องค์การอนามัยโลกนิยามอัตราการเสียชีวิตที่มากกว่ารายงานในเบื้องต้นว่าคือ “ความแตกต่างระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้น กับจำนวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากไม่มีการระบาดใหญ่ตามข้อมูลจากปีก่อนหน้า” โดยหากนับอัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ตั้งแต่โรคเริ่มระบาดมาจนถึงสิ้นปี 2564 พบว่า มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 14.9 ล้านราย ต่างจากรายงานในปัจจุบันที่การระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ 5.4 ล้านราย
ตัวเลขจากการคำนวณล่าสุดขององค์การอนามัยโลกพุ่งสูงกว่าตัวเลขทางการในตอนนี้ เนื่องจากมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้รายงานตามอัตราการเสียชีวิตจริง องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในช่วงก่อนการระบาด มีตัวเลข 6 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลกที่ไม่ได้ถูกรายงานเข้ามาสู่ระบบแต่อย่างใด
“ข้อมูลที่น่าเป็นห่วงเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการระบาดใหญ่ แต่ยังหมายรวมถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องลงทุนในระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งสามารถรักษาบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นในช่วงวิกฤต รวมถึงระบบข้อมูลด้านสุขภาพที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าว
ตัวเลขการตายที่เพิ่มขึ้นมากว่าเกือบ 10 ล้านรายจากรายงานอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของการระบาด กลับกระจุกตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกา โดยตัวเลขกว่า 2 ใน 3 ของทั้งหมดเกิดขึ้นใน 10 ประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และอินเดีย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการตายกว่าครึ่งที่ยังไม่ได้นับในตอนนี้เกิดขึ้นในอินเดีย โดยจากรายงานระบุว่า อาจมีประชาชนชาวอินเดียกว่า 4.7 ล้านราย ที่มีการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงของระลอกการระบาดเมื่อราวเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2564 อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียรายงานตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในช่วงเวลาดังกล่าวเพียงแค่ 480,000 รายเท่านั้น
รัฐบาลอินเดียได้กล่าวโจมตีรายงานฉบับดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกว่า ถูกเปิดเผยออกมา "โดยไม่ได้กล่าวถึงความกังวลของอินเดียอย่างเพียงพอ" เกี่ยวกับการใช้ระเบียบวิจัยที่ "น่าสงสัย" โดยคณะกรรมการขององค์การอนามัยโลกซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ผู้ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเป็นเวลาหลายเดือน ใช้ทั้งข้อมูลระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ตลอดจนแบบจำลองทางสถิติ เพื่อประเมินผลรวมของข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ตามระเบียบวิจัยที่อินเดียได้ออกมาวิจารณ์
ที่มา:
https://www.washingtonpost.com/health/2022/05/05/covid-excess-global-deaths-nearly-15-million/