คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวนับแต่วันที่ยื่นลาออกจากการเป็นรมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2562 หลังศาลพิเคราะห์ว่า การที่คู่สมรสมีการซื้อหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเพิ่มอีก 800 หุ้นหลัง นพ.ธีระเกียรติเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าข่ายเป็นการถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ จึงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 และมาตรา184(2) และมีผลให้ ต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเวลา 2 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (8)
ส่วนกรณีของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่าการถือครองหุ้น บริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐก่อนการเข้าดำรงตำแหน่ง ไม่ถือว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่ง กรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่จากกรณีาข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุจากการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยศาลได้นัดอ่านคำวินิฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 18 ก.ย.นี้
ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่กรณีถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยศาลได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในคราวประชุมถัดไป