ไม่นานมานี้ มีการพบรายงานจากสถาบันการตรวจสอบสันติภาพและการยอมรับความต่างในโรงเรียน (IMPACT-se) ทั้งในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักรและอิสราเอล ที่ระบุว่า เนื้อหาภาพลักษณ์เชิงลบต่อชาวคริสต์และชาวยิวในหนังสือเรียนของประเทศซาอุดีอาระเบีย ตัวอย่างเช่น เนื้อหาที่ส่อว่า “ชาวยิวและชาวคริสต์เป็นศัตรูของอิสลาม” หรือ “ชาวยิวและชาวคริสต์ถูกกล่าวหาว่าทำลายและบิดเบือนพระคัมภีร์โทราห์และคำสอนของพระเยซู” นั้น ได้ถูกนำออกไปแล้วในแบบเรียนชุดล่าสุดของซาอุดีอาระเบีย
IMPACT-se ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงแบบเรียนนี้ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นที่ยอมรับในประเทศอิสราเอลเสียทีเดียว ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนชุดคำว่า “ศัตรูชาวอิสราเอล” และ “ศัตรูชาวไซออนนิส” เป็น “การเข้าควบคุมของฝ่ายอิสราเอล” และ “กองกำลังควบคุมพื้นที่ของฝ่ายอิสราเอล” แต่เนื้อหาในแบบเรียนยังปรากฏการพาดพิงเชิงลบต่ออิสราเอลอยู่ รวมถึงยังไม่มีการแสดงประเทศอิสราเอลบนแผนที่ และไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
IMPACT-se ได้สังเกตการณ์แบบเรียนของซาอุดีอาระเบีย มาตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษ 2000 โดยทางหน่วยงานได้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของแบบเรียนในประเทศซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ช่วงหลักสูตรปี 2565-2566 กว่า 80 เล่ม และดำเนินการมาแล้วกว่า 180 เล่ม
นักวิชาการในภูมิภาคตะวันออกกลางต่างกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในแบบเรียนนั้นอาจจะมีนัยสำคัญ แต่ต้องอาศัยบริบทในการมองด้วย โดย คริสติน ดีวาน นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบันประเทศอ่าว ในกรุงวอชิงตันดีซี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์ต่อการเมืองรูปแบบใหม่ ในการหาความชอบธรรมให้แก่ราชวงศ์ เพราะในอดีต ความชอบธรรมของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมักมาจากเหตุผลทางศาสนา แต่ในตอนนี้เห็นได้ว่ามันได้โน้มเอียงไปสู่การเป็นรัฐโลกวิสัย
อะซีซ อัลเฆาะเชียน นักวิจัยด้านนโยบายต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า การปรับตัวในครั้งนี้ ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง แต่ยังจำเป็นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในแบบเรียนยังเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ และยังไม่ส่งผลมากต่อการนำไปสู่การยอมรับอิสราเอลของซาอุดีอาระเบีย
โดยอีกนัยหนึ่งนั้น รัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยามสนับสนุนให้ประเทศซาอุดีอาระเบียกลับมามีความสัมพันธ์ทางการทูตแบบปกติกับประเทศอิสราเอล แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังยืนยันว่าพวกเขาจะยังคงไม่มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ จนกว่าจะมีการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ขึ้น
ทั้งนี้ แบบสำรวจที่จัดทำขึ้นในปีที่แล้ว โดยศูนย์วิจัยอาหรับกรุงวอชิงตันดีซี เผยให้เห็นว่า 84% ของชาวอาหรับยังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของอิสราเอล และในประเทศซาอุดีอาระเบียเองนั้น มีเพียง 5% ที่สนับสนุน
ที่มา:
https://edition.cnn.com/2023/06/19/middleeast/saudi-textbooks-israel-mime-intl/index.html