ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดให้สื่อมวลชนร่วมพิสูจน์ซากเสือโคร่งที่ตาย หลังถูกยึดมาจากวัดป่าหลวงตาบัวฯ เมื่อปี 2559 แต่สื่อต่างชาติชี้ กรณีนี้เกี่ยวพันกับการใช้สัตว์ป่าดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความสูญเสีย ขณะที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ระบุ การวางแผนรับมือของเจ้าหน้าที่ 'ไม่เพียงพอ'

ครบรอบ 1 สัปดาห์กรณีพบเสือโคร่งตาย 86 ตัวที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี แต่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศยังเกาะติดสถานการณ์ดังกล่าว เพราะเสือที่ตายเป็นของกลางที่ยึดมาจากวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เพราะต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำเสือโคร่งทั้งหมด 147 ตัว ที่ตรวจยึดมาจากวัดป่าหลวงตาบัวฯ มาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างจำนวน 85 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี จำนวน 62 ตัว ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา แต่หลังจากนั้นพบว่าเสือโคร่งเหล่านี้มีภาวะเครียดและเจ็บป่วยหลายประการ โดยเจ้าหน้าที่อธิบายว่า กลุ่มเสือโคร่งที่ตายส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย เกิดจากการเพาะพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิด และไม่มีภูมิคุ้มกัน

อาการที่พบในเสือโคร่งเหล่านี้ ได้แก่ อัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจติดขัด และพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสุนัข (Canine Distemper Virus หรือ CDV) ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัขและสัตว์ป่าหลายชนิด และปัจจุบันยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ

เฟซบุ๊กของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พทช นายสุนทร ฉายวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ในวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพิสูจน์ซากเสือโคร่งที่ตาย พร้อมยืนยันกับสื่อมวลชนว่าไม่มีชิ้นส่วนใดของซากเสือโคร่งที่หายไป

ซากเสือโคร่งถูกบรรจุในถัง 200 ลิตร และแช่ฟอร์มาลีน 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ได้บรรยายและพาสื่อมวลชนชมการนำซากเสือของกลางออกจากถังบรรจุที่แช่ฟอร์มาลีน ให้สื่อมวลชนได้เห็นว่าซากเสืออยู่ในสภาพอย่างไร

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีและนิวส์24 สื่อฝรั่งเศส รายงานว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกี่ยวกับสัตว์ป่า และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังไทยราว 38 ล้านคนในแต่ละปี โดยนักท่องเที่ยวที่นิยมไปเที่ยวสวนสัตว์หรือศูนย์ดูแลสัตว์ของเอกชนที่นำสัตว์ป่ามาเป็นเครื่องดึงดูดผู้เข้าชม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการทารุณหรือละเมิดสิทธิสัตว์

Reuters-ลูกเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตามหาบัวเมื่อปี 2015 ก่อนถูกบุกปิดและตรวจจับ.JPG
  • ภาพเสือและพระสงฆ์ในวัดป่าหลวงตามหาบัวฯ เมื่อปี 2558 ก่อนที่จะมีการบุกตรวจค้น

กรณีของวัดป่าหลวงตามหาบัวฯ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเสือโคร่ง รวมถึงเปิดให้มีการถ่ายรูปและป้อนอาหารแก่ลูกเสือโคร่ง แต่เมื่อถูกบุกตรวจค้นกลับพบของกลางในวัดเป็นซากลูกเสือโคร่งที่ถูกแช่เย็น นำไปสู่การจับกุมและฟ้องร้องดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง และคดียังไม่สิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยใช้สัตว์ป่าเป็นเครื่องดึงดูดผู้เข้าชมจึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสีย

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายเอ็ดวิน วิก ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าในประเทศไทย (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT) ซึ่งระบุว่า ชะตากรรมเสือโคร่งของกลางเหล่านี้เป็นเรื่องที่ 'คาดเดาได้' แค่รอเวลาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะเขาระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีแผนการรองรับเพียงพอตอนที่ตัดสินใจย้ายเสือโคร่งของกลางไปอยู่ในความดูแล ทั้งยังไม่ได้ทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอิสระอื่นๆ 

วิกระบุว่าเคยมีผู้แนะนำให้เจ้าหน้าที่แยกลูกเสือโคร่งกับเสือโคร่งตัวเมียออกจากกัน รวมถึงเสนอให้ทำหมันเสือทุกตัว พร้อมระบุว่าพื้นที่อยู่อาศัยของเสือจะต้องมีอาณาบริเวณเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่สำหรับเสือค่อนข้างคับแคบเมื่อเทียบกับจำนวนเสือทั้งหมดที่อยู่ในความดูแล เมื่อเสือตัวหนึ่งเจ็บป่วยและติดเชื้อก็ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างง่ายดาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: