นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ขยายขอบเขตโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 โดยให้ลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ 19 แห่ง จากเดิมให้แค่ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกันเข้ามาเจรจาแก้หนี้รับดอกเบี้ยร้อยละ 4-7 ต่อปี จากเดิมกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี หรือเพียงเดือนละ 1,200 บาท กรณีมียอดมูลหนี้ 1 แสนบาท
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นกลุ่มที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด หรือ บสส. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเจรจากับลูกหนี้แทนเจ้าหนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. นี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ที่กลุ่มนอนแบงก์และธนาคารพาณิชย์ในส่วนของบัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล และมีเจ้าหนี้มากกว่า 2 รายขึ้นไป รวมกันถึง 490,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ทั้งสิ้น 49,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข และคาดว่า การขยายขอบเขตจะทำให้สามารถแก้ไขหนี้ส่วนนี้เกือบร้อยละ 99 รวมทั้งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะร่วมถึงกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีแต่ยังไม่มีที่สิ้นสุด มียอดหนี้เงินต้นค้างชำระรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ และอายุไม่เกิน 65 ปี
สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 เป็นการขยายขอบเขตให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการนอนแบงก์ ซึ่งจะทำให้โครงการสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในวงกว้างและเบ็ดเสร็จมากขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ของนอนแบงก์มีจำนวนกว่าร้อยละ 80 ของทั้งหมด ในครั้งนี้มีผู้ประกอบการนอนแบงก์ 19 แห่ง ยินดีเข้าร่วมโครงการ และเมื่อรวมกับธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งที่ร่วมโครงการอยู่แล้วจะทำให้โครงการคลินิกแก้หนี้ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเกือบทั้งระบบ
นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมและพร้อมสนับสนุนโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาหนี้เสีย โดยการขยายขอบข่ายความร่วมมือในระยะที่ 2 จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ให้ครอบคลุมลูกหนี้ของผู้ประกอบการนอนแบงก์อีก 19 แห่ง จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าโครงการ และช่วยให้การแก้ปัญหาโดยรวมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้จะมีภาระการผ่อนชำระคืนต่อเดือนที่น้อยลง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนและคงที่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ โดยสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 10 ปี โครงการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้มีโอกาสผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบซึ่งจะส่งผลให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ชมรมสินเชื่อบุคคลพร้อมให้ความร่วมมือในการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ รวมทั้งจะเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางของสมาชิกชมรมทั้ง 28 แห่ง โดยหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการคลินิกแก้หนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM ทำหน้าที่หน่วยงานกลางเชื่อมโยงลูกหนี้รายย่อยกับเจ้าหนี้ธนาคารหลายแห่งให้สามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สินร่วมกัน โดยข้อมูล ณ เมษายน 2562 มีผู้สนใจสมัครเข้าโครงการจำนวน 44,600 ราย โดยในจำนวนนี้ SAM ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ (Counselling) และมีลูกหนี้ประมาณ 1,500 ราย ที่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ ยอดหนี้รวม 405 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีเจ้าหนี้ 3 รายขึ้นไป เงินต้เฉลี่ยรายละ 3 แสนบาท รวมทั้งมีลูกหนี้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นและออกจากโครงการจำนวน 16 ราย นอกจากนี้ มีการให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้ พนักงานของบริษัท หน่วยงานราชการ และเอกชนต่าง ๆ กว่า 2,200 คน
โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบการนอนแบงก์ 19 แห่ง จะช่วยให้โครงการ สามารถเป็นกลไกแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศได้อย่างกว้างขวางและครบวงจรมากขึ้น โดย SAM ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาหนี้สิน การพัฒนาระบบงาน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารใหม่ คือ “Line official account – debt clinic by SAM” ซึ่งจะทำให้การติดต่อและสมัครเข้าร่วมโครงการกับ SAM ทำได้ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ SAM ยังจัดโครงการพบกันวันหยุดกับโครงการคลินิกแก้หนี้เปิดบริการในวันเสาร์ที่ 11, 18 และ 25 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 น.- 16.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อและสมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ หนึ่งในสิ่งที่ SAM ให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงินที่ดี โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน ด้วยการจัดกิจกรรมเพิ่มทักษะการบริหารจัดการเงินซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ และจะช่วยส่งเสริมค่านิยมที่ถูกต้องด้านการลดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน อันเป็นจุดมุ่งหมายที่ทุกฝ่ายยึดมั่นร่วมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :