น้ำมันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชน ตั้งแต่การใช้เพื่อเป็นพลังงานในการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการเป็นต้นทุนทางราคาของสินค้าและบริการต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบไปด้วยเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งสูงขึ้น
ประชาชนชาวไทยหลายภาคส่วนต่างมองว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของไทยยังคงไม่มีมาตรการตอบรับกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งโลก หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งประกาศมาตรการช่วยหลือด้านพลังงานที่ประชาชนมองว่าไม่ครอบคลุมปัญหาที่แท้จริง วอยซ์ขอพาคุณไปสำรวจมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันจากต่างประเทศ เพื่อย้อนทบทวนบทบาทของรัฐไทยต่อวิกฤตพลังงานในครั้งนี้
กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นออกมาตรการฉุกเฉินชั่วคราวตั้งแต่เมื่อช่วงวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อผ่อนคลายราคาขายส่ง และชะลอราคาน้ำมันเบนซินและเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้จัดจำหน่ายน้ำมันเป็นเงิน 3.4 เยน (ประมาณ 0.95 บาท) ต่อลิตร
อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้หยุดการให้เงินช่วยเหลือราคาน้ำมันที่เพียงแค่ 3.4 เยนเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้เพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือราคาน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 4 เท่าตัว จนทำให้ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมอบเงินช่วยเหลือราคาน้ำมันอยู่ที่ 25 เยน (ประมาณ 6.97 บาท) ต่อลิตรแล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการปล่อยมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกเลิกภาษีน้ำมันบางส่วนหากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกิน 160 เยน (ประมาณ 44.59 บาท) ต่อลิตรเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้เงินสำรองฉุกเฉินไปแล้วกว่า 3.5 แสนล้านเยน (ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท) สำหรับปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดลงในเดือนนี้ เพื่อเป็นทุนอุดหนุนค่าน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น
เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจประกาศขยายเวลาการลดภาษีพลังงานออกไป ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 12 พ.ย.ปีก่อน ให้ยืดยาวออกไปถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ลดภาษีน้ำมันเบนซิน 164 วอน (ประมาณ 4.52 บาท) น้ำมันดีเซล 116 วอน (ประมาณ 3.19 บาท) และก๊าซแอลพีจี 40 วอน (ประมาณ 1.10 บาท)
มาตรการล่าสุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศเมื่อช่วงเดือน ต.ค.ของปีก่อนว่า ภาษีในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันที่จำเป็นจะถูกลดลงกว่าหนึ่งในห้าเป็นการชั่วคราว และจะมีการลดอัตราภาษีก๊าซแอลเอนจีจาก 2% ให้เหลือเป็นศูนย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซียประกาศว่า เงินอุดหนุนปิโตรเลียมในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนไปอยู่ที่จำนวนเงินกว่า 2.8 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท) หากราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 419 ริงกิต (ประมาณ 3,330 บาท) ต่อบาร์เรล โดยจะคิดเป็นเงินอุดหนุนน้ำมันกว่าเดือนละ 2.5 พันล้านริงกิต (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียได้จ่ายเงินกว่า 2 พันล้านริงกิต (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) เพื่อเป็นเงินอุดหนุนน้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าซแอลพีจี ทั้งนี้ ตลอดปีก่อน รัฐบาลมาเลเซียได้จ่ายเงินอุดหนุนปิโตรเลียมคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท)
รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศเพิ่มเงินกว่าเท่าตัวในโครงการอุดหนุนพลังงานไปเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 5 พันล้านเปโซ (ประมาณ 3.2 พันล้านบาท) เพื่ออุดหนุนค่าพลังงานให้แก่ภาคการขนส่งสาธารณะ และมอบบัตรกำนัลเชื้อเพลิงเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกร เพื่อลดความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นผ่านการลดต้นทุนการผลิตด้วยงบประมาณ 1.1 พันล้านเปโซ (ประมาณ 703 ล้านบาท)
มาตรการเงินอุดหนุนนี้จะถูกบังคับใช้ในเดือนนี้และปีหน้า หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศแผนการช่วยเหลือประชาชนจากค่าพลังงานที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วง ต.ค.ของปีก่อน โดยกระทรวงพลังงานของฟิลิปปินส์เผยว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะต้องได้รับคะแนนเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมอีก
มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาประกอบไปด้วย การเพิ่มช่วงเวลากันชนในการเก็บคลังน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศจากเดิม 30 วันไปเป็น 45 วัน และการเก็บก๊าซแอลพีจีจากเดิม 7 วันไปเป็น 15 วัน นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังได้วางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการใช้ถ่านหินสำหรับการผลิตไฟฟ้า และยกเลิกภาษีเชื้อเพลิงดังกล่าวลงชั่วคราวด้วย
รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังพิจารณามอบเงินคืน 0.15 ยูโร (ประมาณ 5.52 บาท) ต่อน้ำมันหนึ่งลิตรเพื่อช่วยประชาชนผู้ใช้รถขับขี่ที่กำลังเจอกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้ในช่วงเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้ตั้งงบประมาณเอาไว้อยู่ที่ 2 พันล้านยูโร (ประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท)
มาตรการคืนเงินดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็ก คนขับแท็กซี่ คนขับรถบรรทุก คนตกปลา และผู้ขับขี่จักรยานยนตร์จะได้รับเงินคืน 9 ยูโร (ประมาณ 331.50 บาท) ในทุกๆ การเติมน้ำมันปริมาตร 60 ลิตร โดยปั๊มน้ำมันจะทำการลดราคาน้ำมันที่หน้าตู้จ่าย ก่อนที่รัฐบาลจะมอบเงินอุดหนุนชดเชยจำนวนเงินที่หักเพื่อลดภาระให้กับประชาชนดังกล่าวไป
มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นตามมาจากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศลดภาษี 10% ของราคาค่าคมนาคมขนส่งต่างๆ สำหรับผู้สัญจรไปมาในฝรั่งเศส นอกจากนี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุว่า ฝรั่งเศสได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 7.3 แสนล้านบาท) ต่อปีเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน
รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศลดค่าโดยสารรถสาธารณะลง 50% เพื่อกระตุ้นการใช้รถขนส่งสาธารณะ และลดภาระประชาชนจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงวิกฤตสงครามยูเครน รวมถึงค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากนิวซีแลนด์กำลังเผชิญหน้าอยู่กับภาวะเงินเฟ้อเช่นเดียวกันกับหลายประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังได้ประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันและค่าธรรมเนียมผู้ใช้ถนน 0.25 เซนต์ (ประมาณ 5.79 บาท) ต่อน้ำมันหนึ่งลิตร ทั้งนี้ กระทรวงการคลังของนิวซีแลนด์ประกาศว่านโยบายดังกล่าวจะถูกใช้เป็นเวลาสามเดือน แล้วรัฐบาลจะกลับมาทบทวนนโยบายนี้อีกรอบในอนาคต
รัฐบาลโปรตุเกสประกาศมอบเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชนในประเทศช่วงเดือน มี.ค.นี้ ด้วยอัตรา 40 เซนต์ (ประมาณ 14.84 บาท) ต่อลิตรปริมาตรสูงสุด 50 ลิตร หรือคิดเป็นเงิน 20 ยูโร (ประมาณ 742 บาท) หลังจากราน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น
ประชาชนจะได้รับเงินโอนคืนเข้าบัญชีโดยตรง หลังจากเติมน้ำมันที่ปั๊มแล้วภายในระยะเวลา 2 วัน โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มประกาศใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ย.ของปีก่อน ทั้งนี้ ประชาชนจะต้องลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม IVAucher และเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า 5 ยูโร (ประมาณ 185 บาท) เมื่อซื้อน้ำมันครั้งแรกของแต่ละเดือน
รัฐบาลโปรตุเกสคาดว่า จะต้องใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านยูโร (ประมาณ 1.4 พันล้านบาท) ในการมอบเงินอุดหนุนค่าน้ำมันให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีของโปรตุเกสประกาศว่า รัฐบาลอาจคงมาตรการอุดหนุนดังกล่าวเอาไว้ให้ได้นานมากที่สุดตามความจำเป็นกับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก
วุฒิสภาบราซิลเพิ่งลงคะแนนรับรองกฎหมายสองฉบับเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ผ่านการมอบเงินอุดหนุนและยกเว้นภาษีพลังงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อ Petrobras บริษัทน้ำมันที่บริหารโดยรัฐบาลบราซิล แต่กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการลดรายได้ภาษีของภาครัฐในที่สุด
กฎหมายฉบับแรกของบราซิลเกี่ยวกับการรับมือวิกฤตราคาพลังงานนั้น จะกำหนดให้รัฐบาลบราซิลต้องชดเชยผู้จัดจำหน่ายเชื้อเพลิงหากราคาเชื้อเพลิงต่างประเทศพุ่งสูงขึ้นเกินระดับราคาที่ยอมรับได้สำหรับระดับราคาน้ำมันในประเทศ
ส่วนกฎหมายฉบับที่สอง จะช่วยบราซิลลดความซับซ้อนของมาตรการในการคำนวณภาษีของรัฐ ที่เกี่ยวกับราคาน้ำมันเบนซิน เอทานอล ดีเซล ไบโอดีเซล และแอลพีจี ซึ่งจะช่วยลดราคาน้ำมันในบราซิลลงได้