจีย เซาท์แอฟริกา และแคนาดา ส่วนนิวซีแลนด์ลงประชามติรับรองการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการแล้วในปีนี้ แต่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า (2020)
นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ อีกราว 30 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการและประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ยังไม่ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดผิดกฎหมาย และอีกบางประเทศผ่อนผันให้ปลูกกัญชาได้เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ในทางนิตินัยจะยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย เช่น โมร็อกโก ขณะที่อีกบางประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้
ส่วนกรณีของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกลางเปิดให้แต่ละรัฐบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกัญชาแตกต่างกันไป ทำให้ 11 รัฐ 'ปลดล็อกกัญชา' นำไปสู่การเริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา และรัฐหารายได้จากการเก็บภาษีอีกต่อหนึ่ง แต่อีก 33 รัฐอนุญาตเฉพาะการใช้กัญชาทางการแพทย์ และยังไม่ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่อง 'คาเฟ่' ที่ให้บริการผลิตภัณฑ์กัญชามานานแล้วอย่าง 'เนเธอร์แลนด์' ยังระบุว่า กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย แต่ผ่อนผันให้ร้านหรือผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาได้ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าภายในร้าน และอนุญาตให้บุคคลครอบครองกัญชาได้ไม่เกิน 5 กรัม เช่นเดียวกับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ 5 ต้นเพื่อใช้ส่วนตัว
ที่มา: Business Insider/ The Globe and Mail/ The Guardian/ World Population Review
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: