เมื่อวันที่ 23 มี.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 16 ออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 นั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอนเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อันส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ประชาชนส่วนใหญ่เข้ารับการฉีดวัคซีน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดแล้วก็ตาม แต่ในช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม จะมีวันหยุดต่อเนื่องหลายช่วง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว รวมทั้งอาจจัดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน ประกอบกับการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยง ยังอยู่ในระดับต่ำ หากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น จะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขและชีวิตของประชาชน กรณีจึงจำเป็นต้องคงไว้ ซึ่งมาตรการในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขของชาติ และชีวิตของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565 จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.2565