แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การเคลื่อนไหวของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ที่ระบุว่า ในวันที่ 13มี.ค.นี้ ชูวิทย์จะไปยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมกาป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิไจไทย ในข้อหาซุกหุ้นกับนอมินีและใช้ หจก.บุรีเจริญคอนสตรักชั่นที่มีคนใกล้ชิดครอบครัวชิดชอบมาประมูลงานในกระทรวงคมนาคม และขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรรมการปปช.บางราย จากนั้นจะไปยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ ศักดิ์สยามในข้อหาคนใกล้ชิด ศักดิ์สยามบริจาคเงิน 7.5ล้านบาทให้พรรคภูมิใจไทยนั้น
แหล่งข่าวรายเดิมแจ้งว่า ชูวิทย์ดำเนินการเรื่องนี้ในช่วงใกล้ยุบสภาฯ เพราะต้องการดิสเครดิตพรรคภูมิใจไทยโดยมีการประสานทางลับกับบางฝ่าย เพราะอย่าลืมว่าเมื่อวันที่1มี.ค.ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด ( มหาชน ) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนไปแล้วก็ตามแต่ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องอยู่ในชั้นศาลอีกสามคดี และเรื่องนี้ต้องรอครม.ว่าจะให้ความเห็นชอบเมื่อใด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทราบว่าในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 มีกระแสข่าวว่า องค์คณะไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติเสียงข้างมากแจ้งข้อกล่าวหาม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.กับพวกรวมสิบสามราย กรณีว่าจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนเพียงรายเดียว ต่อมาในห้วงกลางเดือน ก.พ.2566 ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอตรวจพยานหลักฐานฯแล้ว และรอว่า ป.ป.ช.จะสรุปยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิบสามรายเมื่อใดเพราะคดีจะขาดอายุความในปีนี้
แหล่งข่าวแจ้งว่าทราบว่าผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 30 รายนั้นคือ มรว.สุขุมพันธุ์, ธีระชน มโนมันพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม., ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด, อมร กิจเชวงกุล กรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด, เจริญรัตน์ ชุติกาญจน์ ปลัดกทม., นินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกทม., จุมพล สำเภาพล ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง, ธนา วิชัยสาร ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง,กฤษณ์ เกียรติพนชาติ ผอ.กองการขนส่ง, คีรี กาญจนพาสน์ กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน), สุรพงษ์ เลาหปัญญา กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน),บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด,บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
“การดำเนินการของปปช.ในห้วงเวลาข้างต้นสอดรับกับการเคลื่อนไหวของ ชูวิทย์ในห้วงเวลานี้ เพราะจะเห็นว่า ชูวิทย์ได้เคลื่อนไหวช่วงที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด ( มหาชน ) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม”
แหล่งข่าว กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าตัวเลขที่ ชูวิทย์อ้างว่า บีทีเอสเสนอราคาต่ำกว่านั้น ตัวเลขมาจากไหน เพราะไม่มีการเปิดซองประมูลครั้งที่หนึ่งและเป็นตัวเลขที่บีทีเอสอ้างขึ้นมาลอยๆ โดยไทม์ไลน์เบื้องต้นเรื่องนี้คือ วันที่ 28 ม.ค.2563 มติ ครม.อนุมัติให้ รฟม.คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ว้นที่3 ก.ค.2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯได้อนุมัติ RFP (Request For Proposal) หรือ TOR เพื่อคัดเลือกเอกชน โดยให้เสนอซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค และซองการเงิน ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติและเทคนิค และให้ผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ แต่ก่อนยื่นซอง 1 เดือนเกิดอุบัติเหตุในโครงการรถไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง ประกอบกับสายสีส้มเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องขุดสถานี-อุโมงค์ผ่านสถานที่สำคัญและเกาะรัตนโกสินทร์ ต้องใช้เทคนิคก่อสร้างและเดินรถที่มีความปลอดภัยสูง รฟม.จึงเสนอให้ คณะกรรมการคัดเลือกฯทบทวนวิธีประเมินเพื่อให้ความสำคัญกับด้านเทคนิคมากขึ้น
วันที่27 ส.ค.2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯเห็นชอบให้เปลี่ยนวิธีประเมินจาก ตัดสินด้วยการเงินเป็นตัดสินด้วยคะแนนรวมด้านเทคนิค+การเงิน (30 : 70 รวม 100 คะแนน) โดยขยายเวลายื่นซองไป 45 วัน (จาก 23 ก.ย.2563 เป็น 9 พ.ย.2563 )เพื่อให้เอกชนมีเวลาเตรียมข้อเสนอมากขึ้น และตอนนั้นเอกชนบางรายฟ้องศาล ต่อมาวันที่9 พ.ย.2563 รฟม.เปิดรับซองข้อเสนอ มีผู้ยื่น 2 ราย คือ กลุ่ม BTS และ BEM แต่ไม่ได้เปิดซอง
วันที่3 ก.พ.2564 การฟ้องร้องคดีทำให้การคัดเลือกล่าช้า ส่งผลให้การเปิดบริการสายสีส้มล่าช้ากว่า 2 ปี คณะกรรมการคัดเลือกฯจึงมีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกและคัดเลือกใหม่ เพราะจะทำให้การคัดเลือกแล้วเสร็จได้โดยเร็ว โดย รฟม.ได้คืนค่าใช้จ่ายในการซื้อ RFP แก่เอกชนทุกราย และคืนซองข้อเสนอซึ่งยังมิได้เปิดแก่เอกชนทั้ง 2 ราย
“แปลว่าขณะยกเลิกการประมูลครั้งแรก ยังไม่ได้เปิดซองข้อเสนอ ชูวิทย์มักอ้างเสมอๆว่าการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งถูกล้มไป โดยนายชูวิทย์อ้างว่าบีทีเอส ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท ตัวเลขนี้มาจากไหน เพราะยกเลิกการประมูลไปแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชนะการประมูลในการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM มากกว่าให้แก่ บีทีเอสถึง 68,612.53 ล้านบาท รวมทั้งจะมีเงินทอนสามหมื่นล้านบาทในโครงการนี้ แต่ ชูวิทย์ยังไม่เปิดเผยหลักฐานเงินทอนดังกล่าว ย้ำว่าการประมูลครั้งแรก ยังไม่ได้เปิดซองข้อเสนอ ตัวเลขขอบีทีเอสที่ ชูวิทย์อ้างนั้น ถามว่าลอยมาจากไหน ”แหล่งข่าวจากทำเนียบฯ กล่าว
แหล่งข่าวยังกล่าวว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ ชูวิทย์โจมตีการประมูลสาย สีส้มและ ป.ป.ช.บางคนนั้น ประเมินว่า เกิดขึ้นเพื่อกดดันป.ป.ช.ไม่ให้ชี้มูลความผิดกับบีทีเอสหรือไม่ เพราะ ชูวิทย์ขยับเรื่องนี้น่าจะมีเหตุจากบีทีเอสจะถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาว่าทุจริตการต่อสัญญาสายสีเขียว และอย่าลืมว่า ชูวิทย์อ้างเสมอว่ารับงานบีทีเอสมาดำเนินการ
แหล่งข่าวระบุว่า ทราบว่าการดำเนินการครั้งนี้ต่อ ป.ป.ช.ของ ชูวิทย์นั้น นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ผลงานเป็นที่จับตาของสังคมและมีความใกล้ชิดกับ ชูวิทย์ได้ร่วมมือกับอดีตที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช.บางคนแจ้งข้อมูลบางอย่างให้ ชูวิทย์ดำเนินการ เพราะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนนี้กำลังถูกปปช.ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ประกอบกับตอนนี้ป.ป.ช.กำลังสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ใหม่จำนวนสามคน โดยทราบว่านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนนี้ประสานกับกรรมการป.ปช.บางคนเพื่อให้บุคคลใกล้ชิดได้รับการคัดเลือกเป็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งขอให้สังเกตกระแสข่าวในช่วงที่ผ่านมาว่าการชี้มูลของ ป.ป.ช.หลายวาระนั้นมีความขัดแย้งภายในเพราะ ป.ป.ช.บางคนพยายามช่วยเหลือบางฝ่ายที่ถูกกล่าวหาให้พ้นผิด ทั้งๆที่หลักฐานปรากฏชัดเจน
หากพิจารณากฎหมายคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุดจะพบว่า ป.ป.ช.ยังให้รายละเอียดต่างๆในการพิจารณาสำนวนคดีต่อสาธารณะไม่ได้เพราะเป็นชั้นความลับในการไต่สวนและชี้มูลความผิดจนกว่าจะยื่นฟ้องต่อศาล ดังนั้นการดิสเครดิต ป.ปช.ในตอนนี้ของ ชูวิทย์จึงน่าจะเป็นการกลบเกลื่อนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวพันกับตัวเองและคนใกล้ชิด รวมทั้งการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยใช้การโจมตีพรรคภูมิใจไทยและคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาปั่นกระแส คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ขณะเดียวกัน หากข้อเท็จจริงดังกล่าวของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้และใกล้จะชี้มูลความผิด โดยบุคคล นิติบุคคลบางรายในจำนวนสิบสามรายที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ทำไมการประมูลรอบสองที่มีการซื้อซองประมูล 14 ราย โดยบีทีเอสก็ร่วมซื้อซองประมูลครั้งนี้ด้วย แต่บีทีเอสไม่ยื่นเสนอราคาจนมีผู้ยื่นราคาสองรายและได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้วจึงออกมาโจมตีเงินทอนสามหมื่นล้านบาทตรงนี้ ชูวิทย์ขยับเพื่อช่วยบีทีเอสเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ ขอให้สังคมช่วยพิจารณากันด้วย