นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ด่วนเช้าวันนี้ (6 ม.ค.) เพื่อหามาตรการเยียวยา จากสถานการณ์พายุ 'ปาบึก' ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และชุมพร เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนเสียหาย และขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ
เบื้องต้น กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในประสานกับภาคเอกชน จัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้ง สินค้าวัสดุก่อสร้าง นำไปให้ประชาชนในพื้นที่ โดยจะจัดคาราวานรถนำสินค้าอุปโภคบริโภค ลงไปในพื้นที่ประสบภัยในวันพรุ่งนี้ (7 ม.ค.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
พร้อมกันนี้ ยังสั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดดูแลไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า และการกักตุนสินค้าในพื้นที่
ด้านการดูแลและซ่อมแซมบ้านเรือน ได้ประสานงานไปยังผู้ผลิต ทั้งกระเบื้องมุงหลังคา อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ให้เร่งผลิตและจัดส่งสินค้าราคาพิเศษ และประสานไปยังห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่ง ให้จำหน่ายในราคาต่ำกว่าปกติมากๆ เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประสบภัยที่จะซื้อสินค้าไปดูแลบ้านเรือน และกรณีหลังคาบ้าน ได้ประสานเครือบริษัท SCG จำหน่ายสินค้าให้ในราคาพิเศษ และคาดว่าจะมีผู้ผลิตรายอื่นๆ เข้าร่วมต่อไป
อีกด้านหนึ่ง กระทรวงฯ จะเร่งเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประสบภัย เพราะผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย หรือสินค้าที่ผลิตได้เสียหาย โดยจะจัดมหกรรม “ซับน้ำตา” เพื่อเปิดโอกาสให้นำสินค้าที่ยังมีอยู่ เหลืออยู่ นำมาช่วยขายให้ โดยจะประสานจัดพื้นที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยซื้อ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ประสบภัย รวมทั้งจะประสานห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่งในพื้นที่ เปิดพื้นที่จำหน่าย เพื่อให้ผู้ประสบภัยนำสินค้ามาวางจำหน่าย และประสานตลาดกลาง ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ให้นำสินค้าไปจำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้อย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มอบนโยบายให้ช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยจะประสานภาคเอกชน ให้เข้ามาช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ โดยได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดใน 4 จังหวัดข้างต้น ไปทำการสำรวจว่ามีอะไรที่ได้รับความเสียหายมาก และต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ก็จะให้จัดทำรายละเอียดมา และกระทรวงฯ จะประสานภาคเอกชนเข้าไปช่วย ซึ่งจะใช้วิธีพิเศษ กระบวนการพิเศษ ทำต่อเนื่อง 3 เดือน 6 เดือน จนถึง 1 ปี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :