วันที่ 25 ต.ค. นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ว่า ขณะนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพราะมีความเห็นเป็น 2 ทาง โดยฝ่ายหนึ่งให้ความเห็นว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องทำถึง 2 ครั้ง แต่อีกฝ่ายมีความเห็นว่าต้องทำ 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะอันตราย เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เช่นนั้น ดังนั้นข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวจะมีการสรุปในการประชุมครั้งต่อไป โดยจะรอฟังความเห็นจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ในการไปรับฟังความเห็นจากส่วนสำคัญต่างๆ อาทิ สมาชิกรัฐสภา กรรมาธิการพัฒนาการเมืองของทั้ง 2 สภา
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 มีการนำมาหารือกันในที่ประชุม ว่าการยกเว้นการแก้ไขทั้ง 2 หมวดถือเป็นการไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เนื่องจากหากเป็นการแก้ไขทั้งฉบับจะต้องมีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ด้วย แต่ความเห็นอีกส่วนหนึ่งก็มองว่าหากไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 แต่เราไปแก้เยอะ จะเป็นการแก้ที่หลักการ และแม้ไม่แก้ที่หมวด 1 และ หมวด 2 แล้ว มาตราก็จะเคลื่อน ซึ่งก็ถือเป็นการแก้ทั้งฉบับเช่นกัน โดยคณะอนุฯศึกษากฎหมาย จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนในเวลา 09.30 น
ขณะที่เรื่องค่าใช้จ่ายในการทำประชามติจะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงว่าเป็นเมื่อใด รวมไปถึงใช้งบประมาณเท่าไหร่ รวมถึงจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง 2 สภา ว่าจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้ง
ส่วนการทำงานของอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น จะเริ่มดำเนินการครั้งแรก ในการรับฟังความคิดเห็นจากวุฒิสภา (สว.) โดยเริ่มจากชุดของ เสรี สุวรรณภานนท์ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ในประเด็นการทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง รวมไปถึงควรจะต้องมี สสร.หรือไม่ และการออกแบบคำถามในการรับฟังความเห็น เป็นต้น เนื่องจากจะรับฟังความคิดเห็น 100 % จาก สว. เพราะ สว.จะเป็นคนโหวตให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้วในการพิจารณา ซึ่งตรงนี้มีความเกี่ยวข้องเป็นนัยยะสำคัญ เพื่อจะได้ทราบว่าสว.นั้นมีความเห็นอย่างไร และหลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการถาม สว.ทั้งหมด
ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้มีการนัดหมาย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในวันที่ 2 พฤศจิกายน เวลา 13.30 น ที่อาคารรัฐสภา โดยจะไปหารือร่วมกัน และให้ช่วยคิดคำถามในการไปถาม สส.
ขณะเดียวกันในวันที่ 8 พฤศจิกายนจะมีการดึงกลุ่มบุคคลสำคัญ กลุ่มคนต่างๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อาทิ เยาวชนคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล ราชภัฏสภาเด็ก โดยจะเชิญมาอย่างที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งบุคคลดังกล่าว ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ โดยในวันที่ 10 พฤศจิกายนจะมีการเชิญภาคประชาชนอาทิ กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มตัวแทนสลัม 4 ภาค สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย ilawซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมถึงฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ เราก็ถือเป็นประชาชนเหมือนกัน
นอกจากนี้ยังมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนทางออนไลน์ ผ่านทาง E-mail ของสำนักกฎหมายและระเบียบการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะกำหนดเป็นอีเมลเฉพาะ, ช่องทาง OPM e-Form ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ระบบกลางทางกฎหมาย และทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้จะมีการไปรับฟังเสียงของประชาชนในแต่ละภูมิภาค โดยกำหนดไว้ 4 ภาค คือ ภาคใต้ จังหวัดสงขลา เนื่องจากจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนกลุ่มมุสลิม ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งในเบื้องต้นหากจะมีมากกว่านี้ก็ค่อยว่ากัน แต่ในเบื้องต้นตนมองว่าหากอยู่ในกรอบเท่านี้ก็น่าจะโอเคแล้ว
ขณะที่ภาพรวมการรับฟังความคิดเห็นคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2566 และคาดว่า ไม่เกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม จะมีการเสนอเรื่องกฎหมาย ก็คาดการณ์ว่าจะสามารถปิดงานได้ในทันที ทั้งเรื่องความชัดเจนในการทำประชามติ การสรรหา สสร. ส่วนจะสรรหาอย่างไรคณะอนุกรรมการไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปี 2567 จะสามารถ ส่งเรื่องที่ทั้งสองอนุกรรมการดำเนินการมา ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ ส่วนจะมีความคิดเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ทางครม. และหากครมอนุมัติแล้วจะต้องทำประชามติให้แล้วเสร็จ ในกรอบระยะเวลา 90 วันไม่เกิน 120 วัน
ส่วนการดำเนินการทั้งหมด ทั้งการทำประชามติและการสรรหาสสรจะทันกับการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นิกร ยืนยันว่า ทันอยู่แล้ว ประมาณ 3 ปีก็เสร็จ แต่เวลาที่เรากันช่วงปลายเอาไว้ ก็อาจจะต้องดำเนินการในเรื่องกฎหมายลูกอีกกว่า 10 ฉบับที่จะต้องทำ ให้เสร็จเพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ทันการเลือกตั้งในครั้งหน้า เพราะมันก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งใหญ่ของรัฐธรรมนูญ ก่อนย้ำว่าทันการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน
เมื่อถามย้ำว่า ประชาชนจะได้เข้าคูหาเมื่อใดนั้น นิกร กล่าวว่า ตามที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 วางไทม์ไลน์ ไว้ก็คาดการณ์ว่า ไตรมาสแรกของปี 2567 แต่อย่างไรก็ต้องหารือกับกกต.ก่อน