ไม่พบผลการค้นหา
'ประยุทธ์' ประกาศเจตนารมณ์วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ชี้ 'ซื้อขายตำแหน่ง-โยกย้าย ขรก.-จัดซื้อจัดจ้าง' ปัญหาใหญ่ของประเทศ โว 'บัตรคนจน-คนละครึ่ง' ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบความโปร่งใสได้ ลั่นไม่ยอมให้ความดีพ่ายแพ้อำนาจต่ำ ยึดมั่นเทิดทูนสถาบันฯ ด้วยใจ ไม่ยอมให้มีการทุจริตเชิงนโยบาย

วันที่ 9 ธ.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริตในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และคณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริตในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงภัยร้ายแรงจากการทุจริต และเพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบตลอดมา 

รัฐบาลได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลขึ้น เพื่อร่วมกันแสดงจุดยืนพร้อมๆ กับคนไทยทุกภาคส่วน ที่จะไม่ทำ ไม่ทน และไม่เพิกเฉย ต่อการทุจริตอีกต่อไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ แต่จะต้องอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไทย ทุกๆ คน ในทุกๆ วัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทุกคนทราบดีว่าปัญหาคอร์รัปชันส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ TI (ที-ไอ) ได้สะท้อนว่า ปัญหาการทุจริตที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่สำคัญ คือ ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน ตลอดจนการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน 

การไม่สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวม กับประโยชน์ส่วนตน และความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ การทุจริตจึงเป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญ คือ การทำลายภาพลักษณ์ ทำลายความเชื่อมมั่น ในสายตาประชาชนชาวไทย และชาวโลก ซึ่งเราจะต้องไม่ยอมให้การทุจริตเป็นมรดกบาป ตกทอดสู่รุ่นลูก รุ่นหลานอีกต่อไป

รัฐบาลจึงให้ความสำคัญ และผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ สร้างกลไกการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้มีการบรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ลงไปถึงการจัดทำแผนระดับรอง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง ในส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรมเป็นภาพรวม ของประเทศแล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน และนโยบาย National e-Payment เป็นต้น ที่ช่วยขจัดโอกาสในการทุจริต หักหัวคิว เรียกรับสินบน เพิ่มความโปร่งใสในการกระบวนการทำงานของภาครัฐ ให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ ในทุกขั้นตอน 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงวิกฤตโควิดและวิกฤตพลังงานที่ผ่านมา ปัญหาคู่ขนาน คือ ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ผลักดันโครงการช่วยเหลือต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ช่วยให้ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และนานาชาติให้การยอมรับถึงความสำเร็จนี้ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เพิ่มช่องการรับเรื่องราวร้องเรียน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส ตรวจสอบการทุจริตในทุกระดับ อีกด้วย ซึ่งให้ความสำคัญที่สุด คือ การติดตามนำผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รับโทษตามกฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอิทธิพลในสังคม ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความไม่ยุติธรรม 

พล.อ.ประยุทธ์ เสริมว่า รัฐบาลจะไม่ลดละ เพื่อขจัดการทุจริตให้หมดสิ้นไป โดยพร้อมที่จะทำงานกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เปิดกว้างรับฟัง เสริมสร้างความเข้มแข็ง และคงความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้โครงการพัฒนาประเทศ การค้า การลงทุน การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มศักยภาพ และไม่ยอมให้พลังความดี และความถูกต้อง พ่ายแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ 

"ข้าพเจ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การทุจริตเชิงนโยบาย มีผู้เรียก ผู้ให้ ผู้เสนอ ถ้าสังคมเฝ้าระวัง เฝ้าดูแล ร้องทุกข์กล่าวโทษ ขณะเดียวกันผู้ที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณต้องได้โอกาสกับผลประโยชน์ตัวเองมากที่สุด โดยเฉพาะต้องไปดูเรื่องการเรียกงบประมาณเพื่อผลประโยชน์ ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการพิจารณา ของ ป.ป.ช. และในส่วนการดำเนินการเหล่านี้ ไม่มีใครแก้ได้ด้วยลำพัง ตนเองก็ทำไม่ได้ ถ้าทั้งหมดไม่ร่วมกันทำ ให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างเร็วที่สุด เพราะปัญหานี้บ่อนทำลายการเจริญเติบโตของประเทศชาติบ้านเมือง 

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนคอยสอดส่องเพื่อให้เป็นสังคมสีขาว เพื่อการเจริญเติบโตของบ้านเราให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดไป 

"ผมมาพูดตรงนี้ได้ เพราะถูกสอนมาให้จิตใจไม่ทุจริต ถ้าทุจริตคงจะเอาหน้าไปให้คนมองไม่ได้ และต้องป้องกันไม่ให้มีการทุจริตเชิงนโยบาย ต้องตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หากเกิดข้อบกพร่องจะต้องถูกลงโทษ โครงการต่างๆ ต้องสุจริต รู้ว่ายากแต่ก็ทำได้ถ้าทุกคนช่วยกันด้วยจิตใจอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวเจตนารมณ์ สื่อมวลชนได้พยายามสอบถามถึงประเด็นทางการเมือง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวสั้นๆ ว่า วันนี้มางาน ป.ป.ช. อย่าเอาเรื่องอื่นมาปน ก่อนที่จะเดินชมนิทรรศการ และขึ้นรถเพื่อเดินทางออกไป