ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ก้าวไกล ลุยตรวจสอบพื้นที่หลังสภาฯ ปิดประชุม พบนักเรียนกว่าครึ่งเรียนออนไลน์ไม่ได้ - ครูห่วงเด็กเตรียมสอบ o-net ไม่ทัน จี้รัฐหามาตรการรองรับที่ชัดเจน ยก ตปท.จัดการสอนในโรงเรียนได้ โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ปกครองแม้เผชิญพิษโควิดเช่นกัน ย้ำเตรียมหารือในสภาฯแก้ปัญหา

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล และทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความพร้อมของโรงเรียนต่างๆ ในการสนับสนุนการเรียนออนไลน์  ในช่วงวันที่ 6-8 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจังหวัดพิษณุโลกถูกประกาศให้เป็นเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (พื้นที่สีเหลือง) ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกประกาศปิดโรงเรียน ทำให้เห็นภาพบรรยากาศที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องนำบุตรหลานของตนเองไปทำงานด้วย

จากการสำรวจของทีมงาน พบว่า ในบางโรงเรียนนักเรียนที่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์เพียงแค่ 40% ส่วนใหญ่ขาดอุปกรณ์การสื่อสาร และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึงความพร้อมของผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานเนื่องจากบางครอบครัวต้องทำงาน และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากที่ปกติแล้วเด็กจะทานอาหารฟรีที่โรงเรียน โดยทั้งหมดนี้ไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบจากรัฐแต่อย่างใด

พบนักเรียนเกินครึ่งเรียนออนไลน์ไม่ได้ - ครูห่วงติวไม่ทันสอบ o-net

ด้านครูจากโรงเรียนวัดบึงพระ ต.บึงพระ สะท้อนว่า การปิดโรงเรียนเนื่องจากสถาการณ์โควิดเป็นเรื่องที่ดี ทว่าสิ่งที่น่ากังวลเป็นเรื่องการสอบโอเน็ต ที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค. นี้ หากเด็กไม่สามารถมาโรงเรียนได้ อาจจะมีผลต่อการจัดการเรียนการสอน และผลสอบของนักเรียน เนื่องจากยังมีนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การสื่อสาร และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถเรียนออนไลน์จากที่บ้านได้ เด็กประมาณ 60% ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์

เช่นเดียวกับครูที่โรงเรียนวัดศรีรัตนาราม หรือ ‘วัดจูงนาง’ ที่สะท้อนความน่าเป็นห่วง เรื่องการจัดสอบ o-net เดิมทีมีข่าวว่าจะมีการเลื่อนออกไป แต่สุดท้ายกลับมีการประกาศห้องสอบ ซึ่งหากมีการจัดสอบจริง มีความกังวลว่านักเรียนอาจจะติวสอบไม่ทัน

ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเด็ก - ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

เมื่อเดินไปตามหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ จะพบว่า บรรยากาศเต็มไปด้วยเด็กเล็ก กลุ่มหนึ่งกำลังวิ่งเล่นด้วยกัน โดยไม่มีผู้ปกครองดูแล บ้างอยู่ในบ้านกับผู้ปกครอง จากการพูดคุยกับผู้ปกครอง หลายเสียงสะท้อนว่า เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ทำให้มีภาระด้านค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่วนบางครอบครัวพบเด็กเล็กอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุเนื่องจากพ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้ปกครองส่วนหนึ่งจำเป็นต้องนำเด็กไปทำงานด้วย 

ผู้ปกครองรายหนึ่งเผยว่า ตนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 บาทต่อวัน จากการที่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะโดยปกติเด็กจะรับประทานอาหารฟรีที่โรงเรียน แต่เมื่ออยู่บ้านก็จะต้องจ่ายทั้งค่าอาหาร และค่าขนมที่เพิ่มขึ้น

ส.ส. ก้าวไกล อภิปรายนอกสภาฯ - ยก ตปท. ยังจัดการเรียนการสอนได้

ขณะที่ปดิพัทธ์ กล่าวว่า จากการสำรวจผลกระทบในการปิดโรงเรียนและมาตรการความพร้อมรับมือโควิด ที่โรงเรียนทั้งสองแห่งในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งปิดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ตามมาตรการของจังหวัด

“คุณครูทุกท่านแสดงความห่วงใยต่อนักเรียน ที่กระทบต่อการเตรียมสอบ และในความสับสนของการยกเลิกการสอบโอเน็ตในปลายปีที่แล้ว แต่ปีนี้เหมือนจะมีสอบอีก ทำให้เกิดความเครียดทั้งครูและนักเรียนทุกคน” ปดิพัทธ์ กล่าว

เขายังยกตัวอย่างประเทศต่างๆ มีมาตรการที่รอบคอบในการปิดโรงเรียน โดยคำนึงถึงภาระของผู้ปกครองและสวัสดิภาพของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการให้วันหยุดทำงานกับผู้ปกครอง การจัดเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต่างกับประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ประเทศ ฝรั่งเศส ที่สั่งปิดการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น แต่ผู้ปกครองลาป่วยได้ 14 วันโดยยังได้รับค่าจ้าง หากต้องหยุดงานเพื่ออยู่ดูแลลูก เช่นเดียวกับนอร์เวย์ และเบลเยี่ยม  ที่ปิดการเรียนการสอน แต่โรงเรียนยังเปิดทำการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองที่ไม่สามารถดูแลลูกที่บ้านได้เป็นต้น

ปดิพันธ์กล่าวอีกว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรปิดประชุม ทำให้ไม่มีพื้นที่ในการสะท้อนปัญหานี้สู่รัฐบาล ที่ยังคงสับสนคลุมเครือไร้ความรับผิดชอบในหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ่อน แรงงานผิดกฏหมาย แอปพลิเคชันหมอชนะ คำสั่งล็อกดาวน์ที่มีความสับสน ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนจะไม่หยุดเสนอเรื่องความทุกข์ร้อนของทุกท่านสู่รัฐบาล รวมทั้งจะทำเป็นหนังสือหารือถึงสภาฯในเรื่องนี้ ให้มีการแก้ไขโดยด่วน