ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำชิลียอมรับ ปชช.อาจต้องฉีดซิโนแวคเข็ม 3 หวังเพิ่มศักยภาพรับมือเชื้อกลายพันธุ์ แม้ยังมีคำถามเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน - ผู้เชี่ยวชาญจีนยืนยัน 'ซิโนแวค' กันป่วยหนัก-กันเสียชีวิต แต่(อาจ)ไม่ป้องกันติดเชื้อได้ 100%

เซบาสเตียน ปิเญรา ประธานาธิบดีชิลีเปิดเผยว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการเตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของซิโนแวคแก่ประชาชนในเข็มที่ 3 เพื่อหวังเสริมศักยภาพในการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในระลอกล่าสุด ที่แม้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศราว 78% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และอีก 61% ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม แต่ทว่าวัคซีนส่วนใหญ่ที่ชิลิใช้แจกจ่ายประชาชนนั้น ส่วนมากเป็นซิโนแวคที่ 16.8 ล้านโดส รองลงมาคือวัคซีนไฟเซอร์เพียง 3.9 โดส และมีวัคซีนอื่นๆ จากแคนซิโนและแอสตร้าเซนเนก้า ในจำนวนเล็กน้อย 

ผู้นำชิลี กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือไม่ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มวัยรุ่น 

“ในฐานะรัฐบาล เราใส่ใจกับปัญหาของวันนี้ แต่ก็ต้องคาดการณ์และเตรียมรับมือกับปัญหาในวันพรุ่งนี้ด้วย” ผู้นำชิลีกล่าว

สำหรับชิลี ถือเป็นประเทศแรกๆ ที่มีรายงานผลการใช้วัคซีนซิโนแวคในหมู่ประชากรจำนวนมาก โดยผลการศึกษาของจีนซึ่งตีพิมพ์เมื่อเม.ย. อ้างว่า วัคอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคน้อยหากฉีดในเข็มแรก แต่ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นหากฉีดในเข็มสองเป็น 67% ในการป้องกันการติดเชื้อตามอาการ, 85% ในการป้องกันการรักษาในโรงพยาบาล และ 80% ในการป้องกันการเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม คำแถลงของผู้นำชิลีมีขึ้นท่ามกลางคำถามจากบรรดาบุคลการทางการแพทย์ ที่แสดงความกังวลในประสิทธิผลอันคลุมเครือของวัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลชิลีนำมาแจกจ่ายเป็นวัคซีนหลักแก่ประชาชน

 

ชิลี
  • เซบาสเตียน ปิเญรา ประธานาธิบดีชิลี

พอลลา ดาซา หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขแห่งชาติ เผยกับสื่อท้องถิ่นชิลีว่า ขณะนี้ทีมคณะทำงานการตรวจสอบว่าประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อของซิโนแวคนั้นจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ และเตรียมเปิดเผยผลการศึกษาอีกครั้งในเดือนหน้าเพื่อประกอบการพิจารณาว่า ประชาชนควรได้รับวัคซีนเข็มสามหรือไม่

“เราคิดว่าข้อมูลดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์และได้รับการฉีดเข็มสองในเดือนมีนาคมนั้น จำเป็นต้องได้รับเข็มที่สามภายในเดือนกันยายนหรือไม่” เธอกล่าว

ด้วยความที่ชิลีพึ่งพาซิโนแวคเป็นวัคซีนหลัก บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงต้องเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการทนต่อเชื้อกลายพันธุ์ ดังช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่า เจ้าหน้าบุคลากรสาธารณสุขของอินโดนีเซียไม่น้อยกว่า 350 คน ล้มป่วยด้วยการติดเชื้อโควิด แม้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบสองโดสแล้วก็ตาม จากการที่อินโดนีเซียกำลังพบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างหนัก จึงเกิดคำถามว่าวัคซีนซิโนแวคสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์อินเดียได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด


กันป่วยหนัก กันตาย แต่(อาจ)ไม่กันติดเชื้อ ?

โกลบอล ไทมส์ (Global Times) สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่ง รายงานว่า จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์ในอินโดนีเซียติดเชื้อโควิดกว่า 300 คน แม้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบโดสแล้วนั้น สื่อจีนได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของบริษัทซิโนแวคในเรื่องดังกล่าว โดยผู้เชี่ยวชาญจีนเรียกร้องว่า แม้จะได้รับวัคซีนแล้วแต่ก็ยังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด 

ผู้เชี่ยวชาญของซิโนแวคยอมรับว่ากับโกลบอลไทมส์ว่า วัคซีนไม่สามารถให้การป้องกันได้ 100% แต่วัคซีนสามารถลดอาการของการติดเชื้อและป้องกันความตายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

ขณะที่รายงานผลการศึกษาของงกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ระบุว่า วัคซีนซิโนแวคลดความเสี่ยงของอาการป่วยโควิด ในบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 94%

"ในจำนวนนี้ 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพียง 308 คน หรือประมาณร้อยละ 5.1 ของจำนวนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหมด ที่แม้ส่วนใหญ่ติดเชื้อ แต่ฟื้นตัวและเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง" รายงานของอินโดนีเซียระบุ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ในอินโดนีเซียที่ได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนซิโนวแวคเมื่อเดือนม.ค. 

เว่ย เช็ง (Wei Sheng) ศาสตราจารย์แห่ง School of Public Health of Tongji Medical College of Huazhong University of Sciences and Technology กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี เมื่อวันจันทร์ว่า จากผลการทดลองล่าสุด วัคซีนซิโนแวคยังคงมีประสิทธิภาพดีกับตัวแปรของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 

"จากประสบการณ์ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งในทางกลับกันก็แนะนำว่าวัคซีนสามารถป้องกันได้" ศ.เว่ย กล่าว

ที่มา: GlobalTimes , Reuters