คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา "รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย" เนื่องในวาระครบรอบ 14 ปี "รัฐประหาร 19 ก.ย. 49" และยังครบรอบ 63 ปี รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ด้วย โดยมีอาจารย์และนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นวิทยากร
ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการพร้อมกล่าวเปิดงานว่า การรัฐประหารปี 2549 ได้ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ทั้งนำสู่ความเสื่อมถอยทางการเมืองมาจนปัจจุบัน และวันที่ 19 ก.ย.นี้ ที่จะมีการชุมนุมถือเป็นวันดีเดย์ ที่หลายฝ่ายอาจไม่แฮปปี แต่มีนัยสำคัญ จึงจัดการเสวนานี้ขึ้น นอกจากนี้ยังครบรอบ 63 ปี "รัฐประหาร 16 กันยายน 2500" ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ทำให้สิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรอีกด้วย
ศ.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่า ปี 2549 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ได้ใช้หน่วยทหารที่คุมกำลัง ต่างจากการรัฐประหารก่อนหน้านั้น แต่มีกลุ่มอนุรักษนิยมสนับสนุนรวมถึงตุลาการและปัญญาชน ซึ่งการรัฐประหารปี 2557 ก็มีลักษณะเดียวกันที่ต้องมีการปูทางก่อนยึดอำนาจ และรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง เป็นการรวมอำนาจของฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตย จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้สังคมเป็นอนุรักษ์หรือจารีตนิยมแบบสุดโต่งมากขึ้น โดยเทียบกับการสร้างบ้านที่มี '4 เสา 3 จั่ว 2 คาน 1 คาน' ประกอบด้วย
ศ.สุรชาติ กล่าวด้วยว่า การรัฐประหารปี 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของหายนะทางสังคมการเมืองไทย แม้มีโจทย์ซ้อนหลายอย่างที่สำคัญคือ เป็นการต่อสู้ของ '2 กลุ่มพลัง' ในสังคมไทย หากถือว่าฝ่ายอนุรักษนิยมมีชัยชนะ ก็คือการควบคุมอำนาจกลุ่ม 'ไทยรักไทย' ได้ แต่ก็พ่ายแพ้ ที่ไม่สามารถต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษนิยมตั้งแต่ต้นที่ไม่คิดว่าระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคจะเกิดขึ้นจริงได้เร็วขนาดนั้น
ศ. สุรชาติ มองการเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนนักศึกษาในแง่ที่ช่วยเปลี่ยนผ่านสังคมว่า ต้องออกแบบไม่ให้เกิดความรุนแรง, ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่, ออกแบบสถาบันการเมืองใหม่, ล้างอิทธิrลของระบอบเดิมที่เป็นเผด็จการ, ออกแบบกลไกทางการเมืองในอนาคตให้ตอบโจทย์ความต้องการและข้อเรียกร้องของประชาชน พร้อมมีข้อเสนอ '1+4' คือ
1.) ต้องร่วมขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงฝ่ายขวาที่ไม่ขวาจัดด้วย และปฏิรูป 4 ด้าน คือ ทหาร, ตำรวจ, ระบบยุติธรรมและปฏิรูปองค์กรอิสระ
ส่วน ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปี 2549 นั้น ประชาธิปไตยไทยเหมือนกำลังจะตั้งมั่น เศรษฐกิจประเทศดี การรัฐประหารทำได้ยาก จึงใช้วาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรม และการอ้างเสียงข้างมากของรัฐบาลหรือจำนวนคนของผู้ชุมนุมใช้ไม่ได้ จึงอ้างการทุจริตและอื่นๆ สะท้อนว่า จำนวนคนไม่ได้ชี้ขาดทางการเมือง
ดังนั้น นอกจากรัฐประหารปี 2549 จะส่งผลเกี่ยวเนื่องแล้ว ยังเป็นแม่แบบรัฐประหารปี 2557 ทั้งในแง่การใช้วาทกรรม, การมีบัตรเชิญหรือระดมมวลชนขนาดใหญ่และสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อยึดอำนาจรัฐ และเห็นว่า รัฐประหารปี 2549 เป็นการทำให้พลเมืองในรัฐไทยกลายเป็น 'ไพร่' พร้อมกันนี้ แนะนำหนังสือ 'การเมืองของไพร่' ที่มีบทความนักวิชาการชื่อดังเกี่ยวกับรัฐประหารปี 2549 หลายชิ้น รวมถึงผลงานของตนเองด้วย
ผศ.พิชญ์ ยังชวนถกเถียงในเชิงทฤษฎีที่เกี่ยวกับการป้องกันรัฐประหารที่ว่า ทหารอาชีพจะไม่แทรกแซงการเมือง จึงจัดความสัมพันธ์ให้พลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ แต่ทหารอาชีพในไทย คือ ทหารที่ทำรัฐประหารเป็นอาชีพ ซึ่งทุกครั้งไม่มีนายพลคนไหนบอกว่าจะรัฐประหาร แต่สุดท้ายก็ก่อการ
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการไทยออกมาสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหารด้วย รวมถึงบทบาทของสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่า ข้ออ้างที่ว่าการรัฐประหารไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นนั้น "ไม่จริง" ทั้งในแง่เชิงวิชาการและความรุนแรงในมิติต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่การยิงกันตาย
ขณะที่ ญาณิศา วรารักษพงศ์ นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาและเป็นอยู่ ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนรู้ถึงความเลวร้ายรัฐประหาร และไม่ได้รับรู้หลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงในระบบการศึกษาไทย การที่ตนหรือเยาวชนตระหนักรู้มาจากการค้นคว้านอกห้องเรียน
โดยส่วนตัวมองว่า การรัฐประหาร เป็นเหมือนอาการของโรคร้ายแรงเรื้อรังที่มีมานาน และแม้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา แต่คนก็ชินชา คิดว่าเป็นเรื่องปกติ และเห็นว่าการชุมนุมของคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้ต้องการเปลี่ยนผู้เล่นในเกม แต่ต้องการเปลี่ยนเกม คือการมุ่งไปที่ต้นตอของรัฐประหาร สังเกตได้จากข้อเรียกร้องของเยาวชน
ญาณิศาสยืนยันว่า แม้คนรุ่นใหม่เกิดไม่ทันหรือไม่รู้เรื่องปี 2549 รวมถึงตนเองที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรัฐประหารปี 2557 เท่าไหร่ด้วย แต่เมื่อประวัติศาสตร์สะสมมาและมองกลับไปจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ซึ่งหากมองการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเรื่องยุคสมัย ทั้งในแง่เนื้อหาการต่อสู้และช่วงอายุของผู้ชุมนุม เพราะมีการเชื่อมโยงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ และผู้ร่วมชุมนุมก็มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เพียงแต่มีเยาวชนศึกษาเป็นแกนนำ
อ่านเพิ่มเติม