ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 มี.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทางองค์การไม่แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มในขนาดปกติ สำหรับผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงปานกลางอีกต่อไป เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้รับมีเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนหลักและวัคซีนกระตุ้นแล้ว 1 โดส ไม่มีความเสี่ยงที่จะมีการฉีดกระตุ้นอีกโดส

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (SAGE) ของหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งสหประชาชาติ ได้ออกคำแนะนำที่เป็นปัจจุบัน หลังการประชุมประจำปีตามปกติ โดยคำแนะนำใหม่นี้สะท้อนถึงผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ทั้งหมด และการสร้างภูมิคุ้มกันระดับสูงในประชากรในปัจจุบันประสบผลสำเร็จแล้ว ผ่านการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน

SAGE จัดทำหมวดหมู่ลำดับความสำคัญขึ้น 3 หมวดหมู่ สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระดับสูง ปานกลาง และต่ำ โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของโรครุนแรงหรือการเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมหลังจากฉีดครั้งแรก สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการเกิดโรคโควิด-19 ขั้นรุนแรง รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ เอชไอวี สตรีมีครรภ์ และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

ทั้งนี้ SAGE ได้จัดกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งมักมีอายุต่ำกว่า 60 ปี และเด็กตลอดจนวัยรุ่นที่มีโรคร่วม โดย SAGE แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนหลัก และวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม โดย ฮานนา โนฮีเนก ประธาน SAGE กล่าวย้ำว่า "เมื่อพูดถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง เราไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเติม”

“วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันโรคร้ายแรงและการเสียชีวิต” โนฮีเนกกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง แม้ว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ ในการฉีดวัคซีนอีก แต่ “ประโยชน์ของเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมเหล่านี้ค่อนข้างมีน้อยมาก”

SAGE จัดประเภทกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นที่มีสุขภาพดีอายุ 6 เดือนถึง 17 ปี แม้ว่าปริมาณวัคซีนหลัก และปริมาณวัคซีนกระตุ้นจะปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่เมื่อพิจารณาถึงภาระโรคโควิด-19 ที่ต่ำ SAGE กล่าวว่าการตัดสินใจฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ ควรขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยเชิงบริบท” เช่น ลำดับความสำคัญของโครงการด้านสุขภาพ และความคุ้มค่า ทั้งนี้ “แม้ว่าอัตราโดยรวมจะต่ำ แต่ภาระของโควิด-19 ที่รุนแรงในทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ยังคงสูงกว่าในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี” รายงานระบุ

การให้วัคซีนแก่สตรีมีครรภ์ รวมถึงการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมหากได้รับวัคซีนเข็มก่อนผ่านไปนานกว่า 6 เดือนนับจากเข็มสุดท้าย ช่วยปกป้องทั้งแม่เด็กและทารกในครรภ์ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดโอกาสในการรักษาตัวในโรงพยาบาลของทารกที่ติดเชื้อโควิด-19

สำหรับผลกระทบของวัคซีนโควิด-19 ต่อโควิดระยะยาว หรือสภาวะหลังการติดเชื้อ SAGE กล่าวว่า “หลักฐานเกี่ยวกับขอบเขตของผลกระทบไม่สอดคล้องกัน” ทั้งนี้ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีน โควิด-19 ไปแล้วกว่าเกือบ 1.33 หมื่นล้านโดสทั่วโลก

เคท โอเบรียน หัวหน้าฝ่ายวัคซีนของ WHO กล่าวว่าด้วยสายพันธุ์โอไมครอน วัคซีนที่มีอยู่ได้สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีมากต่อโรคร้ายแรง แต่ "พูดกันตรงๆ พวกมันอยู่ได้ไม่นานนัก สำหรับประสิทธิภาพที่พวกมันมีต่ออาการของโรคหรือการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย"

WHO กำลังมองหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดใหม่ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ที่หลากหลาย มีความทนทานนานกว่า และมีประสิทธิภาพดีกว่าในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ WHO ยังกำลังแสวงหาวัคซีนที่เปลี่ยนจากวิธีการฉีด และการเก็บแบบเย็นพิเศษ ไปเป็นวิธีการแบบใช้วัคซีนทางจมูก ปาก และแผ่นแปะผิวหนัง

โจอาคิม ฮอมบาค เลขาธิการบริหารของ SAGE พูดถึงวัคซีนฉีดจมูก 2 ชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนที่ใช้ในประเทศจีนว่า “เรารู้ว่าพวกมันสร้างภูมิคุ้มกันได้… แต่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือ ข้อมูลที่ศึกษาผลกระทบต่อการแพร่เชื้อจริงๆ เพราะนั่นอาจทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญ”


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/3/28/covid-19-who-says-no-extra-booster-needed-for-medium-risk-adults?fbclid=IwAR18Fg1mHWEcN2iWm0VA-OT1LdJxE-lGiJ0JjXIxWYt8UthKiWb2sDP3uB8