ไม่พบผลการค้นหา
สื่อการเงินชี้ปัจจัย 'การเมืองที่อ่อนแอ' และ 'เศรษฐกิจโลก' ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศไทย รวมถึงการส่งออก ตอกย้ำภาพ 'ผู้ป่วย' เเห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Financial Time นิตยสารการเงินเผยแพร่บทความ Thailand remains the sick man of south-east Asia (ประเทศไทยยังเป็นคนป่วยแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) โดยอ้างอิงจากรายงานของหน่วยวิจัยของ FT ชี้ว่า แม้ว่า ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ จะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 แต่การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะมีความยากลำบากกว่าการจัดการเลือกตั้ง และอาจจะมีแนวโน้มไม่สามารถประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้กลับคืนมาได้ รวมไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ของประยุทธ์

FT กล่าวว่า รัฐบาลใหม่จะสืบต่อนโยบายและผลงานทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลประยุทธ์ได้ทำไว้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหารพฤษภาคมปี 2557 ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาประยุทธ์จะมีอำนาจที่ไม่จำกัด แต่เศรษฐกิจของประเทศกลับมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และปัจจุบันประยุทธ์ยังต้องเผชิญหน้ากับจัดตั้งรัฐบาลผสมที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ซึ่งจะส่งผลต่อการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ที่จะยากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจจากภายนอกที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่การทำรัฐประหาร ซึ่งที่ผ่านมา GDP ของไทยขยายตัวต่ำกว่า 2.8 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสล่าสุด ขณะที่การค้าทั่วโลกก็ชะลอตัวส่งผลต่อการส่งออกของไทย และภาคเอกชนยังชะลอตัวในการบริโภคสินค้าต่างๆ ด้วยเช่นกัน ขณะที่สภาวะการคลังของรัฐบาลก็ตกอยู่ในสถานะที่เริ่มแย่ลง

ทั้งนี้ FT วิจารณ์ว่า แทนที่รัฐบาลประยุทธ์จะพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ พลเอกประยุทธ์กลับสานต่อนโยบายประชานิยมของรัฐบาล คสช.ทั้งการแจกเงิน และนโยบายให้เงินอุดหนุนชาวนา รวมไปถึงการขยายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะช่วยเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น และไม่สามารถเป็นมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวได้

ความป่วยและการเป็นผู้ป่วยของไทย

นับตั้งแต่ปี 2557 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ของไทยนั้นขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 5-6.2 เปอรเซ็นต์ ในปี 2562

ขณะที่ธนาคารโลกประเมินตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลดลงเหลือ 3.5 เปอร์เซ็นต์ จาก 3.8 เปอร์เซ็นต์ ทางด้านสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งเป้า การขยายตัวของ GDP เพียง 3.3-3.8 เปอร์เซ็นต์ จาก 4 เปอร์เซ็นต์

สำหรับเหตุผลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยนั้น คือ ภาคการส่งออกและการบริโภคของประชาชนที่ชะลอตัวมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2557 จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งมีผลให้การส่งออกของไทยขายตัวเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ และนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 การส่งออกของไทยนั้นเฉลี่ยเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น ขณะที่การบริโภคของประชาชนมีแนวโน้มที่ขยายตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่ก็ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันก่อนหน้านี้

FT ยังกล่าวว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงอีกครั้งในเร็วๆ นี้ หลังจากรัฐบาลประกาศว่า การเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับปี 2563 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึง มกราคม 2563 จะล่าช้าออกไป 3 เดือน ซึ่งสำนักงบประมาณคาดว่า เงินก้อนดังกล่าวจะเป็นงบประมาณ 70,000 -80,000 ล้านบาท

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้นตกต่ำที่สุดในรอบ 19 เดือน แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองดูเหมือนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ประชาชนจำนวนมากมีความกังวลต่ออายุของรัฐบาลใหม่ และผลโพลของสวนดุสิตโพลเมื่อเดือนมิถุนายนระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 74 เปอร์เซ็นต์นั้นคาดว่า รัฐบาลใหม่จะมีอายุไม่ครบวาระ 4 ปี

ประชานิยมบนกับดักและหนี้ที่เพิ่มขึ้น

FT กล่าวว่า รัฐบาลประยุทธ์ในสมัยที่ 2 นี้จะเผชิญหน้ากับกับดักทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเอาใจกลุ่มคนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ และการรักษาเสถียรภาพและผลประโยชน์ให้แก่ 19 พรรคการเมืองไปพร้อมๆ กันนั้น ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยรักษาเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่จะเพิ่มแรงกดดันทางการคลังในระยะยาว

ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 34 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ปีที่ผ่านมา จากที่ในปี 2014 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และแม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะยังต่ำกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม แต่หนี้สาธารณะของไทยอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ภายใน 4 ปีข้างหน้านี้

และนอกจากนี้รัฐบาลสมัยที่ 2 ของประยุทธ์ยังจะต้องดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้กับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งการเพื่มค่าแรง 30 เปอร์เซ้นต์ ท่ามกลางความกังวลในภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งนโยบายขึ้นค่าแรงนั้นเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างหนักในรัฐบาลก่อนที่ถูกรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ นอกจากนี้พรรคพลังประชารัฐยังหาเสียงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาดจริง

นอกจากนี้ FT ยังชี้ว่า รัฐบาลใหม่ของพลเอกประยุทธ์จะเร่งผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อจากรัฐบาลทหารที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดอย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินนานาชาติกรุงเทพและสนามบินอุ่ตะเภา มูลค่า 225 ล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ - หนองคายอีก 300 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการ EEC ที่จะยังคงเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่

รัฐบาลประยุทธ์ 2.0 มีอายุขัยสั้น

FT ระบุว่า นักลงทุนต่างเชื่อว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 2.0 นี้จะมีอายุขัยที่ไม่ยาวนานนัก เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองในรัฐสภาของรัฐบาลที่มีน้อย โดยพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนเพียง 245 เสียง  ซึ่งมาจากเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์อีก 17 พรรคซึ่งคุมเสียงจำนวน 137 เสียง มากกว่าพลังประชารัฐที่มีเสียงเพียง 121 เสียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียเสียงสนับสนุนในสภาก็ไม่ได้ทำให้เสียเสียงสนับสุน เนื่องจาก คสช.ได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อสนับสนุนประยุทธ์และการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเช่นกัน อย่างไรก็ตามประยุทธ์จะต้องเผชิญกับลงคะแนนไม่ไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจทำให้ประยุทธ์หลุดออกจากตำแหน่งและเสี่ยงต่อการรัฐประหารอีกครั้ง

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านที่เพิ่มขึ้นจากพรรคฝ่ายค้าน และการที่รัฐบาลต้องการเสียงจาก สส.ในการโหวตในสภา นอกจากนี้ FT ยังชี้ว่า ประยุทธ์อาจจะต้องเผชิญกับการประท้วงบนถนนอีกด้วย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลหนึ่งในนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงของไทย ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ‘เราควรเรียนรู้จากฮ่องกง’

ข่าวที่เกี่ยวข้อง