ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจัยลบทั้งโรคระบาด ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตร การว่างงาน ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดึงกำลังซื้อ หายไป 5,000 ล้านบาท/วัน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ประจำเดือน มี.ค.2563 ตกต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี 6 เดือน คืออยู่ที่ 50.3 จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 64.8 ในเดือน ก.พ.

ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทั้งในมิติของสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต กล่าวคือ ลดลงจาก 42.7 เป็น 33.6 สำหรับความเชื่อมั่นฯ ในปัจจุบัน ส่วนความเชื่อมั่นฯ ในอนาคตลดลงจาก 74.3 เป็น 58.2  

หอการค้า

ในทำนองเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำและรายได้ในอนาคตก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ ลดลงจาก 61.4 ในเดือน ก.พ.เป็น 49.3 ในเดือน มี.ค.สำหรับการหางานทำ และลดลงจาก 80.4 เป็น 59.9 สำหรับรายได้ในอนาคต โดยเมื่อสรุปเป็นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม พบว่าดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.6 จากเดิมที่ 52.5

หอการค้า

นอกจากนี้ ในมิติที่สะท้อนการใช้จ่ายของประชาชน พบว่ามีสัดส่วนที่ต่ำลงแทบทั้งสิ้น ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 40.1 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 52.3 เช่นเดียวกับดัชนีการซื้อบ้านและการท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่ระดับต่ำในเดือน มี.ค.คือ 26.2 และ 32.4 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการทำธุรกิจนั้นอยู่แค่ 14.3 เท่านั้น 

หอการค้า

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ผลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความกังวลอย่างชัดเจนกับผลการสำรวจที่เกิดขึ้น เนื่องจากดัชนีชี้วัดทุกประเภทหดตัวต่ำลงเกินสิบจุดแทบทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นการย่อตัวแรง และแสดงอาการความผิดปกติของเศรษฐกิจเทียบเท่ากับระดับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 

หอการค้า
  • ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ผลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

กำลังซื้ออย่างน้อย 5,000 ล้าน/วัน จะหายไป

ปัจจัยหลักที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมาจากผลกระทบจากสารพัดปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจไทย ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่ง ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่าแม้ราคาข้าวส่งออกจะปรับตัวสูงขึ้นบ้างแต่เม็ดเงินนั้นก็ตกไปถึงเกษตรกรผู้ผลิตน้อย อีกทั้งภาคเกษตรกรรมของไทยยังต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้งและผลผลิตลดลง รวมไปถึงคนงานอีกนับล้านคนที่อาจเผชิญการว่างงาน 

ปัจจัยลบทั้งหมดนั้นส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน และอัตราการเติบโตของประเทศ (จีดีพี) โดย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า ปกติแล้วเม็ดเงินที่สะพัดจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนไทยต่อวันตกอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่จากมาตรการการปิดเมืองรวมไปถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ออกมา ทำให้เม็ดเงินจะลดลงอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท/วัน 

นอกจากนี้ เมื่อมองในภาพใหญ่ของประเทศจากภาคการท่องเที่ยวที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในไตรมาสหนึ่งหายไปเกือบร้อยละ 40 และเมื่อคำนวณการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 45,000 - 50,000 บาท จะพบว่าเศรษฐกิจไทยจะสูญเสียรายได้ไปประมาณ 700,000 ล้านบาท 

เมื่อคำนวณเป็นการสูญเสียต่อเดือน รายได้ของประเทศครึ่งปีแรกจะหายไปประมาณ 1 - 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาล่าสุดน่าจะแบ่งมาที่การพยุงเศรษฐกิจได้ราว 6 - 8 แสนล้านบาท แต่ก็ต้องติดตามเรื่องการส่งผ่านและวิธีอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบต่อไป 

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ สรุปว่าผลกระทบครั้งนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (recession) ที่มีเงื่อนไขคือการหดตัวติดลบต่อเนื่องสองไตรมาสของจีดีพีอย่างแน่นอน และก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression) หรือจีดีพีติดลบทั้งปีได้เช่นเดียวกัน หากไม่สามาถควบคุมการแพร่ระบาดไว้ภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ รวมถึงยังต้องรอดูปัจจัยการควบคุมโรคระบาดของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทยด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :