ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' ยื่นร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมการเมือง เหมาตั้งแต่ปี 2549 รวมอภัยคดี ม.112 หวังทุกขั้วการเมืองร่วมหนุน เป็นจุดเริ่มต้นความปรองดอง เทียบคดี '6 ตุลา' หนักกว่าถึงขั้นถืออาวุธยังเคยนิรโทษมาแล้ว

วันที่ 5 ต.ค. ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองฯ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับร่างกฎหมาย

วันมูหะมัดนอร์ กล่าวถายหลังรับหนังสือว่า ขอแสดงความยินดีกับ ชัยธวัช ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค และจะได้ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคนต่อไป สำหรับร่างพระราชบัญญัติบุคคลซึ่งกระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จะรับไว้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุด

ชัยธวัช กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้ออย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ 11 ก.พ. 2549 และลุกลามบานปลายจนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และต่อมาก็ยังมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งเมื่อปี 2557 

ตลอดระยะเวลาของการชุมนุมนับตั้งแต่ครั้งแรก สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุม หรือการแสดงออกในทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ และตลอดระยะเวลามีประชาชนนับ 1,000 คน ถูกดำเนินคดี ตั้งแต่คดีเล็กๆ น้อยๆ จนถึงข้อกล่าวหาร้ายแรง รวมถึงคดีความมั่นคง และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยุติในการดำเนินคดี 

"สถานการณ์ดังกล่าวพรรคก้าวไกลเห็นว่า ทำให้ยากที่จะนำคนไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข เกิดความสามัคคีกันในสังคม เพราะพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ที่ได้ถูกดำเนินคดีหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนต่างก็มีความเห็นว่า รัฐไม่มีความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของพลเมือง จึงเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องยุตินิติสงครามและการนิรโทษกรรมจะเป็นหนทางที่ ถอดฟืนออกจากกองไฟ เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นสร้างความยุติธรรมและความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป"

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นั้น ชัยธวัช กล่าวว่า ได้กำหนดให้การกระทำใดๆของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในช่วงเวลาที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2549 คือนับวันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรจนถึงวันที่พระราชบัญนี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าว มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิงทั้งนี้ ต้องมิให้ขัดกับพันธะกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศ 

ขณะที่การนิรโทษกรรมนี้จะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ ตลอดจนจะไม่นิรโทษกรรมการทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งหมายรวมถึงการทำรัฐประหารด้วย

ส่วนจะรวม คดีมาตรา 112 หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ต้องอยู่ในวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยกลไกในการนิรโทษกรรมจะกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ ในร่างเสนอให้มีจำนวน 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาจะเป็นผู้แต่งตั้ง โดยมีองค์ประกอบจากประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี มาจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรเลือกอีก 2 คน มาจากผู้พิพากษาอดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ตุลาการหรืออดีตศาลปกครอง 1 คน มาจาก คณะกรรมการอัยการ 1 คนและสุดท้าย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ชัยธวัช กล่าวว่า พรรคก้าวไกลย้ำว่าการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในครั้งนี้ เรามุ่งหวังให้เป็นกฎหมายสำคัญสำหรับการคืนชีวิตใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนที่โดนนิติสงคราม หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองแสดงออกทางการเมืองใดๆและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ไปชุมนุมโดยสันติ 

พร้อมเชื่อว่าการนิรโทษกรรมนี้เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ หากพรรคการเมืองร่วมกันผลักดัน ซึ่งที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างไม่ได้ปฏิเสธ จึงจะใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับพรรคการเมืองทุกฝ่าย รวมถึงพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย ทุกสี ที่มีความขัดแย้งกันในอดีตให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าแม้เรา อาจจะไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองตรงกลางทั้งหมด

ทั้งนี้ เชื่อว่า ทุกฝ่ายที่มาแสดงออกทางการเมือง ยืนอยู่บนพื้นฐานความคิดความเชื่อที่ทำให้การเมืองดีดังนั้นการยุติการต่อสู้การดำเนินคดี ไม่ว่าฝ่ายไหน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ใช้กระบวนการที่สันติแสวงหาฉันตามมาติที่เป็นที่ยอมรับ และเชื่อว่าภายหลังการพูดคุยพรรคการเมืองต่างๆอาจจะมีร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันมาประกบ

ชัยธวัช กล่าวว่าได้พูดคุยเรื่องนี้กับพรรคการเมืองต่างๆแล้วรวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะไม่เสนอร่าง แต่มีท่าทีสนับสนุน และได้ขอให้มาคุยเรื่องนี้ในชั้นกรรมาธิการ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กับ สว.ไว้บ้างแล้วตั้งแต่ปลายสมัยประชุมทที่แล้ว ซึ่งคิดว่าน่าจะสานต่อ และหวังว่า ถ้าได้คุยกับพรรคการเมืองต่างๆทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ในฝากรัฐบาล ก็ไม่ได้มีอะไรที่ติดขัด โดยต่างเห็นประโยชน์และความจำเป็น ต่อสถานการณ์ทางการเมือง 

"เพราะรัฐบาลก็ได้แถลงว่าการจัดตั้งรัฐบาลมีเป้าหมายเรื่องความปรองดอง ซึ่งตนคิดว่าความปรองดองจะสำเร็จขึ้นได้ เงื่อนไขสำคัญคือความยุติธรรม ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการนิรโทษกรรมทางการเมือง แม้หลายกรณีอาจจะมองว่าคนที่ถูกกล่าวหามีความผิดจริง แต่เราต้องยอมรับว่า เป็นการกระทำผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งคิดว่าหากเรามาเริ่มต้นกันใหม่คืนความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน ยุติคดีความที่เป็นเงื่อนไขให้คนที่เห็นต่างกัน มีพื้นที่ได้กลับมาคุยกัน โดยกระบวนการทางประชาธิปไตย แบบนี้ถือเป็นก้าวแรกที่จะสร้างความปรองดองได้"

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะกังวลว่า คดีความที่ร้ายแรงต่างๆ เหมาะที่จะนิรโทษกรรมหรือไม่ อยากจะย้ำเตือนว่าพรุ่งนี้เป็นวันที่ 6 ต.ค. 2521 ซึ่งเหตุการณ์นี้ ที่รัฐบาลได้ทำให้เป็นเงื่อนไขสำคัญ จนนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง คือการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2521 รวมถึงการออกคำสั่ง 66/23 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ล้วนแต่เป็นโทษร้ายแรงทั้งสิ้น 

โดยเฉพาะ 66/23 เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ใช้อาวุธลุกขึ้นสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตจำนวนมาก เรายังสามารถเปิดให้กับคนที่กระทำผิดร้ายแรงเข้าสู่สังคมและพูดคุย และร่วมใช้ชีวิตปกติในสังคมอีกครั้ง และวันนี้ ที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะตั้งใจเพราะพรุ่งนี้เป็นวันที่ 6 ต.ค. จึงหวังว่าพรรคการเมืองจะให้ความสนใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งถ้าเห็นพ้องก็อาจจะเสนอเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเร็วขึ้น 

เมื่อถามย้ำว่าจะนิรโทษกรรมให้กับคดี 112 ด้วยใช่หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ตอนที่นิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ต.ค. ก็เป็นเรื่องความผิดมาตรา 112 เป็นหลัก และยังมีคดีกบฏ ล้มล้างการปกครอง และเปิดให้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ เราสามารถที่จะอภัย เพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ จึงคิดว่าหากไม่มีอคติจนเกินไป ทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน

เพราะรู้สึกเสียดายที่คณะกรรมการสมานฉันท์ ตั้งโดยนายชวน หลีกภัย ทำรายงานเสร็จแล้ว แต่เสร็จในปลายสมัยจึงไม่มีโอกาสนำเสนอในสภา ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดต่างๆก็มีข้อเสนอในลักษณะนี้ ในเรื่องของนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง