วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2566 (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ) เป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงในประเด็นของ Soft Power สืบต่อจาก พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ชี้แจงก่อนหน้า
ดอน กล่าวว่า ไม่ว่าจะอาหาร กีฬา หรือการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น ‘อำนาจละมุน’ ซึ่งเหนือกว่าการแสดงแสนยานุภาพด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ขณะที่ในด้านกีฬานั้น ก็มีข่าวใหญ่ที่วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ซึ่งได้ชนะทีมชาติบุลแกเรีย ด้วยคะแนน 3:0 ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นภาพว่าความเป็นผู้หญิงไทยตัวเล็ก แต่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความเก่งอยู่ในตัว จึงกล่าวได้ว่า กีฬาจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของหญิงไทยต่อสายตาโลกได้
ด้านสาธารณสุขนั้น หลังตนกลับจากซาอุดีอาระเบีย ได้ใช้วิทยาการของไทย คือ ไบโอพลาสมา ในการเยียวยาแผลจากโรคเบาหวานได้ จึงสร้างความตื่นตัวไปทั่วโลก ความสามารถด้านอำนาจละมุนของไทยขจรขจายไปมากกว่าที่คิดไว้ ไปจนถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานของภูมิภาคอาเซียนในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก มีหลายประเทศติดต่อแลกเปลี่ยนวิธีการของไทยในการเข้าถึงผลลัพธ์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น โดยไทยได้ใช้หลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมดำเนินการควบคู่กันไป
กรอบในการนำเสนออำนาจละมุนของกระทรวงต่างประเทศ เรียกว่า 5 S. ได้แก่ Security Sustainability Standard Status Synergy ทั้งหมดร้อยรัดเข้าด้วยกันผ่านการทูต ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากล และแฝงแนวคิดด้านความมั่นคงไปในทุกๆ มิติ ขณะที่การบูรณาการเพื่อให้สัทฤทธิ์ผลนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ภาครัฐ แต่จำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมกันขับเคลื่อน