ไม่พบผลการค้นหา
กทม. ปลื้ม กิจกรรม ‘บ้านนี้ไม่เทรวม’ ไดร์ฟทรูรับขยะ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่งขยะคืนสู่ระบบ ลดการฝังกลบได้ถึง 2,144.2 กิโลกรัม

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความสำเร็จกิจกรรม “บ้านนี้ไม่เทรวม” ชวนเคลียร์บ้าน คัดแยกและส่งต่อขยะคืนสู่ระบบ ส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ประโยชน์โดยไม่ทิ้งรวม ภายใต้แนวคิดของทุกอย่างมีทางไป สนับสนุนนโยบายการจัดการขยะตามนโยบายไม่เทรวม ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand และภาคีเครือข่ายโครงการมือวิเศษกรุงเทพ จัดขึ้นที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา 

504823_0.jpg

โดยสามารถส่งขยะคืนสู่ระบบ ลดการฝังกลบได้ถึง 2,144.2 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะรีไซเคิลนำกลับไปใช้ประโยชน์ 454.2 กิโลกรัม และขยะกำพร้าส่งทำพลังงาน 1,690 กิโลกรัม นับว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือจากประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ในการคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เป็นการเพิ่มมูลค่าของสิ่งของเหลือใช้ต่าง ๆ ทั้งวัสดุรีไซเคิลและขยะเศษอาหาร ซึ่งเมื่อเราคัดแยกแล้วส่งต่อไปยังภาคเอกชน ภาคเอกชนก็จะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้คัดแยกและผู้รับ อีกทั้งช่วยลดปริมาณขยะที่กรุงเทพมหานครต้องนำไปกำจัด ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ประหยัดงบประมาณและสามารถนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในการพัฒนาการศึกษา การสาธารณสุข และด้านอื่น ๆ ต่อไป

504839_0.jpg

สำหรับกิจกรรม “บ้านนี้ไม่เทรวม” จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า ต่อยอดและขยายผลโครงการ “ไม่เทรวม” ภายใต้กลยุทธ์ “มือวิเศษต้องไม่เทรวม” สนับสนุนนโยบายส่งขยะคืนสู่ระบบ เพื่อใช้ประโยชน์แทนการฝังกลบ ส่งเสริมจุดรับคืนขยะครบวงจร เพื่อการรีไซเคิลและการนำเป็นเชื้อเพลิงขยะในรูปแบบกรีนอีเวนท์ รวมทั้งสื่อสารให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการปรับค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะ ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการคัดแยกขยะที่ต้นทาง เสริมพลังกลุ่มพลเมืองตื่นรู้ หรือ Active Citizen ให้เป็นแบบอย่างที่ดี และสื่อสารเพื่อขยายผลการมีส่วนร่วมในโครงการธนาคารอาหาร (BKK Food Bank) โดยประชาชนได้ส่งขยะและบริจาคสิ่งของ 3 จุด แบ่งเป็น 

1. จุดรับขยะรีไซเคิล เข้ากระบวนการรีไซเคิลนำมากลับมาใช้ใหม่ อาทิ กระป๋องอลูมิเนียม แก้ว กระดาษ ขวดพลาสติก พลาสติกฟิล์มยืด กล่องยูเอชที กล่องข้าวที่เข้าไมโครเวฟได้ และขยะอันตราย อาทิ ถ่านไฟฉาย มือถือ พาวเวอร์แบงก์ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ขวดสเปรย์ เครื่องสำอาง กระป๋องสารเคมี ยาหมดอายุ 

2. จุดรับขยะกำพร้า ส่งทำพลังงานแทนการฝังกลบ ซึ่งจะส่งไปเผาร่วมกับถ่านหินในเตาเผาควบคุมมลพิษ เช่น แก้วกาแฟพลาสติก หลอด กล่องอาหารกรอบแกรบ ถุงวิบวับโฟม ผ้าขี้ริ้ว เสื้อผ้า/รองเท้าเก่า กางเกงใน/ชุดชั้นในสตรีเก่า กระดาษเปื้อน โดยไม่รับพวกโลหะ กระเบื้อง ท่อ PVC 

3. จุดรับธนาคารอาหาร Food Bank รับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง ของใช้ครัวเรือน ยาสามัญประจำบ้าน เสื้อผ้ามือสอง เครื่องเขียน ตุ๊กตา ของเล่น เครื่องใช้สำนักงาน ช้อนส้อมพลาสติกที่ยังไม่ได้แกะใช้ ซองเครื่องปรุงที่ยังไม่หมดอายุ เป็นต้น

504841_0.jpg

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ภาคีเครือข่ายโครงการมือวิเศษกรุงเทพ N 15 Technology, Wake up Waste, Waste buy Delivery, Recycle Day, Bangkaya (บางขยะ), Ecolife, ShinMaywa, Food Bank จากสำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตดินแดง ที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนและบุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการคัดแยกสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการรีไซเคิล

504844_0.jpg