วันที่ 25 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้พิจารณาวาระด่วน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ ในวาระที่1 ขั้นรับหลักการต่อเนื่องวันที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย
1.ร่างฉบับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ 2.ร่างฉบับที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
3.ร่างฉบับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ 4.ร่างฉบับวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อกับคณะ เป็นผู้เสนอ
5.ร่างฉบับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ และ 6.ร่างฉบับ อนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
'สมเจตน์' จ่อคว่ำทุกร่าง ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน รับเพียงร่าง ครม.
โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายแสดงความเห็นต่อเนื่องจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมืื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 โดยระบุถึงกรณีที่มีการกล่าวหากันว่า ผู้ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 เป็นผู้ที่มีเจตนาทำลายพรรคการเมือง ตนในฐานะอดีตกรรมการผู้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับนี้ จึงขออธิบายมูลเหตุว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยสาเหตุนั้นเริ่มตั้งแต่ ปลายปี 2556 ซึ่งรัฐบาลใช้เสียงข้างมากในการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำมาสู่การประท้วงใหญ่ สภาฯ ในขณะนั้นถูกกล่าวหาว่า 'เผด็จการรัฐสภา' เนื่องจากรัฐบาลคุมเสียงข้างมากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พรรคการเมืองถูกกล่าวหาว่าเป็นของกลุ่มทุน นักการเมืองถูกครอบงำ ไร้อิสระ จนเกิดการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูป
หลัง คสช. ยึดอำนาจ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมือง ว่าต้องมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากบุคคลภายนอก พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย จึงต้องสร้างพรรคการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กฏหมายจึงออกแบบให้พรรคการเมืองมีรายได้เป็นของตัวเอง เพื่อให้พ้นจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคของนายทุน
เช่น การจัดให้มีเงินค่าบำรุงสมาชิกเป็นรายปี ก็เพื่อให้สมาชิกยังมีความผูกพันอยู่กับพรรคการเมือง ไม่ใช่เพียงสมัครสมาชิกครั้งแรกก็หายสาบสูญไป และให้มีทุนประเดิมเพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามามีอำนาจในพรรค พรรคใดมีสาขาพรรคมากจะได้รับเงินจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองตามสัดส่วน เหล่านี้เป็นตัวอย่างยืนยันว่าไม่มีใครเจตนาจะทำลายพรรคการเมือง ตรงกันข้าม กลับต้องการทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและเป็นของประชาชน
"ไม่มีใครหรอกที่จะคิดทำร้ายพรรคการเมือง ที่เป็นองค์กรสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ผู้ใดคิดทำลายพรรคการเมืองผู้นั้นทำลายระบอบประชาธิปไตย เว้นเสียแต่พรรคการเมืองจะทำลายตัวเองเท่านั้น" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
พล.อ.สมเจตน์ ระบุว่า ในความเห็นของตน การแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยการเสนอของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ทั้ง 5 ฉบับ เป็นการแก้ไขที่เกินเลย ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของพรรคการเมืองเพื่อให้การกระทำนั้นชอบ เป็นการขัดขวางการมีส่วนร่วมของสมาชิก ขัดขวางการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอไม่รับหลักการ ที่เสนอโดย ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทั้ง 5 ฉบับ แต่จะขอรับหลักการเพียงร่างเดียว คือ ฉบับ ครม. ที่แก้ไขสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
"พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่รับมอบอำนาจจากประชาชนเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติและบริหารจัดการดิน แก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนมากมายของสังคมเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าเหตุใดการปฏิบัติของพรรคการเมือง จึงต้องการปฏิบัติแบบง่ายๆ ทั้งการบริหารพรรคทั้งการจัดตั้งสาขาพรรค ที่จะไม่ยอมลงสมาชิกอย่างจริงจัง ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครจากง่ายๆ แล้วเช่นนี้จะเข้าไปรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติที่มีความซับซ้อนได้อย่างไร"
"การปฏิรูปการเมืองจะไม่เกิดผลสำเร็จ ถ้าผู้มีอำนาจในพรรคการเมืองไม่ยินยอมลดอำนาจของตนไปให้สมาชิกพรรคการเมือง การปฏิรูปการเมืองจะไม่เกิดผลสำเร็จ ถ้าบุคคลในพรรคการเมืองว่ายินยอมที่จะปฏิรูปตนเอง"
‘สุทิน’ วอนหยุดตัดตอนพรรคการเมือง ชี้ ม.28-29 ทำคนระแวงพรรคการเมือง ขวางการพัฒนา
ด้าน สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้แก้ไพรมารีโหวต นั้น เพราะพรรคการเมืองที่เข้มแข็งนั้นจะต้องมีฐานเสียงที่กว้าง สมาชิกพรรคต้องกำหนดทิศทางพรรคได้จริงโดยไม่ได้มีเจ้าของพรรคมากำหนด อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคการเมืองของไทยนั้น เป็นสมาชิกแบบล้มลุก สมาชิกพรรคการเมืองที่แท้จริง ควรต้องมีอายุ มีกิจกรรมร่วม และเรียนรู้มากับพรรคการเมืองนั้นอย่างต่อเนื่องยาวนานพอสมควร เหมือนสมาชิกครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างเหนียวแน่นยาวนาน ก็ย่อมมีความไว้ใจกัน ขณะที่สมาชิกพรรคการเมืองไทยนั้น เมื่อเกิดการรัฐประหารหรือยุบพรรคขึ้นมาก็พากันหายไป สมาชิกที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ลุ่มๆ ดอนๆ เวียนว่ายตายเกิด พรรคเพื่อไทยจึงต้องการให้มีเวลาพิสูจน์กลั่นกรองว่าเป็นสมาชิกที่มีส่วนร่วมกับพรรคอย่างแท้จริงหรือไม่
"เหตุที่ประชาธิปไตยในพรรคการเมืองไทยอ่อนแอ ก็เพราะถูกยึดอำนาจบ่อยที่สุด ถูกฆ่าตัดตอนบ่อยที่สุด แม้ไม่ยึดอำนาจก็มายุบพรรค สมาชิกของพรรคก็บ้านแตกสาแหรกขาดไปคนละทิศคนละทาง กว่าจะตั้งหลักได้ ก็ต้องกลับมาสมัครกันอีก วันนี้ไปรับสมัครสมาชิกพรรค ชาวบ้านหันข้างให้ ยังศรัทธาอยู่ แต่บอกให้อยู่ไปก่อนเถอะ จะอยู่ได้นานไหม สมัครตั้งกี่รอบแล้ว ยิ่งเก็บตังด้วยไปกันใหญ่เลย ธรรมดาก็ไม่อยากสมัครอยู่แล้ว ยังไปเก็บตังอีก ที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งคนที่ไม่ลงพื้นที่จะไม่ทราบ"
สุทิน ระบุว่า "ถ้าอยากจะให้พรรคการเมืองเข้มแข็งต้องมองไปที่ต้นทาง ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองไม่ถูกฆ่าตัดตอน ทำอย่างไรให้สมาชิกและพรรคเกาะเกี่ยวเหนี่ยวนำอยู่ด้วยกันในระยะเวลาที่พอสมควร แล้วจึงค่อยมาทำไพรมารีโหวต
สุทิน เน้นย้ำว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ปฏิเสธไพรมารีโหวต แต่ขอให้ตั้งอยู่บนสภาพความเป็นจริง โดยเสนอให้ทำในระดับจังหวัดแทนที่เขต ไม่แปลกที่วันนี้ทุกพรรคการเมืองต้องการแก้ไขไพรมารีโหวต กันหมด แม้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีข้อได้เปรียบก็ยังต้องการเปลี่ยน ครม.ควรพิจารณา เพราะไม่บ่อยนักที่พรรคการเมืองฝ่ายร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเห็นตรงกันเช่นนี้
สำหรับมาตรา 28-29 เกี่ยวกับการห้ามมิให้บุคคลภายนอกชี้นำหรือครอบงำพรรคการเมือง สุทิน ระบุว่า เป็นการยัดลิ้นไก่มาใส่ปาก จนบุคคลทั่วไประแวงพรรคการเมือง เพราะจะไม่ว่าจะทำประชาพิจารณ์ หรือปรึกษาขอความเห็นจากนักวิชาการเพื่อจัดทำนโยบาย อาจจะเข้าข่ายครอบงำไปหมด ทั้งยังเป็นการจำกัดสิทธิฟังความเห็นให้อยู่เฉพาะสมาชิกพรรคเท่านั้น แต่กีดกันบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่มีความหวังดีหรือมีคำชี้แนะสำหรับพรรคการเมืองออกไป ถือเป็นการขัดขวางการพัฒนาทางวิชาการอันอาจเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมือง
'สมคิด' ยัน ‘เพื่อไทย’ รับหลักการทุกฉบับ ซัดนิรโทษฯ ยึดอำนาจกลับไร้ปัญหา
สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า โดยหลังจากฟังเหตุผลของเพื่อนสมาชิกที่ว่ามีบางท่านในซีก ส.ว. จะรับเฉพาะร่างของ ครม. เท่านั้น ก็เป็นสิทธิของท่าน อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าอย่างไรเลือกตั้งใหม่ก็ต้องใช้บัตร 2 ใบ ส่วนรายละเอียดก็ต้องไปคุยกันต่อในชั้นกรรมาธิการ แต่พรรคเพื่อไทยก็มีความจำเป็นต้องแก้ไขในบางส่วนให้ดีขึ้น เพราะเกิดปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติ การแก้ไขคือปรับปรุงให้ดีขึ้น คำว่าดีสำหรับผู้ร่างกฏหมาย อาจไม่ได้ดีเสมอไปในทางปฏิบัติ บางมาตราเหมือนเป็นการหลอกตัวเองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เช่น ระบบ Primary Vote ซึ่งพรรคใหญ่เช่นเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้เดือดร้อน แต่พรรคเล็กอีกมากมีปัญหา จึงควรช่วยเหลือกัน
ในส่วนของการปฏิรูปการเมืองนั้น ตามที่มีผู้อภิปรายว่าเนื่องมาจากนักการเมืองในปี 2556 เสียงมากลากไป จึงเกิดกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากมองให้ดีจะเห็นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นดี เพราะอภัยโทษให้ทุกกลุ่ม ทุกสีเสื้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อความขัดแย้งนำไปสู่การชุมนุมของมวลมหาประชาชน และนำมาสู่ผลดีหรือผลเสียก็เห็นกันอยู่ ว่าปฏิรูปการเมืองแล้วดีขึ้นบ้างหรือไม่ คราวที่เขียนรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมตัวเองกลับเห็นว่าไม่มีปัญหา พรรคการเมืองถูกกระทำโดยตลอด ถูกผู้มีอำนาจและมีอาวุธขัดขวางการเติบโตและพัฒนา
"บางคนบอกว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่อยู่ในแวดวงการเมืองมาโดยตลอด ผมก็ไม่เคยบ่น เพราะถือว่าท่านมาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อใช้ฉบับนี้มา 3 ปีแล้วปฏิบัติไม่ได้ ก็ควรต้องปรับปรุงแก้ไข"
สมคิด ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยย้ำว่าจะขอรับหลักการของทุกฉบับ เพราะเห็นว่าหลักการใกล้เคียงกัน อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ในเมื่อเป็นความต้องการร่วมกันของพรรคการเมืองที่ต้องการแก้ไขปรับปรุงเหมือนกัน จึงไม่มีทางปฏิเสธได้เลย สำหรับผู้ที่จะไม่รับก็ไม่ต้องตกใจ แม้รับไปก็ไม่ได้เสียหาย เพราะในกรรมาธิการนั้น ใครเป็นเสียงข้างมากก็รู้กันอยู่ สุดท้ายตนย้ำว่า การแก้ไขร่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา คือทำให้กฏหมายดีขึ้น กรณีรับ-ไม่รับนั้นไม่มีผิดใจกัน แต่ขอใช้โอกาสชี้แจงเหตุผลในการแก้ไข
’เจตน์' หนุนร่าง 'เพื่อไทย' - 'ก้าวไกล'
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับเก็บค่าสมาชิกพรรค และแนวคิดว่าพรรคการเมืองควรจะตั้งง่าย และยุบยาก โดยการแก้ไขจากเดิมที่บังคับเก็บค่าสมัครสมาชิกปีละ 100 บาท และสมาชิกตลอดชีพ 2,000 บาทนั้น ให้ลดเหลือ 20 บาท และ 100 บาทตามลำดับ หรือจะไม่เก็บเลยก็ย่อมได้ ส่วนตนไม่ขัดข้องเพราะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยว่าอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานของพรรคการเมือง คงต้องมอบให้คณะกรรมาธิการไปพิจารณา
สำหรับไพรมารีโหวต นั้น ตนมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองขนาดเล็กอย่างแน่นอน เนื่องจากการจะหาฐานสมาชิกจำนวนมากนั้นทำได้ยาก ตนจึงเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ป.ของพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ยกเลิก หรือให้เป็นไปตามข้อบังคับของแต่ละพรรค อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขก็อาจสุ่มเสี่ยงจะขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง
ในส่วนของมาตรา 28-29 ที่ว่าด้วยการมิให้บุคคลภายนอกชี้นำพรรคการเมืองนั้น ปัญหาอยู่ที่การตีความคำว่า 'ครอบคลุม ครอบงำ ชี้นำ' และคำว่า 'ให้คำปรึกษา เสนอแนะ ให้ข้อมูล' อยู่ใกล้กันมาก พิสูจน์ได้ยาก และอาจเลี่ยงได้ในภาคปฏิบัติ จนกลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ตนเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องผลักดัน ร่าง พ.ร.ป.ของพรรคเพื่อไทยให้ผ่านไปยังคณะกรรมาธิการ เพราะหากร่างดังกล่าวนี้ผ่านไปยังวาระ 2 หรือ 3 จนถึงขั้นเสนอศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถูกปัดตกไประหว่างนั้น ตนจะเสียดายมาก เพราะเห็นว่า ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว มีความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญ
'เศรษฐกิจไทย' เตือนสภาฯ ออกกฏหมายต้องคำนึงความเป็นจริง อย่าหลอกตัวเอง ขอให้ออก กม. โดยคำนึงประโยชน์ส่วนรวม
ขณะที่ บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไทย อภิปรายว่า ระบบพรรคการเมืองของไทยในระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้จะรู้สึกเหมือนผ่านมายาวนาน แต่ต่างประเทศที่ยาวนานกว่าไทยยังมีอีกมาก การพัฒนาเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ พรรคการเมืองทุกวันนี้ จัดตั้งง่าย แต่อยู่ยาก กฏระเบียบที่มีอยู่มากมายต้องส่งเสริมพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง ด้วยประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือให้โอกาสประชาชนสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้โดยง่าย มีส่วนในการร่วมขับเคลื่อนพรรคการเมือง วันนี้ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในหลายประเด็น ก็ขอให้นำเรื่องเหล่านี้พูดคุยกันต่อในขั้นกรรมาธิการ
บุญสิงห์ กล่าวต่อว่า หลายท่านเสนอให้มีไพรมารีโหวต เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมีบทบาทร่วม ได้แสดงความเป็นเจ้าของ และแสดงออกว่าพรรคการเมืองไม่ใช่มีคนไม่กี่คนเพียงเจ้าของ ซึ่งก็ถูกต้อง แต่จะทำได้จริงเพียงไร เพราะเมื่อพรรคการเมืองเดินสายประกาศหาผู้สมัคร บางทีผู้สมัครคนเดียวประกาศชื่อซ้อนกัน 3-4 พรรคก็มี นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองมีการเตรียมผู้สมัครไว้ล่วงหน้า ทั้งที่อีกตั้งปีกว่าจะหมดวาระของสภา หากไม่มีการยุบสภาฯ เสียก่อน แต่ทุกวันนี้แต่ละพรรคเริ่มมีการเฟ้นหาและประกาศตัวผู้สมัครกันแล้ว แปลว่าถ้ามีการกำหนดกระบวนการเหล่านี้ในกฏหมาย ถือว่าหลอกตัวเอง เพราะได้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แล้ว ก่อนจะถึงการเลือกตั้งเป็นปีใช่หรือไม่ ดังนั้น กฏหมายที่ออกมาจะต้องสอดคล้องกับบริบทบ้านเมืองในปัจจุบัน
บุญสิงห์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาส ไม่ทราบว่าจะครั้งสุดท้ายหรือไม่ ในการแก้ไขกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้ก็จะปิดสมัยประชุมรัฐสภาแล้ว อยากเห็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ช่วยออกกฏหมายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ และเพื่อความผาสุกของประชาชน อย่าเอาเป้าหมายหรือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เราจะได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสภา
"ส.ส. โดยเฉพาะแบบแบ่งเขต คงมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากกลับไปลงพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งโควิดกำลังระยาดหนัก พรรคเศรษฐกิจไทยได้สัดส่วนเวลา 22 นาที แต่ผมขอใช้เวลาเพียงเท่านี้ เพื่อให้ ส.ส. ได้ไปลงพื้นที่กัน" บุญสิงห์ กล่าว
มติรัฐสภาคว่ำร่าง 3 ฉบับฝ่ายค้าน-รับร่าง รบ. 3 ฉบับ
ภายหลังเปิดให้สมาชิกรัฐสภา อภิปรายและให้ผู้เสนอร่างกล่าวสรุปแล้ว จากนั้น เวลา 19.28 น. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติว่าจะรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 6 ฉบับหรือไม่ โดยที่ประชุมรัฐสภารับหลักการเพียง 3 ฉบับ และไม่รับหลักการ 3 ฉบับของพรรคฝ่ายค้าน
โดยผลการลงมติ มีดังนี้
1.ฉบับที่ ครม. เป็นผู้เสนอ มีมติเห็นด้วย 598 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง
2.ฉบับที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และคณะ เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 207 เสียง ไม่เห็นด้วย 375 เสียง งดออกเสียง 37 เสียง
3.ฉบับที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 221 เสียง ไม่เห็นด้วย 371 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
4.ฉบับที่ วิเชียร ชวลิต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และคณะ เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 578 เสียง ไม่เห็นด้วย 19 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง
5.ฉบับที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 204 เสียง ไม่เห็นด้วย 381 เสียง งดออกเสียง 34 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
และ 6.ฉบับที่ อนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ และคณะ เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 408 เสียง ไม่เห็นด้วย 184 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
จากนั้นที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จำนวน 49 คน โดยใช้กรรมาธิการชุดเดียวกับกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน พร้อมใช้ร่างที่ วิเชียร ชวลิต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และคณะ หรือร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณาวาระที่ 2
จากนั้นเวลา 19.50 น. เลขาธิการรัฐสภาได้ลุกขึ้นอ่านพระบรมราชโองการ พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มี.ค.นี้
จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวขอบคุณ และอวยพรให้เพื่อนสมาชิกปลอดภัยจากโควิด-19 แล้วกลับมาทำงานร่วมกันในสมัยประชุมปีสุดท้ายต่อไป ก่อนกล่าวปิดประชุมในทันที