ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยข้อมูลสถิติคดีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 3–23 เมษายน พบ 15,961 คดี กทม.ครองอันดับ 1 จำนวน 1,261 คน

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผย ข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภายหลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.

โดยไม่มีความจำเป็น และได้มีการผ่อนปรนข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิวสำหรับบางอาชีพเพิ่มเติมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 3) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 3–23 เมษายน 2563 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ทั้งหมด 15,961 คดี/คดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 14,984 คดี อันดับ 1 จังหวัด เป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,261 คน

ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าภายหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อพิจารณาปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล ตั้งแต่วันที่ 3-13 เมษายน 63 มีจำนวนเฉลี่ย 818 คดี/วัน ในขณะที่ปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 14-22 เมษายน 63 พบมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลลดลง เฉลี่ยจำนวน 772 คดี/ต่อวัน ลดลงประมาณ 5.6 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ อาจเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั่วประเทศทำให้ผู้กระทำผิดไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนจังหวัดที่ยังพบว่ามีการกระทำผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สูงสุด กรุงเทพมหานครยังครองแชมป์ ถัดมา ปทุมธานี และชลบุรี ตามลำดับ