ไม่พบผลการค้นหา
ภาพทหารรัสเซียนับแสนนายที่ถูกส่งเข้าประชิดพรมแดนของยูเครนพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายคือสิ่งที่สร้างความวิตกให้กับทั้งโลกถึงภาพการ 'บุกยึด' ยูเครนที่เริ่มจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังผู้นำรัสเซียไม่มีทีท่าจะผ่อนคลายความตึงเครียด

สถานการณ์ชัดเจนมากขึ้นเมื่อ 'ชาติพันธมิตรนาโต้' เริ่มมีความเคลื่อนไหวส่งทั้งเรือรบและเครื่องบินขับไล่เข้าประจำการในหลายพื้นที่ ขณะที่ชาติมหาอำนาจอย่าง 'สหรัฐฯ' ก็ออกโรงประกาศให้ทหารอเมริกันร่วม 8,500 นายเตรียมความพร้อมในระดับสูงรอเคลื่อนกำลังไปยังยุโรปตะวันออกเพื่อรับมือกับรัสเซียตามคำสั่งของนาโต้ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่าง รัสเซียและยูเครนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่รอวันปะทุ 

คำถามคือ 'ความขัดแย้งที่รุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?'

'ยูเครน' ประเทศที่มีขนาดราว 1.2 เท่าของไทย ครั้งหนึ่งเคยเป็น 1 ใน 15 รัฐสมาชิกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต หรือ 'สหภาพโซเวียต' และแยกตัวสำเร็จจนกลายเป็นชาติที่มีอธิปไตยของตัวเองในปี 2534 

ในช่วงเวลานั้นยูเครน อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับลิทัวเนีย ลัทเวีย และเอสโตเนีย ที่เลือกประกาศเอกราชทันที ไม่ต้องการอยู่กับรัสเซียในสหภาพโซเวียตต่อไปและต้องการสานสัมพันธ์กับ 'นาโต้' หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organzation : NATO และชาติตะวันตก ตรงกันข้ามกับอีก 10 รัฐที่เหลือซึ่งต้องการอยู่ข้างรัสเซียและสหภาพโซเวียตต่อ

ความรุนแรงที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมีขึ้นช่วงปลายปี 2556 เมื่อ 'วิกตอร์ ยากูโนวิช' ประธานาธิบของยูเครนในขณะนั้น ผู้ซึ่งเป็นผู้นำที่ฝักไฝ่รัสเซียได้ปัดตก ไม่ยอมเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงทางการเมืองและการค้ากับทางสหภาพยุโรป ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจอย่างมาก มีการรวมตัวกันชุมนุมประท้วงในกรุงเคียฟของยูเครนก่อนจะโค่นรัฐบาลสำเร็จ

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เพิ่มความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกันก็คือการที่ 'สาธารณรัฐไครเมีย' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรไครเมียทางตอนใต้ของยูเครนได้ประกาศตนเป็น 'ส่วนหนึ่งของรัสเซีย' หลังการทำประชามติที่ชาติตะวันตกไม่ได้ให้การยอมรับเพราะมองว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น นำไปสู่การรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในที่สุด 

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนแสดงตน 'อยู่ข้างรัสเซีย'

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างผลกระทบแบบต่อเนื่องเมื่อภูมิภาคดาเนียตสก์ และลูกานสก์ ได้ตัดสินใจจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากยูเครนในช่วงเวลาเพียงสองเดือนหลังจากนั้น 'เพื่อหาข้อยุติให้กับพื้นที่ข้อพิพาท' เกิดการสู้รบกันกับกองกำลังของยูเครนที่ได้รับการฝึกฝนทางการทหารจากชาติตะวันตกอย่างยืดเยื้อ นำไปสู้ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง 

สหประชาชาติรายงานว่าหลังเดือน มี.ค.2557 มีพลเรือนในยูเครนตะวันออกเสียชีวิตรวมกันไม่น้อยกว่า 3,000 ราย และแม้มีข้อตกลงการหยุดยิงก็เกิดการฝ่าฝืนขึ้นอยู่หลายครั้งด้วยกัน ถือเป็นการฝ่าฝืน 'สนธิสัญญาสันติภาพ' ของยูเครนและรัสเซียที่มีขึ้นในกรุงมินสค์ของเบลารุสในปี 2558 ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสและเยอรมนี


ปูตินย้ำชัด 'ไม่ต้องการบุกยูเครน'

ภาพถ่ายทางอากาศที่เผยแพร่ตามหน้าสื่อในขณะนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัสเซียกำลังเดินหน้ารวบรวมกำลังพลตามบริเวณชายแดนของยูเครนซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 100,000 นาย และสหรัฐฯ คาดการว่าอาจเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมทั้งมีการจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่จำนวนมากในพื้นที่ที่อยู่ในรัศมีที่กองทัพรัสเซียสามารถยิงเข้าใส่ยูเครนได้ และเดินหน้าซ้อมรบทางทะเลอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน

รัสเซีย ปูติน เอเอฟพี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียยังคงยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่มีความต้องการในการบุกยูเครนแต่อย่างใด แต่การที่ชาติตะวันตกส่งความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปในยูเครนทำให้รัสเซียมองว่านี่คือการรุนรานเช่นเดียวกัน


ในสายตาและความคิดของปูติน ประชาชนของรัสเซียและยูเครนคือ 'คนกลุ่มเดียวกัน' 

สิ่งสุดท้ายที่ปูตินต้องการก็คือการยอมให้ยูเครนกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของ 'นาโต้' หนามแทงใจของผู้นำรัสเซียที่ปัจจุบันมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้นถึง 30 ชาติสมาชิก จำนวนไม่น้อยคือ 'อดีตรัฐสมาชิกของสหภาพโซเวียต' 

และด้วยที่ตั้งของยูเครนซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญขวางกั้นระหว่างรัสเซียและยุโรปอยู่นั้น ยิ่งเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าทำไมรัสเซียจะทำทุกอย่างเพื่อขัดขวาง 'สมาชิกภาพนาโต้' ที่ยูเครนต้องการได้ให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวล่าสุดจากฝั่งนาโต้พบว่า ยังไม่มีความพยายามที่จะให้สถานะการเป็นสมาชิกกับยูเครนในอนาคตอันใกล้


ไบเดนทุ่มงบ 200 ล้านดอลลาร์ช่วย 'ยูเครน'

ในเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ อนุมัติงบประมาณ 200 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้กับยูเครน โดยในวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา "แพ็คเกจทางการทหาร" ที่มีน้ำหนักรวมถึง 90 ตันถูกส่งถึงยูเครนแล้วอย่างเป็นทางการ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนกองทัพของประเทศยูเครนที่มีความพยายามปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตนจากการรุกรานของประเทศรัสเซียต่อไป

จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในวันที่ 24 ม.ค.ว่าขณะนี้รัสเซียไม่มีทีท่าว่าจะลดความตึงเครียดของสถานการณ์ลง โดยรัสเซียมีการเคลื่อนกำลังอยู่ตามแนวพรมแดนของยูเครนพร้อมจัดเตรียมอาวุธขนาดใหญ่ในรัสมีที่พร้อมโจมตี 

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทหารอเมริกันจะถูกส่งไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังตอบโต้นาโต้เมื่อใด โดยจะมีการแจ้งรายละเอียดภายหลัง และหากมีการเรียกรวมกำลังพลในยุโรปตะวันออกขึ้นจริง การส่งทหารอเมริกันเข้าร่วมกับชาติพันธมิตรเพื่อรับมือกับรัสเซียจะเป็นคำสั่งของนาโต้ ไม่ใช่คำสั่งของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ช่วงบ่ายของวันที่ 24 ม.ค. โจ ไบเดน ได้เข้าร่วมการประชุมผ่านทางวิดีโอกับผู้นำประเทศของยุโรปเพื่อปรึกษาหารือและเตรียมความพร้อมในฐานะชาติพันธมิตรท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางการทหารของรัสเซียที่ไม่หยุดนิ่ง โดยไบเดนให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่าผู้นำทุกชาติต่างมีมติที่เป็น 'เอกฉันท์' ร่วมกันพร้อมเผยว่า "การประชุมเป็นไปอย่างดีมาก มาก มาก มาก!"

ไบเดน ปูติน


รัสเซียต้องรับผิดชอบหากเกิดการรุกราน

ตัวแทนทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ และยุโรปได้ปรึกษากันในประเด็นการวางแผนการออกมาตรการที่รุนแรงต่อรัสเซีย หนึ่งในนั้นคือมาตรการทางเศรษฐกิจที่รุนแรง เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อการกระทำในครั้งนี้ ขณะที่ เจน สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต้ระบุหลังการประชุมผู้นำว่า "เรามีความเห็นตรงกันว่าความรุนแรงของรัสเซียที่มีต่อยูเครนหลังจากนี้จะต้องมีผลกระทบที่รุนแรงตามมา"

ความกังวลว่ารัสเซียจะบุกยูเครนมีมากยิ่งขึ้น จนขณะนี้ทางนาโต้ได้ประกาศเพิ่มกำลังทหารเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในยุโรปตะวันออก โดยทางกองทัพสเปนเตรียมความพร้อมที่จะส่งเรือรบเข้าร่วมกองกำลังของนาโต้และการส่งเครื่องบินขับไล่ไปยังประเทศบัลแกเรีย ขณะที่เดนมาร์กจะส่งเครื่องบินขับไล่ไปยังลิทัวเนียและส่งเรือรบไปในพื้นที่ทะเลบอลติก และฝั่งของกองทัพฝรั่งเศสก็ประกาศว่าพร้อมจะส่งทหารเข้าประจำการที่โรมาเนียอีกด้วย