ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์โควิดระลอก 3 ที่ “ศึกใน” ยังไม่จบ ทว่า “ศึกนอก” กลับประชิด ผ่านรูปแบบการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจนำโควิดสายพันธุ์อื่นๆเข้ามาในไทย ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ภายใน หรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์นำเข้า”

ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วกับสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในขณะนี้ เสียงเตือนเรื่อง “แรงงานต่างชาติ” เริ่มดังขึ้นอีกครั้งช่วงต้นเดือน พ.ค. 2564 หลัง วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกมาเตือน เพราะพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เคยเผชิญกับการระบาดระลอก 2 ที่นำมาสู่การสกัดกั้นการแพร่ระบาดทั้งในตลาดและโรงงานต่างๆ ทำให้ ศบค. ตระหนักถึง “ศึกนอก” ที่อาจกลับมา “ตีกรุงแตก” อีกครั้ง

ทั้งนี้การป้องกันแนวชายแดนเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2563 นับจากที่เกิดเหตุระบาด ระลอกที่ 1 โดยช่วงปลายปี 2563 หลัง พล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เมื่อ ต.ค. 2563 ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้ลงพื้นที่ 7 กองกำลังป้องกันชายแดน เพื่อมอบนโยบายและสั่งการต่างๆ หลังมีบทเรียนมาจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย พื้นที่กองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2563 หลังมีขบวนการนำพาคนไทยจาก จ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ลักลอบข้ามกลับมายังไทย ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดที่ฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก 

เมื่อครั้ง พล.อ.ณรงค์พันธุ์ ลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ตรวจเยี่ยม ฉก.ตาพระยา กองกำลังบูรพา จ.สระแก้ว เมื่อ 16 ธ.ค. 2563 ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ขอให้ประสานประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำข้อมูลคนไทยที่ไปทำงานประเทศเพื่อนบ้านกลับเข้าไทยอย่างถูกกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เพราะเมื่อเกิดอะไรขึ้น ทหารและตำรวจตามแนวชายแดนจะตกเป็นจำเลยก่อนจึงต้องทำการป้องกันให้ดี” 

สถานการณ์การแพร่ระบาด ระลอกที่ 3 สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทบ. ป้องกันตัวเองจากการ “ตกเป็นจำเลย” หนึ่งในนั้นคือการเสนอข้อมูลและความคืบหน้าการจับกุมที่อัพเดททุกวัน มาพร้อมภาพถ่ายและรายละเอียด รวมทั้งต้องส่งผลการจับกุมไปยัง ศบค.ใหญ่ เพื่อใช้ในการแถลงข่าวประจำวัน โดยความสนใจของสังคมพุ่งเป้าไปที่ชายแดนฝั่งไทย-เมียนมา ด้วยสถานการณ์สู้รบทางการเมืองในเมียนมา ถือเป็นอีกปัจจัยในการลักลอบเข้าเมืองมายังไทยสูงขึ้น 

ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า มีการเปลี่ยนเส้นทางลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเปลี่ยนจากชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ลงมาชายแดนภาคตะวันตก ได้แก่ จ.กาญจนบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนฝั่งภาคตะวันออกชายแดนไทย-กัมพูชา คือ จ.สระแก้ว ด้วยภูมิประเทศที่เอื้อต่อการข้ามแดนและใกล้กับพื้นที่ทางเศรษฐกิจของไทย ผ่านช่องทางธรรมชาติต่างๆ หรือ เส้นทางเดินทัพในอดีต เป็นต้น เพราะในบางจังหวัดมีภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรค เพราะเป็นป่าและเทือกเขาสูง จึงไม่สะดวกต่อการข้ามแดน อีกทั้งมีระยะทางไกลจากพื้นที่เศรษฐกิจของไทยด้วย 

อย่างไรก็ตามมีการสรุปตัวเลขผลการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตั้งแต่ ก.ค. 2563- พ.ค.2564 ที่รายงานต่อศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัด โดยทหาร-ตำรวจได้ร่วมจัดตั้งจุดตรวจร่วม 1,086 จุด สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ถึง 32,812 คน โดยจับได้ในพื้นที่ชายแดน 23,258 คน พื้นที่ชั้นใน 9,554 คน เป็นผู้นำพา 264 คน และทำลายเครือข่ายไปแล้ว 105 เครือข่าย

กลาโหม แรงงานข้ามชาติ F1DA7E8E-BB9B-4469-9014-4663CCCBB5F1.jpeg

ฝ่ายความมั่นคงได้เปิด “แผนการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย” โดยมีการทำเป็นขบวนการทั้ง 2 ประเทศ โดยเริ่มจากผู้ประกอบการในไทยมี “ความต้องการแรงงาน” จึงติดต่อผ่านขบวนการจัดหาแรงงานเหล่านี้ จากนั้น “ออเดอร์” ได้ลงไปยัง “นายหน้าหรือผู้นำพา” ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อจัดหาแรงงานได้ตามออเดอร์ก็นำพามาส่งที่จุดนัดหมาย จากนั้นนายหน้าฝั่งไทยก็จะไปรับตามจุดหมาย โดยนายหน้าทั้ง 2 ฝั่งต่างเป็นคนท้องถิ่นในพื้นที่เพราะจะต้องรู้จักเส้นทาง

ทั้งนี้จะมีการให้แรงงานต่างชาติมาพักคอยตามพื้นที่แนวชายแดน จึงเป็นจุดที่ทำให้เจ้าหน้าที่จับกุมได้ โดยระยะเวลาพักคอยในช่วงกลางคืน หลายครั้งจึงจับกุมได้ในเวลาฟ้ามืด โดยระยะเวลาพักคอยต้องดูตามสภาพร่างกายของแรงงานต่างชาติด้วย หากหลุดจากจุดนี้ไปได้ก็จะขึ้นรถที่จัดเตรียมเพื่อเข้าสู่พื้นที่ตอนใน ซึ่งจุดนี้เองฝ่ายความมั่นคงก็ได้สกัดอีกชั้น ผ่านการตั้งจุดตรวจตามถนนสายต่างๆที่มาจากชายแดนและการตรวจตราชุมชนชายแดนเพื่อป้องกันการหลบซ่อนอีกชั้นหนึ่ง หากหลุดรอดมาได้อีกขั้นก็จะเข้าสู่ “กระบวนการฟอกตัว” ทำให้ถูกกฎหมายนั่นเอง ผ่านการรับรองของแต่ละหน่วยงานทีละขั้นตอน จาก “ถูกกฎหมายครึ่งใบ” กลายเป็น “ถูกกฎหมายเต็มใบ” ซึ่งในแต่ละขั้นตอนต้องระวัง “เกลือเป็นหนอน” ในคราบเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไปอยู่ในขบวนการด้วย 

ทั้งนี้กระบวนการค้าแรงงานเถื่อน ส่วนมากเป็น “เครือข่ายเก่า” ที่มีคอนเน็กชั่นเดิมในการจัดการ หากทำลายเครือข่ายเก่าไปได้ ก็จะลดการเกิดขึ้นของ “เครือข่ายใหม่” 

แรงงานข้ามชาติ B089ACC4-54FE-4E85-8110-9A4EE61ECED8.jpeg

ทั้งนี้การมี “ออเดอร์” มากนั้น เป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดระลอกแรกที่แรงงานต่างชาติแห่กลับประเทศต้นทาง ที่ไทยอยู่ในสภาวะ “กึ่งล็อกดาวน์” ทั้งประเทศ เมื่อเศรษฐกิจของไทยกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ทำให้มีความต้องการแรงงานตามมานั่นเอง รวมทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดและสถานการณ์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งเป็นตัวเร่งสู่การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมากขึ้นด้วย

ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จึงต้องแก้ที่ “ต้นทาง” นั่นคือออเดอร์ของผู้ประกอบการ ที่ต้องควบคุมให้ใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย ผ่านกระบวนการของภาครัฐโดยตรง อีกทั้งต้องทำให้การใช้แรงงานถูกกฎหมายนั้นเข้าถึงง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าแรงงานเถื่อน 

ด้วยพื้นที่ชายแดนที่ยาวนับพันกิโลเมตร ยากที่ป้องกันไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาได้ รวมทั้งการเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเถื่อน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับขบวนการ รวมทั้งการทำลายขบวนการค้าแรงงานเถื่อนทั้งระบบให้ได้ ไม่เช่นนั้น “สายพันธุ์นำเข้า” และการระบาดระลอกที่ 4-5 ก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้ง

สถานการณ์จะยิ่งแย่กว่าที่เป็นอยู่ !!

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog