ในช่วงบ่าย ของวันที่ 6 ต.ค. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับรายงานว่า มีประชาชนอย่างน้อย 4 คน เป็นผู้ใหญ่ 2 ราย และเยาวชนอายุ 14-15 ปี หลังร่วมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 19 ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยไม่ทราบสาเหตุไปที่ สน.พระราชวัง หลังจากเจ้าหน้าที่สอบประวัติแล้วทราบว่าไม่ได้กระทำผิดใด แต่มีการแจ้งข้อพกพามีดปอกผลไม้พร้อมปรับเยาวชน 1 ราย ก่อนปล่อยตัวทั้งหมดไป
ในส่วนของฝั่งของดินแดง ก็มีการชุมนุม #ม็อบ6ตุลา ของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” เช่นเคย และแล้วการเข้าสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่ก็ปรากฏภาพความรุนแรงที่มากขึ้นกว่าหลายๆ วันที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการระดมกำลังปูพรมจับประชาชนเป็นจำนวนมากกว่าปกติ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานกรณีตำรวจจับกุมประชาชนไปที่ สน.พหลโยธิน รวมจำนวน 28 ราย แบ่งเป็นผู้ใหญ่ 23 ราย และเด็กเยาวชน 5 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 11 ปี และ 13 ปี รวมอยู่ด้วย นับเป็นการจับกุมเด็กอายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล ก่อนที่จะมีการปล่อยตัวเด็กทั้งคู่กลับบ้านในเวลา 03.30 น. โดยไม่ถูกดำเนินคดี
ส่วนอีก 26 ราย แยกเป็นเยาวชน 3 ราย ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว พร้อมยังตั้งข้อหามียาเสพติดประเภท 5 กัญชา กับผู้ต้องหา 1 ราย และข้อหาพกพาวัตถุระเบิดกับ 3 รายเพิ่มอีกด้วย ผู้ต้องหา 3 รายปฏิเสธคดีพกพาวัตถุระเบิด และให้การว่าเป็นเพียงลูกปะทัดมัดรวมกัน การจับกุมเกิดขึ้นตั้งแต่กลางดึกช่วงวันที่ 6 ตุลาคม ต่อเนื่องจนถึงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมในการทำบันทึกจับกุมและการสอบสวน
นอกจากนี้เอง ในระหว่างการจับกุม ทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนต่างถูกตำรวจควบคุมฝูงชนเตะเข้าตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย พร้อมกับทุบตีทำร้าย แล้วจึงนำตัวขึ้นรถกะบะส่งตัวมาที่ สน.พหลโยธิน แต่มีบางรายได้รับบาดเจ็บจนต้องมีการนำส่งตัวไปเย็บแผลที่ รพ.ตำรวจ ก่อนนำตัวกลับมาที่ สน.พหลโยธิน ในขณะที่บางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ยึดของมีค่าไปด้วย
หลังทนายความ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางไปพบผู้ถูกจับกุม #ม็อบ6ตุลา ที่สน.พหลโยธิน ตำรวจปฏิเสธไม่ให้ทนาย และ ส.ส. เข้าพบผู้ถูกจับกุม โดยมีพล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น. เป็นผู้มาควบคุมการปฏิบัติหน้าที่และการจับกุมด้วยตนเอง
สำหรับที่ สน.พหลโยธิน เยาวชน 3 รายถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ถูกส่งตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ก่อนได้รับประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ โดยศาลนัดให้ไปพบพนักงานคุมประพฤติ ที่สถานพินิจกรุงเทพฯ วันที่ 18 ตุลาคม 2564
ส่วนผู้ใหญ่ 20 ราย พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ไปส่งตัวให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยออกนอกเคหะสถานในเวลาห้าม (22.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น) แล้ว 7 ราย โดยศาลพิพากษาปรับคนละ 2,500 บาท แต่ยังเหลืออีก 13 ราย พนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งศาลไม่ทัน จึงถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.พหลโยธินอีก 1 วัน
ส่วนผู้ต้องหา 3 ราย ที่ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว และพกพาวัตถุระเบิด ถูกนำตัวส่งศาลอาญา ศาลให้ประกันตัวเพียง 1 ราย ส่วนอีก 2 รายที่ไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากหนึ่งรายมีคดีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว ศาลอ้างเกรงว่าจะกลับไปก่อเหตุอีก และอีกหนึ่งรายถูกแจ้งข้อหามีกัญชาในครอบครองเพิ่ม จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของกองทุนราษฎรประสงค์ และทางญาติยังไม่สามารถเดินทางมาประกันตัวได้ จึงถูกฝากขังต่อ
ในส่วนของ สน.ดินแดง เมื่อทนายไปถึงในเวลาประมาณ 23.00 น. พบว่ามีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ 18 ราย ขณะที่ตำรวจแจ้งว่ามีเยาวชนอีก 16 ราย ถูกนำตัวแยกไปยัง สน.ห้วยขวาง แล้ว โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายทราบก่อนหน้านี้ ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 34 รายที่ถูกจับกุมทราบภายหลังว่า ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่ สน. และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยตลอดการจับกุมและการสอบปากคำ พ.ต.ท.สุรพล จันทร์สมศักดิ์ เป็นผู้ทำการสอบสวน และไม่ได้มีการประสานให้ผู้ถูกจับกุมพบกับทนาย หรือผู้ปกครองแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม “อานนท์ ” หนึ่งในผู้ถูกจับกุมคืนวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งอาศัยอยู่ที่แฟลตดินแดง 9 เดินทางมาซื้อของที่แฟลตดินแดง 1 ในเวลาประมาณ 21.00 น. เห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบุกเข้ามา ด้วยความตกใจจึงวิ่งหนีออกมา แต่หนีไม่พ้นถึงถูกเจ้าหน้าที่ ใช้ไม้กระบองตี และรุมทำร้ายร่างกายก่อนนำตัวขึ้นรถกระบะ ไปจอดที่บริเวณทางด่วนแห่งหนึ่ง ก่อนจะถูกเรียกลงมาจากรถและสั่งให้หมอบลงกับพื้น และได้ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. รุมทุบตี กระทืบอีกครั้ง แล้วจึงนำตัวขึ้นรถกระบะส่งตัวไปที่ สน.พหลโยธิน
หลังจากนั้นเขาถูกนำตัวไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ ผลจากการตรวจร่างกาย ปรากฏว่า ศีรษะแตกปรากฎบาดแผล 1 นิ้วจากการถูกกระทืบ, มีรอยฟกช้ำ และรอยถลอกจากการถูกซ้อมที่ขมับขวา
ผู้ต้องหาอีก 3 ราย นพัสรพี, สิทธิ์ชัย และ อภิเชษฐ์ ระบุว่าตนก็ถูกทำร้ายร่างกายก่อนถูกส่งตัวมายัง สน.พหลโยธิน ด้วยเช่นกัน โดย สิทธิ์ชัย อายุ 23 ปี มีอาการเปลือกตาช้ำทั้งสองข้าง จากการถูกเตะล้มลงกับแอ่งดิน, รอยช้ำที่ต้นขาด้านซ้ายจากการยิงด้วยกระสุนยาง และรอยแดงช้ำจากการรัดข้อมือด้วยเคเบิ้ลไทร์
ส่วนของนภัสรพี อายุ 24 ปี มีรอยถูกบุหรี่จี้ที่หลังคอเกิดรอยไหม้จากการที่ คฝ. หาว่าผู้ถูกจับกุมมองหน้า
นอกจากนี้ อภินันท์ อายุ 32 ปี จากการตรวจร่างกายที่ รพ.ตำรวจ แพทย์ระบุว่าถูกกระทืบ ถูกท้ายปืนกระแทกจนศีรษะแตกต้องเย็บ 10 เข็มเศษ มีขีดข่วน 4-5 แผล ทั่วหน้าผาก แผลฟกช้ำที่เปลือกตาและโหนกแก้มขวา แผลถูกเตะฟกช้ำขนาดใหญ่ที่ไหล่ซ้าย แผลถลอกยาวประมาณ 2 นิ้ว กว้าง 0.5 ซม. เหนือศอกซ้ายจากการถูกกระสุนยางยิง หัวเข่าหลุด และมีแผลถลอกลึกขนาดใหญ่ฝั่งนอก และถนอกฝั่งใน
จากการสอบถามเพิ่มเติม พบว่าผู้ต้องหาจำนวนมากถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชนร่วมกันทำร้ายร่างกายในขณะการจับกุม
ในชุดผู้จับกุมที่ สน.พหลโยธิน ตามบันทึกการจับกุม คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 22.40 น. ร.ต.อ.สมเกียตร์ คำพจน์ และพวกรวม 8 นาย ได้จับกุม สิทธิ์ชัย อายุ 22 ปี ได้ที่หน้าอาคารวิโรจน์ และได้ควบคุมตัวไปที่ สน.พหลโยธิน ในบันทึกการจับกุมอ้างว่าผู้ต้องหาได้ยินยอมให้ตรวจค้นด้วยความสมัครใจ แต่จากการสอบถามของทนายความ ผู้ต้องหาเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายและตนที่ใบหน้าในขณะจับกุม ซึ่งปรากฏบาดแผลบริเวณใต้ตาซ้าย และแผลถลอกที่แขนซ้ายขวา
เวลา 22.30-23.30 น. ของวันเดียวกัน มีรายงานว่า ชุด คฝ.7 นำโดย พ.ต.ท.ฐิติวุธ ร่อนแก้ว ได้ทำการจับกุมประชาชนไว้ 9 คนที่บริเวณถนนใกล้แฟลตดินแดง และส่งไปที่ สน.พหลโยธิน ในข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว และมีตั้งข้อหาพกพาวัตถุระเบิดเพิ่มกับ จิตรกร อายุ 22 ปี โดยอ้างว่าพบระเบิดแสวงเครื่องพันสายไฟสีดำ และระเบิดบรรจุขวดน้ำมันที่ผู้ต้องหาถืออยู่ขณะจับกุม
เวลา 23.00-23.30 น. มีการจับกุมเยาวชนชาย 2 คน และได้มีการจับกุมเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 6 คน ในเวลา 01.30 น. รวมแล้วมีเยาวชน 8 คน ที่มีอายุระหว่าง 15-17 ปี โดย 2 ใน 8 คนเป็นเยาวชนหญิง ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ดินแดง และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยตลอดการจับกุมและการสอบปากคำ พ.ต.ท.สุรพล จันทร์สมศักดิ์ ผู้ทำการสอบสวนไม่ได้มีการประสานให้ผู้ถูกจับกุมพบกับทนาย หรือผู้ปกครองแต่อย่างใด
และในคืนเดียวกัน ส.ต.ต.นัฐพงษ์ บัวสิงห์ , ส.ต.ต.อรรถพล อิ่มชมนาก ,ส.ต.ต.อธิเดช ครุปรงศ์ , ส.ต.ต.อนิก จันนา ,ส.ต.ต.ณัฐพงษ์ นะติ๊บ ,ส.ต.ต.ณัฐพล คนไว ,ส.ต.ต.ธีรภัทร ประสิทธิ์ศุภกานต์ นำ เดือน อายุ 51ปี และ สมพร อายุ 54 ปี ไปทำบันทึกการจับกุมที่ สน.พหลโยธิน โดยแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ผู้ถูกจับกุมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมปฏิเสธลงชื่อในบันทึกการจับกุมและได้ขีดฆ่าลายมือชื่อที่ได้ลงไว้ก่อนหน้าด้วย
นอกจากการจับกุมดังกล่าวแล้ว ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม ต่อเนื่องจนถึง เช้าวันที่ 7 ตุลาคม เจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังมากกว่าปกติ อีกทั้งมีความเข้มงวดกับสื่อมวลชนเป็นพิเศษ จนปรากฏภาพการห้ามสื่อมวลชนเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ โดยมีการพยายามนำตัวสื่อออกจากพื้นที่ปฏิบัติ และสั่งให้ยุติการถ่ายทอดภาพสถานการณ์ ในขณะที่มีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมขณะชุมนุม และยังมีการเข้าตรวจค้นรถของที่ปฐมพยาบาล และสื่อมวลชนที่ได้สังเกตการณ์อยู่บริเวณใกล้กับที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้วย
การจับกุมประชาชนที่อยู่บริเวณแฟลตดินแดงในคืนดังกล่าวได้มีการระดมกำลังเข้าปูพรมค้นหาผู้ชุมนุมและได้ควบคุมตัวเยาวชนตลอดทั้งคืนจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น และผู้ถูกจับกุมอายุน้อยที่สุด คือเด็กอายุเพียง 11 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่กว่า 10 นาย เดินควบคุมตัว พร้อมกับเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งพาตัวไปที่สถานีตำรวจ
ยังมีรายงานเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ คฝ. และหน่วยปฎิบัติการพิเศษ SWAT ยิงกระสุนยางเข้าใส่อย่างต่อเนื่องและบุกขึ้นแฟลตยามวิกาล เพื่อค้นหาตัวผู้ชุมนุมที่อาจหลบหนีเข้าไปในแฟลตอีกด้วย
กับสภาพการณ์ที่ต้องพบเผชิญ นับเป็นอีกค่ำคืนที่ผู้ชุมนุมและประชาชนที่อาศัยย่านสามเหลี่ยมดินแดงต้องเจอกับความรุนแรงที่แฝงมาในอำนาจรัฐ