ไม่พบผลการค้นหา
ระหว่างชุลมุนกับการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ หลายฝ่ายคิดข้ามช็อตแล้วถึงการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อยุติกติกาบิดเบี้ยวจากรัฐประหาร

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังต้องเจอระยะทางและพงหนามสาหัส โดยเฉพาะ 250 สว. ชุดพิเศษที่มาจากหมวกคัดสรรของ คสช.ซึ่งเคยมีประวัติโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว 25 ฉบับจาก 26 ฉบับ จากที่เสนอ สสร. เหลือเพียงการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบที่รอดด่าน ส.ว.มาได้

อย่างไรก็ตาม สว. ชุดนี้มีอายุจำกัดไว้ที่ ‘5 ปี นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้’ จึงอนุมานได้ว่า สว.จะหมดอายุลงในราวเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย. 2567 (โปรดเกล้าฯ ส.ว. 11 พ.ค.2562/ ประชุมรัฐสภานัดแรก 5 มิ.ย.2562) 

ประกอบกับเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยที่แถลงไว้เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2566 ว่า ภารกิจหลักหลังตั้งรัฐบาล คือการแก้รัฐธรรมนูญ โดยในการประชุม ครม.นัดแรกจะมีวาระการทำประชามติและตั้ง สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไข คืนอำนาจให้ประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

นั่นหมายความว่า แม้เส้นทางที่ผ่านจะไม่ราบรื่นนัก แต่ก็ยังพอมีเหลือโอกาสและที่ทางให้ประชาชนได้หวังอยู่บ้าง 

‘วอยซ์’ ชวนคลี่เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 5 ขั้นตอนที่ต้องผ่านถึง 3 คูหาประชามติ และ 1 เลือกตั้ง สสร. รวมถึงการสรรหา สว. ชุดใหม่จากกระบวนการคัดเลือกจาก 20 กลุ่มอาชีพ เปิดโอกาสให้ประชาชนจังหวัดต่างๆ เตรียมส่งผู้สมัคร ส.ว. 

ขั้นตอน ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่


บันไดขั้นที่ 1 การทำประชามติครั้งที่ 1 

ประชามติครั้งแรกถามประชาชนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ อันที่จริง ‘ไม่จำเป็น’ ต้องทำ แต่เหตุที่ต้องทำนั้นต้องย้อนไปปลายปี 2563 พรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้าน เคยเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำฉบับใหม่และยื่นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และสามารถผ่านวาระที่ 1 และ 2 ไปได้ แต่ในวาระที่ 3 ปรากฏว่า สว. และ สส.ขั้วรัฐบาลเดิมได้เข้าชื่อเพื่อยื่นเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาสามารถลงมติได้หรือไม่หรือต้องทำประชามติก่อน

ต่อมาวันที่ 11 มี.ค.2564 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน”  โดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำประชามติก่อนหรือหลังการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ตรงนี้คือความกำกวมในคำวินิจฉัยที่ภาคประชาหลายกลุ่มกังวล

จริงๆ แล้วไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าต้องทำประชามติก่อนการพิจารณาของรัฐสภา แต่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลออกมาเช่นนี้ สว. และ สส.บางส่วนจึงใช้ข้ออ้างนี้ในการตีตกการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในปี 2563 

ด้วยสาเหตุข้างต้นทำให้วันที่  7 ส.ค.2566  พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้ง (ว่าที่) รัฐบาล ได้แถลงจัดตั้งรัฐบาลและกำหนดแนวทางตอนหนึ่งว่า ในการประชุม ครม.นัดแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้ง สสร. เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นมีความปลอดภัยจากการตีความว่าต้องทำประชามติหรือไม่ 

หากเดินไปตามทางนี้ได้จริง กระบวนการจัดทำประชามติครั้งที่ 1 นี้จะใช้เวลาราว 90-120 วัน หากประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะนำมาสู่ขึ้นพิจารณายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐสภาต่อไป

อย่างไรก็ดี ความกังวลของภาคประชาชนคือ ‘คำถามในการทำประชามติ’ ซึ่งจะเป็นหลักประกันถึงกรอบที่จะทำ โดยขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำถามในประชามติคืออะไร 

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจึงได้ทำแคมเปญเข้าชื่อเสนอคำถามในประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคำถามมีอยู่ว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

เรียกว่าต้องการการยืนยันว่า

1. สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 %

2. ต้องเขียนรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ ไม่มีเงื่อนไขห้ามแก้ไขบางหมวด


บันไดขั้นที่ 2 พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา

หลังประชามติครั้งที่ 1 ผ่าน ขั้นต่อไปคือ การประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อพิจารณา ‘ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เพื่อเปิดช่องตั้ง สสร.เสียก่อน โดยมาตราหลักที่จะต้องแก้คือ มาตรา 256 ว่าด้วยเรื่องวิธีการ กระบวนการต่างๆ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องผ่านทั้ง 3 วาระดังนี้ 

  • วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของสองสภา (ส.ส. + สว.) และต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ สว. ทั้งหมด
  • วาระที่ 2 ขั้นพิจารณารายมาตรา มีการตั้งคณะกรรมมาธิการและอภิปรายรายมาตรา โดยถือเสียงข้างมากมจากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
  • วาระที่ 3 ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสองสภา (สส. + สว.) ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือเรียกรวมๆ ว่า สส. ฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
  • เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ต้องรอไว้ 15 วัน หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

บันไดขั้นที่ 3 ประชามติครั้งที่ 2 ตามมาตรา 256

เนื่องจากในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาจะตัดสินใจลำพังไม่ได้ ต้องผ่านการทำ ‘ประชามติ’ ให้ประชาชนเห็นชอบก่อน ดังนั้น หลังจากรัฐสภาลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว จะต้องจัดทำประชามติให้ประชาชนทุกคนได้ไปออกเสียงว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านวาระ 3 ออกมา


บันไดขั้นที่ 4 เลือกตั้ง สสร. 

หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่านสภา และผ่านประชามติครั้งที่สองมาได้ ก็จะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดทางให้จัดตั้ง สสร. ขึ้นมาเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ 

ประเด็นสำคัญคือ ที่มาของ สสร. ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะผ่านกระบวนสรรหามาอย่างไร ขณะที่ด้านภาคประชาชนจากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ได้ออกมารณรงค์เพื่อผลักดันในประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ สสร. ต้องมาจากเลือกตั้งจากประชาชน 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2566 เพื่อไทยเคยแถลงมติการประชุมของของพรรคใน 4 ประเด็นหลัก โดยข้อ 1 ระบุว่า  หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล จะเร่งดำเนินการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีการทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของพี่น้องประชาชนก่อน 


ประชามติครั้งที่ 3 รับรองรัฐธรรมนูญใหม่ 

หากจัดตั้ง สสร. สำเร็จ สสร. ก็จะทำหน้าที่ได้ร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับ จากนั้นก็ต้องทำประชามติครั้งที่ 3 เพื่อให้ประชาชนออกเสียงความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ สสร. เป็นผู้ยกร่างขึ้น 

เท่ากับว่า กว่าประเทศไทยจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องผ่านการทำประชามติทั้งสิ้น 3 ครั้ง และการเลือกตั้ง สสร. 1 ครั้ง 

จากการคาดการณ์ของ ilaw ระบุว่า กรอบเวลาในการดำเนินการทั้งหมด อาจใช้เวลาในการทำประชามติครั้งแรกประมาณ 3 เดือนหลังจากได้รัฐบาลใหม่ และใช้เวลาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาประมาณ 4 เดือน ในเวลาทำประชามติครั้งที่สองประมาณ 3 เดือน ใช้เวลาในการจัดตั้ง สสร. และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกประมาณ 10 เดือน และทำประชามติครั้งที่สามประมาณ 3 เดือน รวมแล้วก็ใช้เวลาประมาณ 23 เดือน หรืออย่างเร็วจะเสร็จภายใน 2 ปี 


ย้อนดูที่มา สสร. 4 ชุดของไทย

หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมือง ประเทศไทย เคยมี สสร. มาทั้งหมด 4 ชุด และมีความแตกต่างกันในกระบวนการได้มา ได้แก่ 

  • ปี 2491 รัฐบาลขณะนั้นเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) และได้ตั้ง สสร. 40 คน แบ่งเป็น สว. เลือก 10 คน สส. สส. เลือก 10 คน เปิดรับสมัคร 20 คน โดยทั้ง 40 คนต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน
  • ปี 2502 กำหนดให้จัดตั้ง สสร. ประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง 240 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกด้วย สสร. ชุดนี้ยังทำหน้าที่ในการคัดเลือก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ​ อีกด้วย อีกทั้ง สสร. ชุดนี้ยังมีอายุยาวนานที่สุดในโลก คือ  9 ปี 4 เดือน
  • ปี 2539 สสร. ชุดนี้ มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน  (ขณะนั้นประเทศไทยมี 76 จังหวัด) รวมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ จำนวน 23 คน เป็น 99 คน มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 240  ที่มา สสร. ชุดนี้ นำไปสู่การกำหนดพื้นฐานการปฏิรูปการเมือง โดยปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำมาสู่ รัฐธรรมนูญ 2540 ทีได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่ดีที่สุด
  • ปี 2549 จากเหตุการณ์รัฐประหารโดย คปค. ซึ่งได้ทำการล้มรัฐธรรมนูญ 2540 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 โดยเนื้อหาได้กำหนดมี ‘สมัชชาแห่งชาติ’ โดยการสรรหาจากทุกภาคส่วน 1,982 คน จากนั้นให้ลงมติคัดเลือกกันเอง เหลือ 200 คน แล้วให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ทำการคัดเลือกเหลือ 100 คน เพื่อไปเป็น สสร. และในปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ / ไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

หากจะหาตัวอย่างของกระบวนการสรรหา สสร. ที่ดูจะยึดโยงกับประชาชนที่สุด  ก็คงหนีไม่พ้น สสร. ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีที่มาจากการ ‘เลือกตั้งโดยอ้อม’ ของประชาชนทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 คน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน นั้นทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แตกต่างจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา ที่มักร่างโดยชนชั้นนำ 

เมื่อเราลองคลี่ขั้นตอนการสรรหา สสร. 2540 จะพบว่ามีกระบวนการดังนี้  

สรรหา สสร. แต่ละจังหวัด 76 คน

  • ประกาศรับสมัคร สสร. ในแต่ละจังหวัด หากมีผู้สมัครในจังหวัดนั้นๆ ไม่เกิน 10 คน ให้นำรายชื่อทั้งหมดส่งไปให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติคัดเลือก 
  • หากมีผู้รับสมัครเกินกว่า 10 คน ให้ลงคะแนนโดยคัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครให้เหลือไม่เกิน 10 คน แล้วจึงส่งไปให้รัฐสภาคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน (ขณะนั้นประเทศไทยมี 76 จังหวัด)
  • ผู้ประสงค์ลงสมัคร ให้ยื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดของตน ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (ต้องกำหนดวันรับสมัครให้เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ)
  • กรณีที่มีผู้สมัครไม่เกิน 10 คนในจังหวัด เมื่อผู้ว่าฯ ตรวจสอบคุณสมบัติเสร็ตแล้ว ให้ส่งรายชื่อไปยังประธานสภา
  • หากมีผู้สมัครเกิน 10 คน ให้ผู้ว่าฯ จัดประชุมพร้อมกันระหว่างผู้ลงสมัคร เพื่อลงคะแนน (ลับ) เลือกกันเอง โดยผู้สมัครสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้คนละไม่เกิน 3 คน จากนั้นให้ผู้ว่าฯ ส่งรายชื่อและเอกสารหลักฐานผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด ลำดับ 1-10 ไปยังประะธานสภา
  • กรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากันเป็นเหตุให้มีจำนวนเกิน 10 คน ให้จัดการลงคะแนนใหม่ เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน 
  • กระบวนการดังกล่าว ผู้ว่าฯ ต้องต้องดำเนินการให้เสร็จ และส่งรายชื่อไปยังประธานสภาภายใน 50 วัน นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง

สรรหา สสร. จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 23 คน

  • สสร.จากตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ แบ่งสัดส่วนเป็น ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 8 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 8 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คน (รวม 23 คน) 
  • ตัวแทนกลุ่มดังกล่าวให้มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีการมอบปริญญาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติประเภทต่างๆ แล้วจึงส่งให้รัฐสภา (ภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดรับสมัครรับเลือกตั้ง) 
  • จากนั้นประธานสภาจะจัดทำรายชื่อบุคคลที่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ส่งมา และจะต้องมีการจัดประชุร่วมกันของรัฐสภา ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายชื่อ 

‘รัฐสภา’ ด่านสุดท้าย

  • ตัวแทนทั้งสองแบบจะมีรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว.  เป็นคนลงคะแนนเสียงเลือกในด่านสุดท้าย หรือที่เรียกว่า ‘การเลือกตั้งทางอ้อม’ ภายใน 10 วัน นับตั้งแต่ได้รายชื่อของ ผู้สมัคร/รับเลือก ครบถ้วน 
  • สส. และ สว. จะลงคะแนนลับ เพื่อเลือกผู้สมัครจังหวัดละ 1 คน และเลือกจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ให้ได้ในจำนวน 23 คน 
  • กรณีมีผู้ได้คะแนนเท่ากัน ให้จัดการลงคะแนนใหม่เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันเท่านั้น แต่ถ้ายังได้คะแนนเท่ากันอีก ให้ประธานสภาใช้วิธีจับสลากเพื่อหาข้อสรุป
  • เมื่อได้รายชื่อ สสร. ครบ 99 คน ให้ประธานสภาประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา
  • หาก สสร. ที่ได้รับเลือกคนใดมีเหตุให้ต้องออกจากตำแหน่งก่อนวาระ (ลาออก ตาย ขาดคุณสมบัติ) ให้รัฐสภาจัดเลือกตั้ง สสร. ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 30 วัน จากบัญชีรายชื่อผู้สมัครอันเดิม (ยกเว้นว่าระยะเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเหลือไม่ถึง 90 วัน)
  • กรณีที่ตำแหน่งว่างลง และไม่มีรายชื่อสำรองแล้ว ให้ สสร.ที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดย ทั้งนี้ สสร. ที่เหลืออยู่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ สสร ทั้งหมด 
  • พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้แต่งตั้ง ประธาน สสร. 1 คน และรองประธาน สสร. 1-2 คน โดยมีประธานสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

สว. 1 ใน 3 ชี้เป็นชี้ตายการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างฉบับใหม่ 

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มีวิธีการแก้ที่ยุ่งยากกว่ารัญธรรมนูญ 2540 อย่างมาก โดยเฉพาะเงื่อนไขผูกพัน 4 เงื่อนใหญ่ ดังนี้ 

  • ต้องได้เสียง สว. 1 ใน 3 ของจำนวน สว. ทั้งหมด
  • เสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 ของทุกพรรครวมกัน
  • ต้องทำประชามติ หากแก้ไขบททั่วไปหมวดกษัตริย์ วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลและองค์กรอิสระ
  • อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับด่าน สว. อย่างที่รู้กันว่า ที่มาของพวกเขาคือ การคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถมมีพลังวิเศษจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้มี สว. ชุดแรก จำนวน 250 คน วาระ 5 ปี (โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวันที่ 11 พ.ค.2562) และมีอำนาจลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นอกจากต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสองสภาแล้ว ยังต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 ของจำนวน สว. ทั้งหมดอยู่ในนั้น ทำให้ สว. ชุดนี้ กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

หลายฝ่ายระบุว่า จะให้ชัวร์ควรให้มีการนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านสภากันตอนที่ได้สว.ชุดใหม่แล้ว จะดีกว่า สว.ชุดเก่าที่แต่งตั้งโดย คสช.ซึ่งมีแนวโน้มจะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  


อยากเป็น ส.ว. ต้องทำอย่างไร

ที่มาของ สว. ชุดใหม่ นับว่ามีความแตกต่างจาก 250 สว.ชุดพิเศษอย่างมาก โดยเฉพาะวิธีการคัดเลือก ที่เปิดรับสมัครบุคคลที่ต้องการเป็น สว. โดยจัดผู้สมัครตาม ‘กลุ่มอาชีพ’ 20 กลุ่ม อาทิ กลุ่มนักกฎหมาย กลุ่มการศึกษา กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพิช หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดต่างๆ ฯลฯ 

ถือเป็นโอกาสของประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านบทบาท ‘สว.’ ที่ห่างหายจากการยึดโยงกับประชาชนมายาวนาน และจะได้มีบทบาทต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สว. ชุดใหม่มีจำนวนเพียง 200 คน วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และต้องผ่านกระบวนการ ‘คัดเลือกกันเอง 3 ด่าน’ ดังนี้ 

ระดับอำเภอ

  • เริ่มต้นด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัคร  โดยเลือกในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน จะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกิน 1 คะแนน 
  • ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม 
  • จากนั้นคือขั้นตอนเลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม เพื่อไปเลือกต่อในระดับจังหวัด 
  • เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกแต่ละกลุ่มแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสายไม่เกิน 4 สาย จำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน
  • ผู้ได้รับเลือกของแต่ละกลุ่ม จะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกัน หรือเลือกตนเองในขั้นนี้ 
  • ผู้ได้คะแนน 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับจังหวัดต่อไป 

ระดับจังหวัด 

  • ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกิน 1 คะแนน
  • ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม 
  • กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย  แบ่งออกเป็นไม่เกิน 4 สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน 
  • ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม จะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละ 1 คน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง
  • ผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับประเทศต่อไป 

ระดับประเทศ 

  • ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกิน 1 คะแนน
  • ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน 
  • กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย  แบ่งออกเป็นไม่เกิน 4 สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆกัน 
  • ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละไม่เกิน 5 คน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ 
  • ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น 

เมื่อผ่านทั้ง 3 ด่าน ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นส.ว. ชุดใหม่ และจะทำให้อำนาจของ 250 สว. ที่มาตามบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการเลือกนายก การติดตาม เสนอแนะ และพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ มหรือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บางเรื่องที่ถูกยับยั้งไว้

อย่างไรก็ดี สว. ชุดใหม่ แม้ไม่มีอำนาจตามบทเฉพาะกาล แต่ก็ยังมีอำนาจในเรื่องหลักๆ อีกหลายประการ เช่น การพิจารณาร่าง พ.ร.ป. และกลั่นกรองกฎหมาย, ให้ความเห็นชอบกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ (ใช้เสียง สว. 1 ใน 3), เห็นชอบหรือให้คำแนะนำเพื่อแต่งตั้งตุลาการในองค์กรอิสระ หรืออำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร

ขั้นตอนการสมัคร สว. 

  • ผู้สมัคร สว. ต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง พร้อมเอกสารและหลักฐานประกอบ รวมทั้งชําระค่าธรรมเนียมการสมัครจํานวน 2,500 บาท 
  • ผู้สมัครสามารถเลือกกลุ่มที่ตนจะเข้ารับสมัครได้เพียงกลุ่มเดียว และอําเภอเดียว เมื่อยื่นใบสมัครแล้วไม่สามารถถอนการสมัครได้ 
  • แบบหนังสือแจ้งการเสนอชื่อ วิธีการสมัคร ระยะเวลาการสมัคร สถานที่สมัคร การเรียงลําดับผู้สมัคร และวิธีการชําระค่าธรรมเนียมการสมัคร จะเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด 

เอกสารการสมัครที่ต้องเตรียม 

  • เอกสารหรือหลักฐานที่ยืนยีนว่า ผู้สมัครมีความรู้ เชี่ยวชาญ​ ประสบการณ์​ ลักษณะอาชีพด้านใดด้านหนึ่งที่สอดคล้องกับ 20 กลุ่มข้างต้น
  • ข้อความแนะนําตัวของผู้สมัคร ซึ่งมีความยาวไม่เกินที่คณะกรรมการกําหนด
  • เอกสารหรือหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกําหนด (ผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ทุกฉบับและทุกหน้า ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ให้รับรองความถูกต้องและเป็นจริงตามวิธีการ ที่คณะกรรมการกําหนด)
  • เอกสารหรือหลักฐาน ต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้นั้นมี คุณลักษณะเช่นนั้นจริง และต้องมีสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนของพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองถูกต้อง แนบมาพร้อมกัน
  • ในกรณีมีเหตุจําเป็นเฉพาะพื้นที่ทําให้ไม่สามารถดําเนินการรับสมัครภายในระยะเวลา หรือในวันที่กําหนดเพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจําเป็นอื่นใด ให้คณะกรรมการ มีอํานาจประกาศกาหนดให ํ ้ดําเนินการรับสมัครโดยวิธีการอื่น หรือจะกําหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมก็ได้ 

คุณสมบัติของผู้สมัคร สว. 

ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ประกอบด้วย

  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
  3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี 
  4. ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก, เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี, เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา  
  5. ทั้งนี้ คุณสมบัติเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี นั้น จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่สมัครในกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในข่าย ‘อื่น ๆ หรือในทำนองเดียวกัน’ จะต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

อ้างอิง