ประเด็นที่ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงนั้น เป็นเพราะสัญญาณชีพจรดังกล่าวสามารถปรากฏได้ตั้งแต่ยังมีอายุครรภ์เพียง 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สตรีเจ้าของครรภ์เองก็แทบจะไม่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์อยู่ จึงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลไม่ต่างกับกฎหมายห้ามทำแท้งโดยสมบูรณ์ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร่างกฎหมายนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เพราะฝ่ายนิติบัญญัติและนักการเมืองส่วนใหญ่ที่สนับสนุนร่างกฎหมายแบนไม่ให้ผู้หญิงทำแท้ง ล้วนเป็นผู้ชายซึ่งไม่เข้าใจธรรมชาติประจำเดือนและการตั้งครรภ์ของผู้หญิง
โดยในปี 2019 เพียงปีเดียวก็มีการผ่านกฎหมายที่มีเนื้อหาต่อต้านการทำแท้งแล้วถึง 7 รัฐ ได้แก่ รัฐมิสซิสซิปปี เคนทักกี มิสซูรี จอร์เจีย โอไฮโอ แอละแบมา และลุยเซียนา แม้ในบางรัฐจะมีการระงับการบังคับใช้โดยศาลรัฐบาลกลางก็ตาม
จุดยืนของฝ่ายสนับสนุนกฎหมายต่อต้านการทำแท้งเหล่านี้ คือการมองว่าทารกเป็นชีวิตหนึ่งที่บริสุทธิ์ และไม่สมควรถูกฆ่า โดยมักมีอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานชีวิตมาให้ ซึ่งเป็น
'เคย์ ไอวีย์' ผู้ว่าการรัฐแอละแบมา พรรครีพับลิกัน กล่าวก่อนลงนามในกฎหมายต่อต้านการทำแท้งว่า กฎหมายนี้เป็นจุดยืนของชาวแอละแบมาที่เชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า และทุกชีวิตเป็นของขวัญอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า
'วาลารี ฮอดจ์ส' ส.ส. พรรครีพับลิกันรัฐลุยเซียนา กล่าวว่าเสียงหัวใจเต้นของทารกเป็นเครื่องยืนยันว่ามีชีวิตใหม่ดำรงอยู่
"ฉันเชื่อว่าสิทธิในการมีชีวิต อยู่เหนือสิทธิอื่นใดที่เรามี" ฮอดจ์ส กล่าวยืนยันว่าสิทธิในการมีชีวิตของทารก สำคัญกว่าสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิง
สิ่งที่เพิ่มเติมมาจากจุดยืนเดิมของฝ่ายโปรไลฟ์ (สนับสนุนชีวิตทารกที่ยังไม่เกิด) ในกรณีกฎหมาย fetal heartbeat bill นี้ คือเรื่องของสัญญาณชีพจร
"การเต้นของหัวใจเป็นเครื่องหมายสากลของการมีชีวิต นับตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดมา" ฟิล ไบรแอนต์ ผู้ว่าการรัฐมิสซิสซิปปี กล่าวก่อนจะลงนามในกฎหมาย
การใช้คำพูดอย่างการเต้นของหัวใจมาเป็นประเด็นก็ส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ได้ยิน และกลายมาเป็นเครื่องมือของนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านการทำแท้ง
"พลังของคำพูด และการย้ำคำพวกนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่วยให้การถกเถียงเป็นไปในทางที่คุณต้องการ" ไมเคิล กอนนิดาคิส ผู้นำกลุ่มสิทธิการมีชีวิตโอไฮโอ (Ohio Right to Life) กล่าวกับนิวยอร์กไทมส์ถึงการใช้คำในทำนองช่วยปกป้องทารกที่มีหัวใจ หรือการทำแท้งทำให้หัวใจหยุดเต้น
ด้านฝ่ายต่อต้านกฎหมายเหล่านี้ มีจุดยืนว่าการเลือกว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่เป็นสิทธิในร่างกายขั้นพื้นฐานของผู้หญิง และการทำแท้งที่ถูกกฎหมายย่อมเป็นการทำแท้งที่ปลอดภัยกว่าการต้องลักลอบทำแท้ง โดยมีเหตุผลในการทำแท้งหลากหลาย เช่น ท้องเมื่อไม่พร้อม อายุน้อยเกินไป อายุมากเกินไป รายได้ไม่เพียงพอ มีลูกพอแล้วไม่ต้องการมีเพิ่มอีก ตรวจพบความผิดปกติร้ายแรงของเด็กในครรภ์ หรือท้องจากการถูกข่มขืน
"ไม่มีใครควรจะถูกบังคับให้ตั้งครรภ์เมื่อไม่ต้องการ และตอนนี้สิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่จะตัดสินในกำลังถูกคุกคาม"
'ฮอลลี นันน์' ผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านกฎหมาย fetal heartbeat bill ในจอร์เจีย กล่าว
อีกทั้งในฝ่ายนี้ยังมีการชี้ว่าการตั้งครรภ์ในระยะ 6 สัปดาห์นั้นแทบไม่ต่างจากการที่ประจำเดือนมาช้า ในระยะดังกล่าว สตรีส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองตั้งครรภ์อยู่ ส่งผลให้กฎหมายเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการกำหนดขอบเขตอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ แต่แทบจะเป็นการแบนการทำแท้งโดยสมบูรณ์
'ดร. คริสตัล เรดแมน' กรรมการบริหารสปาร์กรีโพรดักทีฟจัสติสนาว (Spark Reproductive Justice Now) กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในร่างกาย ชี้ว่ากฎหมายเท่ากับเป็นกฎหมายบังคับตั้งครรภ์ และการยุติการตั้งครรภ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพ
'คาร์ลตัน รีฟส์' ผู้พิพากษารัฐบาลกลาง ซึ่งสั่งระงับการบังคับใช้กฎหมาย fetal heartbeat bill ในรัฐมิสซิสซิปปี แม้จะผ่านการลงนามแล้ว เล็งเห็นว่ากฎหมายนี้เป็นการคุกคามสิทธิสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาแล้วว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์หลังสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์
นอกจากประเด็นข้อถกเถียงเรื่องระยะเวลา 6 สัปดาห์แล้ว ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ชายไม่ควรมีสิทธิออกกฎหมายมาควบคุมร่างกายของผู้หญิง เพราะนอกจาก 'จอห์น เบล เอ็ดเวิร์ดส์' ผู้ว่าการรัฐลุยเซียนาจากพรรคเดโมแครตซึ่งกำลังจะลงนามแล้ว ผู้ว่าการรัฐอื่นๆ ที่สนับสนุนและลงนามในกฎหมายลักษณะนี้ล้วนมาจากพรรคเดโมแครต และอีกจุดร่วมหนึ่งของพวกเขาก็คือนอกจากเคย์ ไอวีย์แล้ว ทุกคนล้วนเป็นผู้ชาย รวมไปถึงสมาชิกสภาส่วนใหญ่ก็เป็นเพศชายเช่นกัน
ดังในกรณีของรัฐแอละแบมาที่ ส.ว. ที่ผ่านร่างกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 25 ต่อ 6 โดยที่ทั้ง 25 เสียงเป็นผู้ชาย ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ชายเหล่านี้ซึ่งไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของผู้หญิง เช่น ระยะเวลา 6 สัปดาห์แทบจะเท่ากับการมีประจำเดือนที่มาไม่ปกติ
ภายหลังการผ่านกฎหมายในแอละแบบมา ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างอินสตาแกรมเองก็มีกระ���สต่อต้านจากดาราหญิงหลายคน เช่น เอ็มมา วัตสัน, คลารา เดลาวีน, เลดี กาก้า, และริฮานน่า ทางจีจี ฮาดิด เองได้ทวีตภาพที่เต็มไปด้วยข้อความว่า "ผู้ชายไม่ควรเป็นผู้ออกกฎหมายเกี่ยวกับร่างกายของผู้หญิง"
'เทรวิส แจ็กสัน' ชายผู้ร่วมกลุ่มประท้วงร่างกฎหมายในรัฐแอละแบมา กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี ว่าเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ผู้ชายควรให้ผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจ
"ก็มันเป็นร่างกายของพวกเขา เป็นสิทธิของพวกเขา แล้วก็เป็นธุระของพวกเขา ไม่ว่ายังไงผู้ชายก็ไม่มีสิทธิไปชี้ถูกผิดร่างกายของผู้หญิง" แจ็กสัน กล่าว
ความพยายามพบกันครึ่งทางในสภาก็ยังคงมีให้เห็น ด้วยการเสนอข้อยกเว้นของกฎหมายในกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์จากการข่มขื่น หรือการร่วมเพศกับคนในครอบครัว
'เอ็ดเวิร์ด เจมส์' ส.ส. พรรคเดโมแครต รัฐลุยเซียนา ก็มองว่าตัวเองไม่มีสิทธิจะไปบังคับว่าผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนควรทำอย่างไรกับร่างกายตัวเอง
"ผมไม่แมนพอที่จะบอกผู้หญิงซึ่งอวัยวะภายในถูกฉีกทึ้งและข่มขืน ผมไม่แมนพอหรอกที่จะบอกกับผู้หญิงเหล่านั้นว่า 'ยอมรับและอยู่กับมันซะ'" เจมส์กล่าวขณะพยายามผลักดันให้มีข้อยกเว้นในกฎหมายต่อต้านการทำแท้ง
'อลัน ซีบอฮ์' ส.ส. ลุยเซียนา จากรีพับลิกัน ผู้คัดค้านการมีข้อยกเว้นนี้ แย้งว่าตัวเองสนับสนุนให้ผู้หญิงประหารผู้ข่มขืนได้ แต่ "ในประเทศนี้ เราจะไม่ลงโทษบุตรด้วยบาปที่บิดาเป็นผู้ก่อ"
ร่างกฎหมายเหล่านี้ใช้ 'ชีพจรของตัวอ่อน' เป็นตัววัดว่ามีชีวิตใหม่ซึ่งอาจกลายเป็นทารกได้เกิดขึ้นในครรภ์หรือยัง ทว่ามีการตั้งข้อสังเกตทางแพทย์ว่าผู้ออกกฎหมายอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ว่าสัญญาณชีพจรของหัวใจคืออะไร
'เจนิเฟอร์ เคินส์' ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสูตินรีเวช โรงพยาบาลซักเคอร์เบิร์กซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ในระยะเวลา 6 เดือน เอ็มบริโอขนาด 3-4 มิลลิเมตรในครรภ์ ยังไม่มีอวัยวะ กล่าวคือยังไม่มีหัวใจหรือระบบหัวใจเกิดขึ้น เป็นเพียงกลุ่มก้อนของเซลล์ที่อาจพัฒนาเป็นระบบประสาทและระบบหัวใจในภายหลัง
แม้เทคโนโลยีอัลตราซาวด์ในปัจจุบันจะสามารถตรวจจับการทำงานคลื่นไฟฟ้าของเซลล์ซึ่งมีการเต้นเป็นจังหวะ และอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าคือชีพจรหรือสัญญาณของการเกิดชีวิตใหม่ แต่ก็ยังไม่มีการเต้นของหัวใจ และไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเซลล์ดังกล่าวจะกลายเป็นทารก
เนื่องจากการแท้งในช่วง 8 สัปดาห์แรก อาจเกิดขึ้นและจบลงโดยแทบจะไม่ต่างอะไรกับการมีประจำเดือนมามาก และ 50-75 เปอร์เซ็นต์ของการแท้งในระยะแรก อาจเกิดขึ้นโดยที่ผู้ตั้งครรภ์ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดการตั้งครรภ์และการแท้ง อ้างอิงจากข้อมูลของการศึกษาของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์อเมริกัน (American College of Obstetricians and Gynecologists)
ภายในปี 2019 เพียงปีเดียว มีหลายรัฐที่เสนอร่างกฎหมาย fetal heartbeat bill ที่มีใจความหลักเหมือนกัน คือห้ามทำแท้งหลังมีสัญญาณชีพจรที่สามารถตรวจพบได้ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณอยู่ที่ 6 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ เว้นแต่การคลอดจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ตั้งครรภ์เท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้งลูกที่อาจป่วยหรือพิการแต่กำเนิด การทำแท้งการตั้งครรภ์จากการร่วมเพศกับคนในครอบครัว แม้แต่การทำแท้งการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนก็ถูกห้ามด้วยเช่นกัน โดยแพทย์หรือผู้ให้บริการทำแท้งจะถูกนับว่าเป็นอาชญากร มีโทษปรับและจำคุกส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่รัฐแอละแบมาที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 99 ปี
รัฐที่มีการเสนอและพิจารณาในปี 2019 มีดังนี้
รัฐลุยเซียนา
รัฐมิสซูรี
รัฐจอร์เจีย
รัฐโอไฮโอ
รัฐมิสซิสซิปปี
รัฐเคนทักกี
รัฐเซาท์แคโรไลนา
รัฐเทนเนสซี
รัฐเวสต์เวอร์จีเนีย
ในส่วนของรัฐแอละแบมานั้น ได้มีการลงนามในกฎหมายต่อต้านการตั้งครรภ์ที่มีผลรุนแรงที่สุด คือห้ามการทำแท้งไม่ว่าช่วงใดของการตั้งครรภ์ก็ตาม กล่าวคือมีผลนับตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิโดยที่ผู้ตั้งครรภ์เองก็ยังไม่รู้ โดยมีข้อยกเว้นเพียงกรณีที่การคลอดจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ตั้งครรภ์ มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือเด็กในท้องมีภาวะผิดปกติอย่างรุนแรงเท่านั้น และผู้ให้บริการทำแท้งในรัฐนี้มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 99 ปี โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในอีก 6 เดือน
สำหรับรัฐฟลอริดาและเท็กซัส ก็มีการเสนอร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันในปีนี้เช่นกัน ทว่าไม่ผ่านสภา สำหรับร่างกฎหมายการทำแท้งในลักษณะอื่นนั้น รัฐยูทาห์และอาร์คันซอ มีการผ่านร่างและลงนามในกฎหมายห้ามการทำแท้งหลังสัปดาห์ที่ 18 ของการตั้งครรภ์ ต่างจากรัฐอื่นๆ ที่ใช้ชีพจรเป็นเกณฑ์ และมีข้อยกเว้นสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน หรือร่วมเพศกับคนในครอบครัว และมีกรณีของรัฐนอร์ทดาโกตา ซึ่งมีการลงนามกฎหมายกฎหมายห้ามทำแท้งด้วยกรรไกรและคีมหนีบ หลังเข้าสู่ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ กล่าวคือห้ามทำแท้งหลังตัวอ่อนทารกโตจนต้องใช้การชำแหละเพื่อนำออกจากครรภ์
อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้งหมดอาจมีการระงับโดยศาลรัฐบาลกลางได้ในภายหลัง ดังเช่นในปีก่อนรัฐไอโอวา ก็มีการเสนอร่างกฎหมายชีพจรเช่นกัน โดยผ่านทั้งสองสภา และลงนามโดยผู้ว่าการรัฐแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 ทว่าในภายหลังศาลตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ วันที่ 22 มกราคม 2019
ข้อพิจารณาหนึ่งซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่กฎหมายที่ผ่านสภาได้รับการลงนามเพื่อบังคับใช้แล้วจะถูกระงับโดยศาลรัฐบาลกลาง คือการที่กฎหมายขัดขวางการทำแท้งซึ่งเป็นสิทธิของสตรีชาวอเมริกันทุกคนนั้น อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯ ในคดี Roe v. Wade เมื่อปี ค.ศ. 1973 ที่ระบุว่าการทำแท้งเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของประเทศ คำตัดสินในคดีดังกล่าวกลายเป็นคำตัดสินแม่แบบที่ทำให้การทำแท้งทั่วทั้งสหรัฐฯ ถูกกฎหมายตั้งแต่ วันที่ 22 มกราคม 1973 โดยเกณฑ์ระยะเวลาที่ทำแท้งได้เดิมอยู่ที่ 24 สัปดาห์หลังการตั้งครรภ์
'ฌอง เจ. ยัง' ผู้อำนวยการด้านกฎหมาย ของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union) กล่าวว่า ผู้พิพากษาทุกคนที่พบการท้าทายรัฐธรรมนูญด้วยกฎหมายแบนการทำแท้งปัดตกกฎหมายพวกนี้กันมาตลอด
"เป็นเวลาเกือบ 50 ปีที่ศาลสูงระบุมาตลอดว่าการแบนการทำแท้งก่อนจะถึงจุดที่ทารกมีชีวิตนั้นผิดต่อรัฐธรรมนูญ" ยัง กล่าว ว่าสหภาพเสรีฯ จะฟ้องหากมีการบังคับใช้กฎหมายต้านการทำแท้งในจอร์เจีย
อย่างไรก็ตาม การท้าทายคำตัดสินคดี Roe v. Wade นี้ก็เป็นเจตนาหนึ่งเช่นกัน โดย รอดเจอร์ สมิธเทอร์แมน ส.ว. รัฐแอละแบมา จากพรรคเดโมแครตถามในการอภิปรายว่ากฎหมายนี้มีจุดประสงค์อะไร ไคล์ แชมบลิส จากพรรครีพับลิกันตอบว่า "เพื่อที่เราจะได้ท้าทายคำตัดสินในคดี Roe v. Wade กับศาลสูงสุดได้โดยตรง"
ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในหลายๆ รัฐ ไม่ยอมรับข้อยกเว้นให้กรณีผู้ถูกข่มขืนสามารถทำแท้งได้ เพราะทางรีพับลิกันต้องการให้กฎหมายเป็นคำขาดชัดเจนว่าทำแท้งได้หรือไม่ได้เท่านั้น เพื่อให้เกิดคำตัดสินคดีแม่แบบใหม่ที่จะมาล้มล้างสิทธิการทำแท้งตามรัฐธรรมนูญที่เกิดจากคดี Roe v. Wade
การผ่านกฎหมายต้านการทำแท้งของรัฐแอละแบมา ซึ่งห้ามการทำแท้งไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าไร จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของรีพับลิกันและผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต้องการทำให้การทำแท้งในสหรัฐฯ ผิดกฎหมาย