ครอบครัวของโอคอนเนอร์ออกแถลงการณ์สั้นๆ ในช่วงเย็นวันพุธ (26 ก.ค.) เพื่อประกาศการเสียชีวิตของชิเนด ซึ่งเป็นทั้งนักรร้องและนักเคลื่อนไหวที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก หลังจากซิงเกิลเพลง Nothing Compares 2 U ติดอันดับชาร์ตเมื่อปี 2533
“เราขอประกาศการจากไปของชิเนดอันเป็นที่รักของเราด้วยความโศกเศร้าอย่างยิ่ง” แถลงการณ์ของครอบครัวโอคอนเนอร์ระบุ “ครอบครัวและเพื่อนๆ ของเธอเสียใจ และร้องขอความเป็นส่วนตัวในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”
การเสียชีวิตของชิเนดเกิดขึ้นในช่วงเวลา 18 เดือน ตามจากการที่ เชน ลูกชายของเธอในวัย 17 ปีเสียชีวิตลง หลังจากเขาออกจากโรงพยาบาล ขณะตกอยู่ในช่วงเฝ้าระวังภาวะความคิดฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ ชิเนดยังมีลูกอีก 3 คน
ฟัชนา โอเชลลาย ผู้จัดการส่วนตัวของชิเนด ตั้งแต่ปี 2529 ถึง 2533 และในปีต่อๆ มา กล่าวว่าชิเนดได้สร้างเส้นทางให้กับศิลปินหญิงคนอื่นๆ “ไม่ใช่แค่ว่าเธอมีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร แต่ความตั้งใจของเธอที่จะพูดในสิ่งที่เธอเชื่อว่าเป็นความจริง ได้หล่อหลอมเส้นทางใหม่ให้ผู้หญิงในวงการเพลงได้เข้าใกล้กับตัวตนที่แท้จริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
โอเชลลาย กล่าวว่า ชิเนดประสบกับปัญหาหลังจากได้รับความสำเร็จในปี 2533 “เมื่อผู้คนถูกพุ่งตัวเข้าสู่เวทีสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่อายุยังน้อย มันสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงได้ มันทำให้เธอมีเวทีที่ยิ่งใหญ่ แต่นั่นอาจเป้นการแบกรับความรับผิดชอบที่ท่วมท้น และฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเธอจะสามารถรับมือกับสิ่งนั้นได้ มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเหล่าศิลปินที่จะต้องตระหนักว่า สิ่งที่แวววาวนั้นไม่ใช่ทองคำ ชีวิตและเวลาของเธอเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก”
ชิเนคเคยประท้วงต่อศาสนจักรคาทอลิก ด้วยการฉีกรูปภาพสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 ในรายการ Saturday Night Live เมื่อปี 2535 ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เธออย่างรุนแรง ก่อนที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะได้รับการพูดถึง และยังคงเป็นที่จดจำมาถึงปัจจุบันนี้
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชิเนดเพิ่งได้รับรางวัลและเสียงปรบมือต่ออัลบั้มไอริชคลาสสิกที่งาน RTÉ Choice Music Prize โดยเธออุทิศรางวัลดังกล่าวให้กับชุมชนผู้ลี้ภัยในไอร์แลนด์ “ยินดีต้อนรับคุณในไอร์แลนด์” เธอกล่าวในงานครั้งนั้น “ฉันรักคุณมากและฉันขอให้คุณมีความสุข”
ในสารคดีเมื่อ 2565 เรื่อง Nothing Comparatives มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ที่ชิเนดกล่าวประณามคริสตจักรคาทอลิก รัฐธรรมนูญของไอร์แลนด์ รางวัลแกรมมี่ เพลงชาติสหรัฐฯ และเป้าหมายอื่นๆ อย่างไม่เกรงกลัว โดยเธอถูกกล่าวหาว่าโดนปีศาจสิง อย่างไรก็ดี การประท้วงของชิเนดสะท้อนภาพการเป็นผู้หญิงที่มาก่อนกาลเวลา โดยเฉพาะขบวนการ #MeToo ที่กล่าวชื่นชมชิเนดว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้คนที่อ่อนแอและเสียงไม่ได้
ในปี 2564 ชิเนดตีพิมพ์หนังสือชีวิตส่วนตัวอย่าง Rememberings โดยเธอเล่าถึงการล่วงละเมิดในวัยเด็กที่เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากน้ำมือของแม่ของเธอ ซึ่งเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี 2528 ตลอดจนปัญหาด้านการศึกษา โรคต้อหิน การเป็นป๊อปสตาร์ การเลิกรา และอาการป่วยทางจิต ทั้งนี้ ชิเนดเกิดที่พื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงดับลินเมื่อปี 2509 โดยอัลบั้มแรกของเธออย่าง The Lion and the Cobra ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ หลังจากมันวางจำหน่ายในปี 2530 ชิเนดยังได้รับชื่อเสียงจากเพลง Nothing Compares 2 U เวอร์ชันคัฟเวอร์ของ Prince ซึ่งขายได้หลายล้านชุด มิวสิควิดีโอดังกล่าวยังมียอดชมบน YouTube มากกว่า 400 ล้านครั้ง
เธอกลายเป็นที่รู้จักกันดีในสไตล์การโกนผมทั้งหัวและมุมมองที่ตรงไปตรงมาของเธอ รวมถึงการฉีกรูปภาพของพระสันตะปาปาซึ่งสร้างกระแสการต่อต้านต่อเธอครั้งใหญ่ เธอถูกขู่ฆ่าและการคว่ำบาตรไม่ให้ออกรายการทางวิทยุ ในขณะที่ยอดนักร้องแจ๊สดังอย่าง แฟรงก์ ซินาตรา บอกว่าเขาอยาก "เตะก้นของเธอ"
หลายฝ่ายยกย่องชิเนด จากการที่เธอออกมาเปิดโปงวาติกัน ที่ปกปิดเรื่องอื้อฉาวเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ แม้การฉีกรูปภาพของสมเด็จพระสันตะปาปาของเธอจะสร้างความโกรธแค้นรุนแรงในขณะนั้น เธอออกสตูดิโออัลบั้ม 10 อัลบั้ม ส่วนใหญ่เป็นอัลบั้มทดลองและไม่ออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ ชิเนดเปิดเผยในปี 2543 ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน
ชิเนดยังเป็นคนเคร่งศาสนา และใช้ชีวิตบนเส้นทางตามคำสอนศาสนา หลังมือของเธอมีรอยสัก "สิงโตแห่งยูดาห์จะทำลายทุกโซ่ตรวน" และที่หน้าอกของเธอก็มีรอยสักขนาดใหญ่ของรูปพระเยซู บนคอของเธอมีรอยสักคำว่า "ทุกสิ่งต้องผ่านไป" ซึ่งเป็นคำในพระคัมภีร์ข้อหนึ่ง
ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เธอได้รับแต่งตั้งเป็นนักบวชโดยบาทหลวงจากกลุ่มคาทอลิกอิสระ และกล่าวว่าเธอต้องการจะเป็นที่รู้จักจากทุกคนในนาม คุณแม่แบร์นาเดต มารี ก่อนที่ในปี 2561 ชิเนดได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็น ชูฮาดา แต่ยังคงขึ้นแสดงบนเวทีภายใต้ชื่อเดิมของเธอ
ชิเนดประสบปัญหาสุขภาพจิตและร่างกาย ซึ่งเธอได้บันทึกไว้ในโพสต์และบทสัมภาษณ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ น้ำเสียงของเธอเต็มไปด้วยความงุนงงไปจนถึงความเจ็บปวด
ที่มา: