ไม่พบผลการค้นหา
นักวิเคราะห์มองบวกหลัง SPV ยกเลิกทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจ เชื่อดีล ทรู- ดีแทค เดินหน้าต่อเร็วขึ้น

วันที่ 22 พ.ย. 2565 ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) จำกัด (ทรู) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ส่งแจ้งรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงความคืบหน้าการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) จำกัด และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) จำกัด (ดีแทค) ว่า ล่าสุด บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด และ บริษัท ซิทริน เวนเจอร์ เอสจี (Citrine Venture SG Pte. Ltd) ได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งยกเลิกการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขบังคับก่อนการทำคำเสนอซื้อตามกฎหมาย เนื่องจากเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 1 ปีนับจากวันที่บริษัททั้งสองได้ประกาศเจตนาที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขบังคับก่อนการทำคำเสนอซื้อ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2564 ตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการของ ก.ล.ต.

"การแจ้งยกเลิกดังกล่าวไม่มีผลต่อการรวมธุรกิจแต่อย่างใด โดยทรูและดีแทคจะยังคงทำงานร่วมกันเพื่อให้การรวมธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ตามแผนต่อไปอีกทั้งไม่มีผลต่อทั้งผู้ถือหุ้นทรู และผู้ถือหุ้นดีแทค เพราะผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทจะยังคงสามารถขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตามปกติ หรือสามารถรอภายหลังการรวมธุรกิจบรรลุผลสำเร็จ และหุ้นของบริษัทใหม่ถูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผู้ถือหุ้นและนักลงทุนจะสามารถทำการซื้อขายได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ ทั้งนี้ บริษัทใหม่ ในฐานะที่เป็นบริษัทเทเลคอม-เทค จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการให้บริการลูกค้าและการลงทุนในอนาคตที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งมุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทย สังคม เศรษฐกิจ และประเทศไทยต่อไป”

แหล่งข่าวจากวงการนักวิเคราะห์ ได้ระบุถึงการรวมกิจการทรู-ดีแทค ว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 มีการประกาศว่าจะมีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจ หรือ voluntary tender offer (VTO) แก่ผู้ถือหุ้นดีแทคและทรู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ร่วมรับตามการเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือจะดำเนินการต่อในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากควบรวมกิจการที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวตามกฎหมายแล้วมีกรอบเวลากำหนดไว้ให้สรุปเงื่อนไขบังคับใช้ก่อนทำการเสนอซื้อให้แล้วเสร็จในกรอบเวลา 1 ปี

แต่การพิจารณารับทราบของ กสทช. ในการควบรวม ทรู และ ดีแทค ได้ล่าช้าไปกว่า 5 เดือน ทำให้กระบวนการ VTO นั้น หลุดกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งการยกเลิกดังกล่าว จึงไม่มีผลใด ๆ ต่อผู้ถือหุ้น และไม่มีผลต่อการรวมธุรกิจที่กำลังเดินหน้า ทั้งทรูและดีแทคจะยังคงทำงานร่วมกันเพื่อให้การรวมธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ตามแผนต่อไป ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว กระบวน VTO ถือได้ว่า อยู่นอกเหนือการควบคุมของทรูและดีแทค และความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการพิจารณาของ กสทช. ทำให้หลุดกรอบเวลาออกไป 

ทรู ดีแทค มือถือ -94B6-4CA4-82F7-511579F9B345.jpeg