ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าทุกยุค เช่น การออกพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เป็นต้น การสร้างเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านการเงิน ก็ทำได้อย่างไม่ติดขัด เช่น การเปิดให้ใบอนุญาต "สินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ" หรือ "สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์" และ "สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ" หรือ "พิโกไฟแนนซ์" เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปไล่เบี้ยเอาผิดกับบรรดามาเฟีย-นายทุนหนี้นอกระบบทั้งหลายก็ทำได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
ย้อนไปเมื่อปี 2557 หลังเข้ามายึดอำนาจ คสช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในการดำเนินแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยการให้ชุมชนเข้ามามีบทบาท ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พร้อมมีการนำกลไกในการเจรจาประนอมหนี้ ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่เคยใช้สมัย "รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์" กลับมาใช้
อย่างไรก็ตาม ครั้งนั้น ได้มีการรายงานถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นช่วง ปี 2552-2553 หรือช่วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้มีการเปิดให้ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบมา "ขึ้นทะเบียน" ขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐว่า "ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร" เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ขาดความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์ รวมถึงเจ้าหนี้ไม่ยอมเข้าร่วมเจรจาประนอมหนี้
โดยในยุคพรรคประชาธิปัตย์ มีประชาชนขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 1,201,554 ราย และ มีคุณสมบัติครบถ้วน 1,184,868 ราย มูลหนี้รวม 123,234.42 ล้านบาท (ขีดเส้นมูลหนี้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย) โดยได้รับการแก้ไขแปลงเป็นหนี้ในระบบไป 417,877 ราย มูลหนี้รวม 43,772.23 ล้านบาท
ถัดจากนั้นอีก 3 เดือนเศษ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 รับทราบการออกมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของกระทรวงการคลัง (ช่วงนายสมหมาย ภาษี เป็น รมว.คลัง) ที่มีการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อได้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และคิดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้จะประกอบธุรกิจนี้ ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" ขุนคลัง ก็ได้เสนอ ครม. ไฟเขียวมาตรการ "การบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน" เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 พร้อมรายงานถึงปัญหาอุปสรรค ที่ทำให้การแก้หนี้นอกระบบยังไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ ยังไม่มีการดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง การให้สินเชื่อแปลงเป็นหนี้ในระบบ แต่ไม่มีการเพิ่มศักยภาพการหารายได้ให้ลูกหนี้ ขาดทรัพยากรที่เพียงพอในการขับเคลื่อนการทำงาน เป็นต้น
กระทรวงการคลังจึงได้เสนอให้ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ทั้งการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี
ขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบผ่านการให้บริการสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ คือ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจถูกกฎหมายได้ง่ายขึ้น ด้วยการกำหนดทุนจดทะเบียนไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยสามารถปล่อยกู้ได้ 50,000 บาทต่อราย และให้คิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้ว ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี
รวมถึงประสานกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดแก้ไขพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เพื่อเพิ่มโทษเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด จากจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็น จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีการให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เพื่อรับผิดชอบแก้ปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นมาโดยเฉพาะ แยกจากการดำเนินงานปกติของธนาคาร
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประมาณการว่าจะสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบในเชิงลึกให้แก่ลูกหนี้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในแต่ละปี หรือกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 240,000 รายต่อปี คิดเป็นมูลหนี้ 25,000 ล้านบาทต่อปี โดยยึดตามข้อมูลการลงทะเบียนช่วงปี 2552-2553 ที่มีลูกหนี้นอกระบบทั้งสิ้น 1.185 ล้านราย มูลหนี้ประมาณ 123,240 ล้านบาท
แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมดังกล่าว ทำให้รัฐบาล คสช. หมายมั่นปั้นมือว่า จะขจัดหนี้นอกระบบให้ "เป็นศูนย์" ภายในปี 2561 กันเลยทีเดียวโดยกระทรวงการคลังจัดงานใหญ่ประกาศนโยบายนี้อย่างเป็นทางการที่เมืองทองธานี ซึ่ง "บิ๊กตู่" ไปเปิดงานนี้ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาฃ
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่า หนี้นอกระบบ ยังไม่สามารถ "เป็นศูนย์" ได้อย่างที่รัฐบาล คสช. ตั้งใจไว้ และ รัฐบาล คสช. ยังคงต้องมีการปรับรายละเอียดโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ "แก้โจทย์" ได้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศ เพื่อเพิ่มขอบเขตการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เปิดทางให้สามารถทำธุรกิจรับจำนำทะเบียนได้ และ ล่าสุด ก่อนถึงวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ครม. ก็เพิ่งมีมติรับทราบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็น "พิโกพลัส" ที่ขยายให้สามารถปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนได้ถึง 100,000 บาทต่อราย จากเดิมแค่ 50,000 บาทต่อราย แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และ คิดดอกเบี้ยวงเงินให้กู้ส่วนที่เกิน 50,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท ได้ที่ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี
"ลวรณ แสงสนิท" ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังพยายามปรับปรุงพิโกไฟแนนซ์ให้ตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด โดยที่ผ่านมา พบว่า วงเงินการให้สินเชื่อก็เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง โดย 50,000 บาท ก็อาจจะไม่เพียงพอในการประกอบอาชีพ
"คนเป็นหนี้นอกระบบที่เราตั้งใจจะให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบ ก็บอกว่า 50,000 บาท ไม่พอ เพราะเขามีหนี้มากกว่านั้น บนฐานข้อมูลที่เราใช้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็บอกว่า คนที่มีหนี้นอกระบบน้อยกว่า 50,000 บาท มีอยู่ประมาณร้อยละ 69 ส่วนที่มีหนี้ 50,000-100,000 บาท มีอีกร้อยละ 13 รวมกันก็ร้อยละ 92 เราจึงเห็นว่าถ้าขยายวงเงินพิโกไฟแนนซ์ให้ถึง 100,000 บาท ก็จะครอบคลุมคนกลุ่มนี้มากขึ้น" ลวรณกล่าว
ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ถึง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 มียอดคงค้างที่ 525.73 ล้านบาท ขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อสะสมอยู่ที่ประมาณ 1,678 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60,273 บัญชี ยอดอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ยที่ 27,000 บาทต่อบัญชี
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาครัฐได้เปิดให้ทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อย 3 ระดับด้วยกัน คือ พิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล (P-loan) ซึ่งหากจะพูดถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบก็ต้องมองภาพทั้งหมดนี้ โดยยอดปล่อยสินเชื่อรวมกัน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 254,871 ล้านบาท จำนวนบัญชี 13.9 ล้านบัญชี
นอกจากนี้ มีรายงานว่า การให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินผ่านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนถึง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 มียอดอนุมัติรวม 448,116 ราย เป็นจำนวนเงิน 20,113.91 ล้านบาท ขณะที่การกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้อย่างผิดกฎหมาย มียอดจับกุมผู้กระทำผิดสะสม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 4,628 ราย
ขณะที่ ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้เผยถึงผลการสำรวจสถานการณ์ภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตร ช่วงครึ่งหลัง ปี 2561 โดยเก็บข้อมูลจากเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 980 ราย พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 135,220 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.3 โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 89.1 เป็นหนี้ในระบบ ส่วนหนี้นอกระบบอยู่ที่ร้อยละ 10.9 โดยปริมาณหนี้นอกระบบปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.5
ดูเหมือนมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะคลำได้ถูกจุดมากขึ้น แต่การจะ "ขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์" คงเป็น "อุดมคติ" และ น่าจะเป็นเพียงวาทกรรม "คำโต" ที่พูดให้ดูดีมากกว่า