ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ’ รีวิว 1 ปี ผู้ว่าฯ กทม. พลังยังเหลือเดินหน้า 200 กว่านโยบาย ยินดี MOU พรรคร่วมรัฐบาล สอดคล้องหลายนโยบาย กทม. เตรียมเสนอความร่วมมือ 16 ข้อ เชื่อจะเป็นไปด้วยดี มองกระแสรัฐบาลใหม่ คือ ช่วง ประชาธิปไตยฟื้น คนหันหน้าคุยกันมากขึ้น

วันที่ 23 พ.ค. 2566 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงวาระครบรอบ 1 ปี การทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม. หลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งกทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 ด้วยคะแนนเสียง 1,386,215 คะแนน โดยระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่สนุก เรายังมีพลัง และมีความฝันอีกมากมาย จาก 200 กว่านโยบายที่เคยประกาศเอาไว้ กทม. เริ่มต้นดำเนินการไปแล้ว 196 นโยบาย มีทั้งที่ทำเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพัฒนาต้นแบบ และกำลังทบทวนอีกราว 20 นโยบายที่อาจจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน ดังนั้น ทุกอย่างที่เคยสัญญาไว้ เราเดินหน้าหมด ซึ่งมีกระแสตอบรับทั้งบวกและลบ เราก็ยินดีน้อมรับทุกคำวิจารณ์ 

“ช่วงครบปี ก็จะมีคนออกมาบอกว่า กทม. ไม่มีผลงาน เดี๋ยวเราจะออกมาอธิบายให้ฟังว่าเราทำอะไรไปบ้าง เชื่อว่า ไม่ขี้เหร่แน่นอน” ชัชชาติ กล่าว

ชัชชาติ เปิดเผยด้วยว่า รู้สึกยินดีกับการลงนามข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) ของ 8 พรรคร่วม ซึ่งตนได้สั่งการให้ทีมงาน กทม. เร่งศึกษารายละเอียดทันที เพราะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เราก็ต้องทำตาม หลายข้อมีความสอดคล้องกับนโยบาย กทม. ด้วย เช่น 1. การทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting) ล้างงบใหม่ในแต่ละปี ไม่นำงบประมาณปีก่อนหน้ามาคิดในการทำโครงการต่างๆ 2. การให้ความสำคัญกับความโปร่งใส เหมือนที่ กทม. เปิดข้อมูลต่างๆ (Open Data) ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

“หลายๆ อย่าง ก็คิดว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น น่าจะมีการร่วมมือกันได้ดี แต่อย่างที่บอก เราก็พร้อมทำงานกับทุกคน เราเป็นท้องถิ่น ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล เราต้องทำงานได้อยู่แล้ว” ชัชชาติ ระบุ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนและหลังการเป็นผู้ว่าฯ กทม. ปรัชญาการทำงานเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน ชัชชาติ มองว่า ยังทำงานเต็มที่เหมือนเดิม ไม่ลดน้อยลง เพียงแค่อาจจะต้องเน้นการสื่อสารให้เข้มข้นขึ้น เพราะ กทม. ต้องสื่อสารกับหลายภาคส่วน และบางภาคส่วนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเราทำงานอะไร รายละเอียดแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร 

เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไร กับกระแสที่เกิดขึ้นกับผู้นำการเมืองระดับชาติคนใหม่ว่าเป็นภาพสะท้อนมาถึงชัยชนะของตนเองจากการเลือกตั้ง กทม. ปีที่ผ่านมา ชัชชาติ มองว่า หากนำมาเทียบกัน กระแสของตัวเองเกิดขึ้นในระดับที่เล็กกว่ามาก เพียงแค่ล้านกว่าเสียง แต่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนสูงถึง 14 ล้านเสียง 

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราต้องตื่นตัวมากขึ้น ทุกคนต้องทบทวนความคิดใหม่ว่าล้าสมัยแล้วหรือไม่ องค์ความคิดใหม่คืออะไร และจะปรับตัวอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องเดินหน้าช่วยกัน” ชัชชาติ ระบุ

เมื่อถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบรรยากาศการฟื้นฟูของประชาธิปไตยหรือไม่ ชัชชาติ มองว่า หลายเรื่องที่คนไม่คุยกัน ก็หันหน้าคุยกันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะในครอบครัวก็ตาม ตนเชื่อว่า สุดท้ายแล้ว จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว หากเราไม่เปลี่ยนความคิด เราไม่มีทางเปลี่ยนการกระทำได้เลย หากเราเริ่มต้นคิดอะไรใหม่ๆ มีการทบทวน พูดคุยกัน โดยไม่ต้องทะเลาะกันได้ น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 

เมื่อถามว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการทำงาน คือ อำนาจที่จำกัดมากของ กทม. หรือไม่ ชัชชาติ กล่าวว่า เราเป็นผู้ว่าฯ กทม. เรารู้อยู่แล้วว่ามีอำนาจจำกัด จึงจะมาเวิ่นเว้อ มาบ่นเรื่องนี้ไม่ได้ หน้าที่เราคือต้องประสานงาน เช่น การนำสายสื่อสารลงดิน ที่ต้องประชุมกับหน่วยงานอย่าง กสทช. เป็นต้น 

“อำนาจที่จำกัดจึงเป็นเรื่องที่โอดครวญไม่ได้ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ต้องยอมรับตั้งแต่แรกแล้ว แต่เราอาจจะเสนอรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาได้ว่า ขอให้มีการปรับอำนาจบางอย่าง เช่น การจ่ายตั๋วกรณีทำผิดกฎจราจร ซึ่ง กทม. มีอำนาจเพียงบนทางเท้า แต่พื้นผิวถนนเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียว ก็อาจจะขออำนาจบางส่วนเพื่อช่วยทำการจราจรให้ดีขึ้น รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายต่างๆที่ยังล้าสมัยอยู่ ซึ่งเรามีเรื่องเตรียมเสนอไว้แล้ว 16 ข้อ เชื่อว่าจะเป็นไปด้วยดี” ชัชชาติ กล่าว