ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ย้ำหนุนแก้ไข รธน.โยนรัฐสภาชี้ขาด ขณะที่ประธานรัฐสภาเผยความเห็นฝ่ายกฎหมายรัฐสภาเบรกโหวตร่างแก้ รธน. วาระ 3 ให้รอทำประชามติก่อน พร้อมย้ำให้รอผลชี้ขาดที่ประชุมรัฐสภา ด้าน 'เพื่อไทย' ย้ำรัฐสภามีอำนาจโหวต ชี้ศาล รธน.ไม่ฟันธงประชามติขั้นตอนใด

วันที่ 16 มี.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหมกล่าวถึงกรณีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ว่า ในวันนี้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้หารือร่วมกับวิปรัฐบาล ซึ่งตนได้ทำหน้าที่ครบไปแล้ว คือการนำเข้าพิจารณาในสภา นี่คืออำนาจของฝ่ายบริหาร ตนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายรัฐบาล ส่วนจะแก้ ได้ไม่ได้อย่างไรสุดท้ายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หากมีปัญหาก็ส่งต่อไปที่ฝ่ายตุลาการ

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลมุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะแก้อย่างไร ก็ไปว่ากันมา อย่ามากล่าวอ้าง ว่าตนไปเซ็นคำสั่งอะไรออกไป เพราะตนสั่งอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องนี้อันตราย

'วิษณุ' ยอมรับโหวตวาระ 3 มีปัญหา

ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ของรัฐสภาว่า แล้วแต่รัฐสภาว่าจะโหวตหรือไม่ และจากการอ่านคำวินิจฉัยกลาง มีประโยคที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากคำวินิจฉัยแรกที่ระบุว่า การแก้หมวด 15/1 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งประโยคนี้ถือว่ามีนัยและมีความหมาย

เมื่อถามว่าการระบุว่ามีความหมายนั้น หมายความว่าถ้าโหวตผ่านวาระ 3 แล้วจะมีปัญหาใช่หรือไม่ วิษณุ พยักหน้า พร้อมกล่าวว่า "ใช่ครับ แต่อย่างไรก็ต้องโหวตวาระ 3 อยู่ดี" เมื่อถามย้ำว่าถ้าไม่อยากให้มีปัญหาให้โหวตงดออกเสียงใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆว่า “ไม่ขอพูดแล้วหละเดี๋ยวหาว่าส่งซิก”

ชวน 1272229.jpg

ประธานรัฐสภา แย้มฝ่ายกฎหมายแนะประชามติก่อน โยนรัฐสภาชี้ขาด

ที่รัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยหลังการประชุมฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ว่า ทีมกฎหมาย ได้ประมวลนำความเห็นของภาคส่วนต่างๆทางการเมืองต่อการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 3 โดย้ำว่าการบรรจุระเบียบวาระนั้นเป็นไปตามกฎหมายจะละเว้นไม่ปฎิบัติไม่ได้ และการลงมติก่อนนี้ของฝ่ายกฎหมายที่เป็นเอกฉันท์แต่เป็นไปภายใต้การพิจารณาจากคำวินิจฉัยฉบับสั้นของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มได้พิจารณาอย่างรอบด้านครบถ้วน และทุกถ้อยคำในเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  

ประธานรัฐสภา กล่าวว่ากรณี จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่ากระบวนการที่ผ่านมาของรัฐสภาถือเป็นภารกิจภายในรัฐสภาไม่มีอะไรเสียหาย แต่หากลงมติวาระที่ 3 จะเกิดผลกระทบตามมา ซึ่งก็มีความเห็นจากส่วนต่างๆ อย่างหลากหลายและไม่มีความเห็นใดตรงกัน

ต่อมา ประธานรัฐสภาให้สัมภาษณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าในที่ประชุมฝ่ายกฎหมายรัฐสภา มีความเห็นที่เปลี่ยนไปหลังมีคำวินิจฉัยกลางออกมา โดยเห็นว่าไม่ควรลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ควรต้องมีการทำประชามติก่อน ส่วนจะทำประชามติขั้นตอนใดนั้นจะต้องหารือกันในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยจะเปิดให้สมาชิกอภิปรายเต็มที่

ด้าน พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.ในฐานะโฆษกพรรคพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า การประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 มี.ค. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เบื้องต้นที่ประชุมพรรคมีมติที่จะงดออกเสียง แต่ทั้งนี้ต้องรอดู ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่จะหารือกับทีมกฎหมายของสภาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อหลังมีคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพรรคยังยืนยันว่าพร้อมจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ชูศักดิ์ ศิรินิล เพื่อไทย wwe10303.jpg

เพื่อไทย ยันอำนาจรัฐสภาโหวตวาระ 3 ยกศาล รธน.ไม่ได้ชี้ชัดทำประชามติขั้นตอนใด

ขณะที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อการโหวตวาระสามกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยสรุปคือรัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแต่ต้องไปถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน

ชูศักดิ์ ระบุว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณา 1. รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ประเด็นนี้เป็นที่ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2555 และปี 2564 รัฐสภาสามารถใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เท่านั้น

2. จะให้ประชาชนลงมติในขั้นตอนใด ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ชัดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่าง การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่สาม ว่าจะลงมติในวาระที่สามแล้วนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติหรือให้งดการลงมติในวาระที่สามและให้การดำเนินการที่ผ่านมาในวาระที่หนึ่ง และที่สองต้องสิ้นผลไปแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐสภาได้มีมติในวาระที่หนึ่งและที่สองผ่านพ้นไปแล้ว เมื่ออำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นอำนาจของรัฐสภาและที่ผ่านมารัฐสภาได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามขั้นตอน ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 ทุกประการ คงเหลือขั้นตอนการให้ความเห็นชอบในวาระที่สาม และการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเท่านั้น

3. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รอการลงมติในวาระสาม ถือเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในตัวเอง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องยกเลิกกระบวนการทั้งหมดที่ทำมาเพื่อไปเริ่มถามประชามติประชาชนก่อน แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ผ่านการลงมติของประชาชนและประกาศใช้ เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเท่านั้น ดังนั้น การให้ประชาชนออกเสียงประชามติหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระที่สามจึงถือเป็นการถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน อันสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง